เกษตรกรหนองคาย ปลูก-แปรรูปสับปะรด สร้างรายได้เสริม ยุคโควิด-19

คุณภานุวัฒน์ แสงรัตน์ หรือ พี่โหน่ง เจ้าของสวนวรัญญา ที่อยู่ 218 บ้านหม้อ หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เกษตรกรผู้ปลูกและแปรรูปสับปะรดปัตตาเวียออกมาหลากหลายผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ ลดปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ และเพื่อแก้ปัญหาสินค้าตกไซซ์ขายไม่ได้ราคานำมาแปรรูปสร้างมูลค่า

พี่โหน่งเล่าถึงความเป็นมาของการปลูกและแปรรูปสับปะรดว่า ก่อนที่จะมาเป็นเกษตรกร ตนเองทำงานเป็นพนักงานประจำมาก่อน แล้วได้ลาออกจากงานหันมาเริ่มต้นเป็นเกษตรกรปลูกสับปะรดในปี 58 เนื่องจากในขณะนั้นผู้คนส่วนใหญ่หันไปให้ความสนใจกับการปลูกพืชกระแสมาแรงอย่างยางพารากันเป็นจำนวนมาก ทำให้พื้นที่ปลูกสับปะรดในอำเภอลดน้อยลง จึงคิดว่าสับปะรดน่าจะเป็นพืชทางเลือกที่ดีให้ตนเองในขณะนั้น ด้วยความโดดเด่นของสับปะรดบ้านหม้อ จะมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวหาที่อื่นเทียบได้ยาก เนื่องจากมีความหวานฉ่ำพิเศษ เปลือกบาง ตาตื้น หวาน หอม ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษของสับปะรดปัตตาเวีย ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดหนองคาย จึงอยากคงคุณภาพตรงนี้ไว้ รวมไปถึงการมองอนาคตการตลาดข้างหน้าว่าอาจจะหยิบยกนำเอาจุดเด่นตรงนี้มาต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แปรรูปได้หลากหลายอีกด้วย

คุณภานุวัฒน์ แสงรัตน์ หรือ พี่โหน่ง เจ้าของสวนวรัญญา

“ปลูกสับปะรด 6 ไร่” ขายผลสด-แปรรูป
อยู่รอดได้ในสถานการณ์วิกฤตรอบด้าน

เจ้าของบอกว่า ณ ตอนนี้ที่สวนวรัญญามีพื้นที่การปลูกสับปะรดทั้งหมด 6 ไร่ แบ่งปลูกเป็นสับปะรดปัตตาเวียเป็นหลัก 5 ไร่ และพื้นที่เหลืออีก 1 ไร่ แบ่งปลูกเป็นสับปะรดภูแล ซึ่งในส่วนของสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียที่ปลูกอยู่ในจังหวัดหนองคายก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในชื่อพันธุ์สับปะรดศรีเชียงใหม่ เพื่อเป็นสิ่งบ่งชี้เอกลักษณ์ของท้องถิ่น และบ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า จากจุดเด่นในเรื่องของรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และกระบวนการผลิตที่แตกต่างไปจากที่อื่น ทั้งในเรื่องของการจัดการน้ำ ดิน ปุ๋ย จึงส่งผลให้สับปะรดบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ มีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้

รอเก็บเกี่ยวผลผลิต

กระบวนการผลิตและดูแลสับปะรด มาตรฐาน GAP

  1. การเตรียมหน่อพันธุ์ คัดเลือกหน่อพันธุ์ปัตตาเวียโดยหน่อพันธุ์จะต้องมีความสูง ประมาณ 50-70 เซนติเมตร
  2. การเตรียมดิน ไถดะตากดิน และจะไถพรวน จำนวน 2-3 รอบ โดยในแต่ละรอบใช้ระยะเวลาห่างกันประมาณ 7-15 วัน
  3. การปลูก นำหน่อพันธุ์สับปะรดที่เตรียมไว้ มาปลูกในแนวดินปลูกที่เตรียมไว้ แต่ละแถวให้เว้นระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 40-50 เซนติเมตร ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร 1 ไร่ ใช้หน่อพันธุ์จำนวน 6,000-7,000 หน่อต่อไร่
  4. การกำจัดวัชพืช หลังจากปลูกหน่อพันธุ์สับปะรดได้ 3 เดือน ให้กำจัดวัชพืชโดยใช้สารกำจัดวัชพืช ไดยูรอน ปุ๋ยสูตร 21-0-0 และน้ำผสมกันในอัตราไดยูรอน 2 กิโลกรัม ปุ๋ย 10 กิโลกรัม และน้ำ 1,000 ลิตรต่อ 2-3 ไร่ ซึ้งขึ้นอยู่กับสภาพความหนาแน่นของวัชพืช
  5. การใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยจะทำอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่ปุ๋ยหลังจากปลูกสับปะรดได้ 3 เดือน โดยใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 และสูตร 15-15-15 ในอัตรา 200 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งวิธีการใส่ปุ๋ยจะทำโดยใส่ที่โคนต้นสับปะรด และการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ให้ทำเช่นเดียวกันกับครั้งแรก แต่ให้เว้นระยะเวลาห่างกันประมาณ 2 เดือน
  6. การให้น้ำ ผ่านระบบสปริงเกลอร์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การเติบโตเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลไปถึงการให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้น้ำหนักดีกว่าพื้นที่อาศัยน้ำฝนในการให้น้ำเพียงอย่างเดียว

    ระบบน้ำพร้อม
  7. การพรางแสง ที่สวนจะมีวิธีการพรางแสงที่แตกต่างไปจากที่อื่นตรงที่การนำเอาหญ้าแห้งหรือฟางแห้ง มาคลุมต้นสับปะรดไว้เพื่อพรางแสงป้องกันไม่ให้เกิดผลไหม้ ใบไหม้ โดยจะเน้นคลุมหนาเป็นพิเศษในสับปะรดที่กำลังออกผล เนื่องจากมีคุณสมบัติกันแสงแดดได้ดี น้ำสามารถไหลผ่านได้สะดวก
ใช้หญ้าแห้ง หรือฟางแห้ง คลุมพรางแสง

 

ขั้นตอนการแปรรูป “น้ำสับปะรด” สินค้าขายดี
หากใครได้ลิ้มลอง เป็นอันต้องกลับมาซื้อซ้ำ

เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์ของสับปะรดค่อนข้างที่จะมีความผันผวนทางด้านราคาสูง พี่โหน่งบอกว่าตนเองจึงต้องหาวิธีแก้ไขกับทั้งวิกฤตด้านราคาในบางฤดูกาล หรือเจอพ่อค้าแม่ค้าเลือกซื้อแบบคัดผล ลูกเหลืองไม่เอา เอาแต่เฉพาะแบบสุกเขียว เหลืองครึ่งลูก รวมถึงการแก้ปัญหาผลผลิตตกไซซ์เพราะสับปะรดขายไม่ได้ราคาเดียวกันทั้งหมด หากถ้าเป็นลูกเล็กไม่ได้ไซซ์ที่ตลาดต้องการ ราคาจะต่ำลงมาอีกจนไม่เห็นกำไร แทนที่จะนำไปทิ้งหรือให้สัตว์ ก็นำผลผลิตในส่วนตรงนี้มาแปรรูปสร้างมูลค่า ซึ่งในจำนวนผลผลิตต่อ 1 ไร่ จะมีผลผลิตที่ตกไซซ์ประมาณ 50-100 กิโลกรัม โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปตัวแรกที่ทำคือ สับปะรดกวน เนื่องจากเป็นการแปรรูปเบื้องต้นแบบง่ายๆ แต่ได้ผลตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจึงค่อยๆ ขยับขยายแตกไลน์สินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น จนถึงปัจจุบันที่สวนวรัญญามีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรดออกมาหลากหลายรูปแบบ เช่น สับปะรดอบแห้ง สับปะรดหยี แยมสับปะรด และน้ำสับปะรด 100 เปอร์เซ็นต์ ที่นับว่าเป็นสินค้าที่ง่ายและขายดีที่สุดในขณะนี้

       

วิธีการแปรรูปน้ำสับปะรด

  1. คัดสรรสับปะรดแบบสุกปานกลางเพื่อให้มีรสเปรี้ยวมาผสมกับสับปะรดสุกเพื่อให้ได้ความหวาน และช่วยทำให้สีสันของน้ำสับปะรดออกมาน่ารับประทาน ดึงดูดลูกค้า เนื่องจากกระบวนการผลิตของที่นี่จะไม่มีการใส่สารปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น จึงต้องใช้สับปะรดทั้ง 2 แบบในการทำ
  2. เมื่อคัดเลือกสับปะรดได้ตามความต้องการแล้ว ให้นำมาล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วทำการปอกเปลือก ปาดเอาตาสับปะรดออกแล้วนำมาล้างทำน้ำสะอาดอีกครั้ง แล้วหั่นเป็นชิ้นๆ
  3. นำสับปะรดที่หั่นเสร็จแล้ว ใส่เครื่องคั้นน้ำแยกกากสับปะรด
  4. นำน้ำที่คั้นออกมาได้ไปต้ม จากนั้นทิ้งไว้ให้อุ่นแล้วนำมาบรรจุใส่ขวดภาชนะที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว
  5. นำมาผ่านกระบวนการสเตอริไลซ์ คือการใช้ความร้อนฆ่าเชื้อในอาหาร เป็นการใช้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 100 องศาเซลเซียส ประมาณ 5-10 นาที ต่อการผลิตในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตว่ามากหรือน้อยด้วย หากผลิตในปริมาณที่มากก็ต้องใช้เวลาในการฆ่าเชื้อที่นานขึ้นกว่าเดิม โดยทุกครั้งของการผลิตจะมีการใช้อุปกรณ์วัดค่าความหวานของน้ำสับปะรดทุกครั้ง เพื่อให้ได้มาตรฐานเหมือนกันทุกขวดและทุกรอบการผลิต
น้ำสับปะรด 100 เปอร์เซ็นต์ สินค้าขายดีของสวน

การสร้างมูลค่าเพิ่ม หากสับปะรดผลสดขนาดตกไซซ์จะขายได้ราคาไม่มาก อาจจะเหลือที่กิโลกรัมละ 4-5 บาท จำนวนสับปะรด 50 กิโลกรัม จะขายได้เงิน 200-250 บาท แต่เมื่อนำมาแปรรูปสับปะรดในจำนวน 50 กิโลกรัม สามารถทำน้ำสับปะรดได้ 4 โหล ขายในราคาขวดละ 45 บาท ถือเป็นการสร้างรายได้ และเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดีมากๆ

การตลาด สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียที่ปลูกในพื้นที่อำเภอบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ ค่อนข้างจะได้เปรียบกว่าสับปะรดที่ปลูกในพื้นที่อื่นๆ เพราะเป็นที่ทราบกันดีในหมู่พ่อค้าแม่ค้าว่าหากเป็นสับปะรดที่มาจากบ้านหม้อ จะมีรสชาติที่อร่อย หวาน หอม แม้ไม่ใช่ฤดูกาล รสชาติก็ยังคงหวานอร่อยกว่าที่อื่น ส่วนในด้านของตลาดสินค้าแปรรูป ตลาดไปได้เรื่อยๆ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา เก็บไว้ได้นาน ผลผลิตไม่เสียหาย ขายผ่านออนไลน์ได้เป็นอย่างดี

       

ฝากถึงเกษตรกรรวมกลุ่ม
“จับมือสู้วิกฤตไปด้วยกัน”

“ในมุมมองของผมวิธีการเอาตัวรอดในช่วงที่ผลผลิตราคาตกต่ำ นอกจากการแปรรูปแล้ว คือการมีความสามัคคีจับมือไปด้วยกัน มีการรวมกลุ่มทำเป็นแปลงใหญ่ และมีการวางแผนการผลิตที่ชัดเจนว่าจะสามารถผลิตได้จำนวนกี่ตัน เพื่อที่จะได้มีอำนาจการต่อรองกับโรงงานรับซื้อ สร้างช่องทางในการกระจายสินค้านอกจากการส่งพ่อค้าแม่ค้าคนกลางเพียงอย่างเดียว หรืออีกทางเลือกหนึ่ง ถ้าเรารู้ว่าผลผลิตเราชัดเจนแน่นอนเท่าไร ก็สามารถวางแผนการตลาดล่วงหน้าได้ง่ายขึ้น” คุณภานุวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อที่เบอร์โทร. 092-965-9541 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : สวนวรัญญา