พริกสด-กระเทียมปอกเปลือก ของง่ายๆ ที่คนมองข้าม สู่ธุรกิจระดับประเทศ ส่งร้านดังเอ็มเค

“อย่าได้หาสูตรสำเร็จจากชีวิตคน”  นั่นเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงเลย

ใครจะไปรู้ว่า หนุ่มวัยรุ่นคนหนึ่ง ต้องยอมลาออกจากมหาวิทยาลัย หลังจากคุณพ่อเสียชีวิต เพื่อให้พี่ๆ น้องๆ ได้เรียนต่อ ตัวเองออกมาช่วยงานคุณแม่ หากแต่ผ่านไปเกือบ 30 ปี ชายหนุ่มผู้นี้กลับเป็นกำลังหลักของธุรกิจครอบครัว นำพาธุรกิจเติบโต ไปขนาดที่ว่า สามารถเรียกน้องๆ อีก 3 คนที่เรียนจบปริญญา กลับมาช่วยงานที่บ้าน

ธุรกิจที่กำลังพูดถึงในที่นี้คือ การส่งกระเทียมแกะเปลือก พริกสดพร้อมใช้งาน กระเทียมเจียว เข้าสู่ร้านอาหารยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารระดับประเทศ ทั้งสุกี้เจ้าดังเอ็มเค ธุรกิจอาหารขนาดใหญ่  ร้านราเมนหลายสาขา และร้านปิ้งย่าง ด้วยการเริ่มต้น จากห้องแถวเล็กๆ ที่ปากคลองตลาด จนกลายเป็นโรงงานขนาดใหญ่ พนักงานประจำ และไม่ประจำ เกือบ 200 คน ใช้ ขายกระเทียมสดต่อวันได้ราว 5,000 กิโลกรัม หรือ 150 ตัน ต่อเดือน!!

คุณฉัตรชัย วชิระเธียรชัย วัย 45 ปี เล่าให้ฟังว่า เดิมกิจการค้าของครอบครัวคือ ขายพริกคั่ว พริกป่น พริกดอง เป็นกิจการเล็กๆ และเมื่อตอนที่ตนเองอายุ 18 ปี กำลังเรียนระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 1 คุณพ่อเสียชีวิต ในขณะที่พี่ชายคนโตกำลังจะจบปริญญาตรี น้องคนสุดท้อง 7 ขวบ รวมพี่น้อง 6 คน ตนเองจึงตัดสินใจหยุดการเรียนไว้แค่นั้น ออกมาช่วยคุณแม่ค้าขาย

จากพริก ก็ขยายต่อไปที่กระเทียม ซึ่งสินค้าเหล่านี้ นับเป็นสินค้าข้างเคียงในบรรดาร้านอาหาร และอุตสาหกรรมอาหาร เหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย หากแต่ก็จุกจิก ดังนั้น การรับซื้อกระเทียมสดแกะเปลือกแล้ว ก็จะสะดวกมากกว่า

เริ่มต้น หาตลาด – ขยายกิจการ

คุณฉัตรชัย เล่าว่า เริ่มต้นหาตลาดแบบง่ายๆ เลย คือดูว่าใครจะเป็นลูกค้าของเรา เป็นต้นว่า ไปหยิบข้างขวดซอสมาอ่านฉลากมีส่วนประกอบอะไรบ้าง มีกระเทียมมั้ย ถ้ามีก็ติดต่อไปยังโรงงานแห่งนั้น เลยว่า ต้องการรับซื้อกะเทียมแกะเปลือกหรือไม่ ค่อยๆ เริ่มทีละเล็กละน้อย สั่งสมประสบการณ์และลูกค้า จนได้ลูกค้าวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

“เริ่มต้น ผมหยิบขวดซอส พันท้ายนรสิงห์มาดูเลยว่าเขาใช้กระเทียมมั้ย แล้วเอาเบอร์โทรศัพท์จากข้างขวดโทรไปหาเลย จากนั้นก็เริ่มพัฒนากระเทียม เอามาปอก แกะกลีบออก อย่างจริงจัง จากเริ่มต้น วันหนึ่งได้ 50  กก. จนถึงวันนี้ ได้วันละ 5 ตัน เราก็พัฒนาระบบคุณภาพ ลูกค้าเจ้าใหญ่ๆ ระดับโรงงานอุตสาหกรรม ก็มาตรวจโรงงาน เราทำระบบ จีเอ็มพี จากนั้นผมก็ไปเสนอขายธุรกิจอาหารพร้อมรับประทานขนาดใหญ่”

 

สำหรับกระเทียมที่นำมาใช้ นำเข้าจากจีน 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ ใช้สินค้าภายในประเทศ คุณฉัตรชัย บอกว่า เหตุที่ใช้ของจีนเยอะ เพราะว่าการใช้สินค้าปริมาณมากๆ ทางจีนจะมีปริมาณสินค้าที่สม่ำเสมอกว่าและฟาร์มที่คัดสรรมานั้นได้รับมาตรฐานสูง จึงไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพของกระเทียม

“พอมาถึงวันหนึ่ง เราต้องทำคุณภาพให้ได้ ถึงระบบย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิต ผมต้องพาลูกค้าไปดูฟาร์มถึงประเทศจีน โดยเลือกใช้กระเทียมฟาร์มที่ได้การรับรองมาตรฐาน Global GAP เท่านั้น จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน เราได้พัฒนาตัวเองและระบบการทำงานจนสามารถทำได้สำเร็จ เราสามารถบอกลูกค้าได้ว่า กระเทียมที่นำมาผลิตสินค้าให้ลูกค้า  มีต้นกำเนิดมาจากฟาร์มไหน ในเมืองไหน เป็นต้น”

มาถึง พริกสด พริกดอง พริกคั่ว พริกป่น

ปริมาณ พริกสดที่โรงงานแห่งนี้ใช้อยู่นับแสนกิโลกรัม ต่อปี คุณฉัตรชัย ว่า ส่วนหนึ่งที่ขายคือพริกดองที่จะส่งต่อไปยังโรงงานทำน้ำพริกต่างๆ การใช้พริกดอง ไม่ต้องมาเสี่ยงกับความผันผวนราคาในแต่ละช่วงเดือน

“กลุ่มลูกค้าจะแยก ร้านอาหาร เช่นร้านไหนใช้พริกขี้หนู  ร้านไหนใช้พริกป่นละเอียด ส่วนแหล่งที่มาของพริก ก็มาจากทางภาคอีสาน อุบล ชัยภูมิ ช่วงมกราคม ถึงมีนาคม ส่วนทางภาคเหนือ ก็เป็นช่วงฝน พค.-สค. เนื่องจากทางภาคเหนือปลูกเป็นพืชหมุนเวียน

เปลี่ยนแพ็กเกจ เพิ่มยอดขาย

ที่ผ่านมา คุณฉัตรชัย ว่า ทำธุรกิจลักษณะป้อนเป็นหนึ่งในวัตถุดิบ แต่ยังไม่ได้ลุยตลาดจริงจัง แบบพริกป่นซอง น้ำส้มพริกดองซอง แพ็กเกจสวยงาม เนื่องจากสมัยก่อน เวลาจะขายพริกป่น บรรดาแม่ค้าชอบให้ใส่ถุงพลาสติก มัดด้วยหนังยาง พอไปถึงร้านก๋วยเตี๋ยว ก็บอกลูกค้าว่าเป็นพริกคั่วเอง แต่ก็คั่วเองจริงๆ จากที่บ้านคุณฉัตรชัย

ต่อมา แนวโน้มการบริโภคเปลี่ยนไป การใส่บรรจุแบบซองเล็ก ดูจะได้รับความนิยม ทั้งเรื่องความสะดวก และถูกสุขลักษณะ คุณฉัตรชัยก็พร้อมลุยตลาดส่วนนี้ โดยใช้ชื่อคุณแม่อารี เป็นชื่อแบรนด์ โดยเริ่มไปออกอีเว้นต์ ตามงานมหกรรมอาหารต่างๆ บ้างแล้ว

นอกจากนี้ คุณฉัตรชัยยังได้แชร์ประสบการณ์ การหาตลาด การสร้างฐานลูกค้า ให้ฟังอีกว่า บางครั้งการทำธุรกิจก็เริ่มมาจากการซื้อใจ

อย่างครั้งหนึ่ง คุณฉัตรชัย ต้องการนำสินค้าเข้าไปสู่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปไส้กรอก หมูยอ ก็เอากระเทียมสดไปเสนอ

“ทางบริษัทลูกค้าบอกว่า สินค้าจากซัพพลายเออร์เดิม ที่ส่งกันอยู่เต็มแล้ว แต่คุณจะลองก็ได้นะ ตอนนั้นผมอยู่ปากคลองตลาด เขารับกระเทียมผมวันละ 30 กก.ให้ไปส่งที่บางพลี สมุทรปราการ ถามว่าคุ้มมั้ย ก็ไม่คุ้มหรอกนะ จนกระทั่งปีหนึ่งผ่านไป มันมีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยน ตอนนั้นช่วงสงกรานต์ ลูกค้าโทร.มา อยากได้สินค้า ซึ่งสงกรานต์นี่ โรงงานผมหยุด 3 วัน ถ้าผมจะปฏิเสธ เขาก็จะไม่เอาสินค้าเรา อีกทั้งที่ผมบอกเขาไปว่าโรงงานผมหยุด เขาก็บอกมาว่า นั่นเป็นปัญหาของคุณ ก็จริงของเขานะครับ ตอนนั้นผมเดินห้างอยู่ ผมกลับโรงงานเลย เอาของออกมา มีลูกน้องอยู่ 3-4 คนก็ช่วยกัน แล้วตลอด 3 วันนั้น ผมก็ต้องไปส่งของตลอด… หลังจากสงกรานต์ ยอดออร์เดอร์มาที่ผมถล่มทลายเลย มันเหมือนการได้ใจกัน รวมทั้งพิสูจน์ว่าเราคือ มืออาชีพ”

คุณฉัตรชัย บอกว่า สงกรานต์ปีนั้น สอนอะไรเขาค่อนข้างมาก คือต้องมีการวางแผนในช่วงหยุดยาว เพราะโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ เขาไม่หยุดกัน และในช่วงเทศกาลอาจจะต้องเตรียมจ่ายค่าแรงให้พนักงาน 3 เท่า ก็ต้องจ่าย เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไป ไม่สะดุด

ทั้งนี้ คุณฉัตรชัย บอกว่า สินค้าของเขาเป็นสินค้าที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคน แม้จะดูเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่ขาดไม่ได้ และการเตรียมค่อนข้างจุกจิก เขาจึงวางแผนพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับสไตล์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ให้มากขึ้น เป็นต้นว่า การเตรียมออกสินค้า พริกไทย กระเทียมเจียวสำเร็จรูป แม่บ้านแค่ฉีกซอง ใส่ในน้ำมันเดือด หลังจากทอดปลา ทอดหมูแล้ว พอให้สะดุ้งน้ำมัน แล้วราดบนหมู บนตัวปลาได้เลย ซึ่งส่วนนี้ เป็นสิ่งที่จะทำต่อจากนี้ไป

ก่อนที่จะบอกว่าทำได้หรือไม่ ต้องลองทำก่อน

และนี่เป็นเรื่องราวของนักธุรกิจ ที่สามารถต่อยอดธุรกิจครอบครัวให้เติบโตขึ้นอย่างสง่างาม จากความเป็นนักสู้ และไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง อีกทั้งพิสูจน์ได้ในข้อหนึ่งที่ว่าชีวิตมนุษย์ไม่มีสูตรสำเร็จ คนเรียนจบสูง ไม่ได้หมายความจะประสบความสำเร็จ คนเรียนไม่จบ ร่ำรวยมีให้เห็นก็มาก แต่ที่มีมากกว่ามาก และเป็นส่วนใหญ่เสมอ คือ คนไม่เรียน ไม่ตั้งใจทำงาน ไม่เอาไหน ถ่านก็ไม่เอา นั่นล่ะ ไม่เข้าใกล้ความสำเร็จเลย แค่ลำพังจะพาตัวเองให้รอดไปวันๆ ก็ยากแล้ว

ย้อนกลับ ถามความรู้สึก คุณฉัตรชัยเมื่ออายุ 18 ปี ที่ต้องเลิกเรียนกลางคัน ออกมาช่วยงานที่บ้าน ไปเข็นของ เปิดแผงเล็กๆ ที่ปากคลองตลาด

คุณฉัตรชัย ตอบว่า “ผมรู้สึกว่า คนเราต้องดิ้นรนนะ ตอนนั้นคือผมคิดว่ายังไงผมก็ต้องออก เพราะน้องยังเล็ก ส่วนพี่ชายก็จะเรียนจบ ผมเพิ่งปี 1 ดังนั้น ผมตัดสินใจได้ง่ายสุด และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องทำอะไรใหม่ๆ มีอะไรที่ทำได้ ผมไม่ปฏิเสธ คือผมต้องลองทำก่อน ก่อนที่จะบอกว่า ทำได้หรือไม่ได้ มาถึงวันนี้ ผมก็คิดว่า มันมาไกลกว่าที่ผมคิดไว้เยอะ ตอนขี่รถเวสป้า ส่งของ แค่คิดเล่นๆ ว่าถ้าส่งกระเทียมให้เอ็มเคได้ วันละแค่ 500 กก. ขอส่งแค่ 3 วันต่อสัปดาห์ (1.5 ตัน ต่อสัปดาห์) หรือ 6 ตัน ต่อเดือน ได้กำไรกิโลกรัมละ 5 บาท นี่ก็อยู่ได้แล้ว แต่พอมาถึงวันนี้ เราส่งกระเทียมให้เอ็มเค 12 ตัน ต่อเดือน”

จากพี่ชายคนรอง ที่ต้องเลิกเรียน ออกมาทำงานตั้งแต่อายุ 18 ปี มาจนปัจจุบัน เขาสามารถพาธุรกิจ ขยายออกไปได้ใหญ่โต พร้อมกับดึงน้องๆที่เรียนแล้ว อีก 3 คน เข้ามาช่วยธุรกิจที่บ้านด้วย

เหมือนกับว่า แม้จะเรียนสำเร็จระดับชั้นปริญญาตรี แต่ก็กลับมาทำงานที่บ้าน ซึ่งปัจจุบัน ไลฟ์โคชชิ่ง หลายคนพูดถึงประเด็นนี้ ทว่า คุณฉัตรชัยเองกลับให้ความเห็นมาดังนี้ “การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผม ยังต้องให้ลูกเรียนหนังสือ อย่างน้อยก็ต้องปริญญาตรี อย่างกรณีที่พูดกันในโซเชียล หรือบรรดาไลฟ์โคชชิ่งทั้งหลาย ผมว่า ถ้าเขามีลูก เขาก็คงให้ลูกเรียนหนังสือครับ”

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ เลขที่ 10 ถนนราชพฤกษ์ แขวงบางจาก  เขตภาษีเจริญ กรุงเทพ 10160 โทร.02-8684994  และ 02-8686736-7

 

ที่มา : เส้นทางเศรษฐีออนไลน์