“แป้งกล้วยน้ำว้าชงดื่ม” ผลิตภัณฑ์แปรรูป สร้างรายได้ ของเกษตรกรมหาสารคาม

อย่างที่ทราบกันดีว่า “กล้วย” เป็นผลไม้ที่มีสารอาหารครบถ้วน กินสุก-ดิบ ให้ประโยชน์ต่างกัน ในส่วนของการรักษาโรคนั้น กล้วยเกิดมาเพื่อดูแลท้องไส้โดยเฉพาะ ไม่ว่าท้องเสีย ท้องผูก เป็นโรคกระเพาะ นอกจากนี้ หยวกกล้วยและปลีกล้วย เป็นอาหารที่มีเส้นใย ทำหน้าที่เป็นพนักงานเก็บกวาดขยะของแข็งที่ตกค้างในลำไส้ได้เป็นอย่างดี ในวัฒนธรรมไทยจึงมีตำรับอาหารหลากหลายจากกล้วย ทั้งอาหารหวาน คาว และของว่าง

คุณเสาวภา หมื่นแก้ว หรือ พี่ซ้อ เจ้าของไร่เขยหล่าหมื่นแก้ว เลขที่ 122 หมู่ที่ 2 บ้านหนองโดน ตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม เกษตรกรสาวผู้นำหลักให้ชาวบ้านปลูกกล้วยแปลงใหญ่ และยังเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการแปรรูปผลผลิต ด้วยแนวคิดเริ่มต้นเพียงเพื่ออยากหาทางออกจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ราคาตกต่ำ ทำแล้วเป็นหนี้ จึงคิดหาวิธีทางรอด จนได้พบการปลูกและแปรรูปกล้วย ถึงปัจจุบันสามารถสร้างแบรนด์สินค้าจากกล้วยเป็นของตัวเอง สู่การกระจายรายได้แก่คนในชุมชนได้อย่างน่าทึ่ง

คุณเสาวภา หมื่นแก้ว หรือ พี่ซ้อ เจ้าของไร่เขยหล่าหมื่นแก้ว

พี่ซ้อ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการแปรรูปแป้งกล้วยน้ำว้าชงดื่มว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่บ้านเป็นเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาโดยตลอด แต่ตอนนี้ได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชผสมผสานแทน เนื่องจากพืชเชิงเดี่ยวอย่างอ้อยและมันสำปะหลัง มีรายได้ที่ไม่ชัดเจน ขาดทุนบ่อย เกิดปัญหาหนี้สินตามมา ด้วยปัญหามากมายเหล่านี้จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตนเองหันมาปลูกพืชผสมผสานแทน โดยตั้งโจทย์กับตนเองตอนแรกว่า จะปลูกทุกอย่างที่ชอบกิน และเนื่องด้วยพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ดินทราย ผ่านการใช้สารเคมีมานาน ดังนั้น การปรับปรุงบำรุงดินจึงทำได้ยาก ที่สวนจึงใช้วิธีการปลูกกล้วยเป็นพืชบำรุงดิน ปลูกในระยะห่าง 4×4 เมตร สลับกับไม้ผลยืนต้น ซึ่งผลผลิตที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก จึงเริ่มมีการขยายความรู้สู่สมาชิกกลุ่ม สอนวิธีการปลูกการดูแลจนทุกคนทำได้ ผลผลิตก็เริ่มออกมาเยอะ เริ่มเกิดปัญหาไม่มีที่จำหน่าย ตนเองจึงต้องมาลองคิดหาทางออกด้วยวิธีการแปรรูป ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากมากเพราะหากจะทำกล้วยตาก กล้วยฉาบ หรือกล้วยอบน้ำผึ้ง ในตลาดก็มีมากมาย ถ้าที่นี่ทำอีกก็คงต้องไปสู้กับตลาดที่มากพอสมควร จึงคิดว่าไม่น่าสนใจ

จนกระทั่งเกิดความบังเอิญที่คุณแม่มักมีอาการของโรคกรดไหลย้อน และได้สังเกตว่าเวลาที่คุณแม่มีอาการท่านทำยังไง ก็ได้คำตอบว่าคุณแม่ไม่ได้กินยา แต่จะกินกล้วยดิบเผื่อรักษาอาการกรดไหลย้อนแล้วได้ผล แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะสามารถกินกล้วยดิบได้ทุกคน นี่จึงเป็นจุดประกายไอเดียของการนำกล้วยมาแปรรูปเป็นแป้งกล้วยน้ำว้าชงดื่ม

ผลิตภัณฑ์ “แป้งกล้วยน้ำว้าชงดื่ม”
สินค้าแปรรูป สร้างมูลค่าไม่เบา

ผลิตภัณฑ์ เกิดจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มตักศิลา 101 สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันอาหาร และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เข้ามาส่งเสริมและช่วยคิดค้นสูตร เพื่อที่จะนำสินค้าออกสู่ตลาดในประเทศและขยายฐานลูกค้าที่ประเทศจีน

พี่ซ้อบอกว่า ก่อนอื่นจะขอเล่าถึงที่มาของกล้วยที่นำมาแปรรูปว่า ผลผลิตกล้วยน้ำว้าที่ตนเองนำมาแปรรูปทั้งหมดคือผลผลิตที่นำมาจากกลุ่มสมาชิกวิสาหกิจชุมชนทั้งหมดกว่า 30 คน รวมพื้นที่การปลูกกล้วยของสมาชิกทั้งหมดประมาณ 98 ไร่ ซึ่งเป็นแปลงกล้วยที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP ทั้งหมด รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 10 บาท เนื่องจากตนเองมีแปลงปลูกกล้วยไว้บนพื้นที่ไม่มาก มีทั้งกิจกรรมแปรรูปและขายต้นพันธุ์ รวมถึงการปลูกรวบรวมกล้วยสายพันธุ์แปลกไว้มากกว่า 60 สายพันธุ์ ในพื้นที่ 2 ไร่ โดยสายพันธุ์กล้วยที่นำมาแปรรูปจะเป็นกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องและกล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 เนื่องจากกล้วยน้ำว้ามีสรรพคุณช่วยในส่วนของการรักษาโรค เกิดมาเพื่อดูแลท้องไส้โดยเฉพาะ ไม่ว่าท้องเสีย ท้องผูก เป็นโรคกระเพาะ

ผลิตภัณฑ์ “แป้งกล้วยน้ำว้าชงดื่ม” บรรจุใส่ถุงซิปล็อก

ขั้นตอนการแปรรูป

ผลิตภัณฑ์แป้งกล้วยน้ำว้าชงดื่ม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำง่ายไม่กี่ขั้นตอน เพื่อให้คงคุณค่าทางอาหารไว้ให้ได้มากที่สุด ดังนี้

  1. กล้วยที่เหมาะสำหรับการแปรรูปคือต้องเป็นกล้วยน้ำว้าที่สุกประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อได้กล้วยลักษณะตามต้องการให้นำมาปอกเปลือก
  2. จากนั้นนำกล้วยที่ปอกเปลือกแล้วมาสไลซ์เป็นแผ่นบางๆ ในแนวขวาง
  3. นำกล้วยที่สไลซ์เสร็จแล้วไปตากไว้ในโรงเรือนตากกล้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้ระยะเวลาการตากประมาณ 2 วัน (อัตรากล้วย 6 กิโลกรัมรวมหวี เมื่อนำมาแปรรูปเป็นผงได้ในอัตราประมาณ 8 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม
  4. นำมาบดด้วยเครื่องบดผงละเอียดที่มีตะแกรงถี่
  5. เสร็จแล้วนำไปบรรจุใส่แพ็กเกจจิ้งที่เตรียมไว้เตรียมจำหน่าย

วิธีกิน…ชงในน้ำอุณหภูมิห้องหรือชงในน้ำอุ่น ในอัตราผงกล้วย 2 ช้อนต่อน้ำ 10 ออนซ์ ชงดื่มแล้วนอนพักประมาณ 5-10 นาที แล้วอาการโรคกระเพาะ กรดไหลย้อนจะบรรเทาลง หรือหากท่านใดที่มักมีอาการท้องผูกก็สามารถชงดื่มแก้ท้องผูกได้เช่นกัน เพราะในแป้งกล้วยจะมีไฟเบอร์สูง ช่วยระบบขับถ่ายได้ดี

การสร้างมูลค่าเพิ่ม…เป็นไปแนวทางที่ดีมากๆ เพราะเมื่อหากเทียบกับการขายกล้วยสุกหวีละ 10-15 บาท ขาย 6 หวี จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 60-90 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูป กล้วย 6 หวี จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาเป็นเงินกว่า 400 บาท โดยรูปแบบของการสร้างรายได้จะมีแบ่งขายเป็นกระปุกและแบบถุงซิปล็อก ราคาขายกระปุกละ 150 บาท บรรจุปริมาณ 250 กรัม ส่วนถ้าเป็นถุงซิปล็อกแบ่งขายเป็น 2 ขนาด คือขนาดบรรจุ 500 กรัม ราคา 200 บาท และขนาดบรรจุ 1,000 กรัม ราคา 400 บาท โดยความต้องการของลูกค้าเป็นไปได้ดีอย่างต่อเนื่อง สวนกระแสโควิด-19 ขายดีในขณะที่สินค้าทุกอย่างยอดขายลดลงมา ทำให้สามารถสร้างรายได้ประมาณ 50,000-60,000 บาทต่อเดือน

แปลงกล้วยน้ำว้า GAP

การตลาดขยับขยายดีขึ้นเรื่อยๆ…โดยอ้างอิงข้อมูลตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2564 ใน 1 เดือน จะทำการผลิตสินค้าเดือนละ 4 ครั้ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการตลาดดีมาตลอด มียอดขายขยับขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ลูกค้าสั่งซื้อซ้ำ และจากการที่ปากต่อปาก ใช้ดีแล้วบอกต่อ ซึ่งนอกเหนือจากการชงดื่มเพื่อรักษาอาการกรดไหลย้อนแล้ว แป้งกล้วยตัวนี้ยังมีสรรพคุณชงแทนครีมเทียมได้อีกด้วย และในตอนนี้มีแผนกำลังพัฒนาสูตรขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มเด็กที่ไม่ชอบกินกล้วย ก็มีการพัฒนาทำขึ้นมาให้เป็นหลากหลายรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นรสช็อกโกแลต ชาเขียว และวานิลลา

 

ฝากแง่คิด-ข้อดี
การแปรรูปสินค้า

พี่ซ้อบอกว่า การแปรรรูปสินค้าถึงแม้จะเป็นการเพิ่มขั้นตอน แต่หากตั้งใจทำแล้วผลดีได้ออกมาคุ้มแน่นอน และข้อดีของการแปรรูปแต่ละคนที่ได้ก็จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งส่วนของตนเองได้ค้นพบข้อดีของการแปรรูปอยู่ 4 ข้อหลักๆ ด้วยกันคือ 1. สามารถยืดอายุผลผลิตไว้ได้นานขึ้น เนื่องจากกล้วยเป็นผลไม้เมื่อเก็บไว้นานจะสุกจนเละเน่าในที่สุด ซึ่งในกลุ่มมีผลผลิตไม่มากพอที่จะส่งกล้วยสุกเป็นหวีให้ได้เท่ากับความต้องการของตลาด จึงต้องหาทางออกด้วยวิธีการแปรรูปยืดอายุสินค้าให้อยู่ได้นานขึ้น 2. ช่วยสร้างเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า จากรายได้หลักสิบ สู่รายได้หลักร้อย 3. ช่วยลดปัญหาพื้นที่แล้งน้ำ เนื่องจากแปลงปลูกของสมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องของระบบน้ำ คือมีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ดังนั้น ผลผลิตที่ออกมาจะได้ลูกที่มีขนาดเล็ก แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับการนำมาแปรรูป สามารถใช้กล้วยได้ทุกเกรด ถือเป็นการแก้ปัญหาเรื่องของลูกตกไซซ์ได้ด้วย และ 4. สำคัญที่สุดคือการสร้างรายได้ในชุมชน การแปรรูปสามารถช่วยคนในชุมชนได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คือ 1. การพัฒนาต้นน้ำ ส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องที่กักเก็บน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ 2. กลางน้ำ เรื่องของการแปรรูป ตอนนี้กล้วยที่เราผลิตแปรรูปเป็นกล้วยอินทรีย์ และ GAP ที่มีมาตรฐานรับรองจากกรมวิชาการเกษตร โดยในอนาคตจะทำเป็นจุดรับซื้อให้ได้มาตรฐานให้เหมือนกับจุดรับซื้ออ้อยและมันสำปะหลัง เพื่อให้เกษตรกรพี่น้องในชุมชนเกิดความมั่นใจว่า ปลูกแล้วมีที่รับซื้อแน่นอน 3. ปลายน้ำ คือเรื่องของการพัฒนาส่งเสริมการตลาด โดยมีแนวคิดว่าจะสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นขึ้นมา เพื่อนำสินค้าทางการเกษตรทุกชนิดของคนในกลุ่มมาวางขาย เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

แนะทางออกสินค้าล้นตลาด

“ถ้าอยากจะเริ่มต้นแปรรูปเราก็ต้องมองว่าสินค้าที่เราแปรรูปมันสามารถหาได้ในชุมชนไหม เพราะว่ามันจะลดต้นทุนในเรื่องของการขนส่ง และแนวทางการแปรรูป อันดับแรกต้องสร้างสตอรี่ สร้างจุดเด่น ให้กับตัวสินค้าก่อน เช่น หากเป็นผลิตภัณฑ์แป้งกล้วยเหมือนกัน เราก็ต้องบอกให้ได้ว่าแป้งกล้วยของเราแตกต่างจากแป้งกล้วยที่อื่นอย่างไร อันนี้คือจุดขาย แล้วค่อยเข้ามาสู่กระบวนการแปรรูป เราต้องควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานตั้งแต่ตัวเราเอง แล้วค่อยขยับไปสู่มาตรฐานการรับรองจากกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญต้องซื่อสัตย์กับลูกค้าทุกคน นี่คือหัวใจสำคัญ” พี่ซ้อกล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (085) 460-2660

เตรียมนำไปแปรรูป