พ่อค้าขนมไทยหัวใส ปลูกวัตถุดิบเอง จับพืชราคาถูก มาเพิ่มมูลค่า เด่นที่ “ลอดช่องใบเตย” สูตรลับเฉพาะ

ในสถานการณ์ที่พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคาพืชไร่เหลือราคาตันละไม่กี่บาท หากเทียบกับการลงทุนแล้วเรียกได้ว่ามองหากำไรได้ยาก แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสให้กับคนที่ไม่ยอมแพ้เสมอ โดยจะเห็นได้จากการที่มีเกษตรกรหลายรายพยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอด พลิกแพลงนำวัตถุดิบที่ตนเองมีอยู่มาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังเช่น เกษตรกรหนุ่มรายนี้ ที่ผันตัวเองจากลูกหลานเกษตรกรโดยแท้ เปลี่ยนตนเองมาเป็นพ่อค้าขายขนมหวาน โดยการนำเอาความรู้ด้านการทำเกษตรที่ติดตัวมาประยุกต์ปรับใช้ปลูกพืชผัก ผลไม้ ไว้ใช้ในการทำขนมหวานขายเอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผักผลไม้ที่ราคาตกต่ำ รวมทั้งพืชที่ผู้คนปลูกทิ้งปลูกขว้างมาสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างมีคุณค่า

คุณจิรัฏฐ์ ทิพย์วงษ์ทอง หรือ พี่อั๋น อยู่บ้านเลขที่ 134 หมู่ที่ 21 ตำบลวังท่าช้าง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เจ้าของบ้านสวนชัยธารา จากหนุ่มพนักงานออฟฟิศผันตัวเป็นเกษตรกร ทำสวนเกษตรอินทรีย์ พร้อมปลูกสมุนไพรผสมผสาน ควบคู่กับการเป็นพ่อค้าขายขนมไทย อยู่รอดได้ในยามเกิดวิกฤต

คุณจิรัฏฐ์ ทิพย์วงษ์ทอง หรือ พี่อั๋น

พี่อั๋น เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรให้ฟังว่า เดิมทีตนเองเคยทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศมาก่อน แล้วได้ลาออกจากงานมาเพื่อสานต่ออาชีพดั้งเดิมของพ่อแม่คือการเป็นเกษตรกรมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยพื้นเพที่บ้านเป็นคนระยอง แต่ ณ ปัจจุบันนี้ตนเองได้ย้ายมาสร้างครอบครัวอยู่ที่ปราจีนบุรี บนพื้นที่ที่แม่ได้ซื้อไว้ให้ใช้ทำมาหากินในอนาคต โดยเริ่มจากการปลูกพืชไร่ แต่ตนเองไม่ถนัดทางด้านนี้ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกหันมาปลูกพืชผัก ผลไม้ และพืชสมุนไพรแบบผสมผสาน ควบคู่ไปกับอาชีพการเป็นพ่อค้าขายขนมไทยที่เป็นช่องทางสร้างรายได้เสริมได้เป็นอย่างดี

“อาชีพเสริมการขายขนมหวานของผม ได้ผลตอบรับดีมาเรื่อยๆ มีรายได้ขยับขึ้นจากเมื่อก่อนช่วงแรกขายได้วันละ 500 บาท จากนั้นใช้เวลาเพียงไม่นานรายได้ของผมขยับขึ้นมาเป็นวันละพันบาท จนถึงปัจจุบันช่วงก่อนที่จะมีโควิด-19 ผมมีรายได้จากการขายขนมหวานวันละ 3,000-4,000 บาท ขายอาทิตย์ละ 3 วัน นอกนั้นวันที่เหลือจะเอาเวลาไปดูแลสวนเพื่อที่จะนำเอาวัตถุดิบมาทำขนมขาย ถือเป็นการสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบอย่างเห็นได้ชัด เช่น การนำใบเตยพืชราคาถูก หรือบางบ้านปลูกทิ้งปลูกขว้าง นำมาแปรรูปทำขนมหวานลอดช่องใบเตย สร้างรายได้วันละไม่ต่ำกว่าพันบาท หรือจะเป็นการเอานำเอามันสำปะหลังที่มีราคาตันละไม่กี่บาท มาแปรรูปทำขนมไทยได้หลากหลายเมนู ที่แค่ตัดมาเพียงไม่กี่หัว ก็สามารถนำมาทำขนมสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 บาท มูลค่าต่างไปจากเดิมมาก นี่ก็ถือเป็นอีกทางรอดให้กับเกษตรกรในยุคปัจจุบัน”

 

ปลูกวัตถุดิบไว้ทำขนมขายเอง
ลดต้นทุน เพิ่มรายได้
อร่อยเด็ด ที่ลอดช่องใบเตย

เจ้าของบอกว่า พืชผัก ผลไม้ที่ปลูกไว้ในสวนผสมผสานนั้น สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบทำขนมหวานได้หลากหลาย หรือถ้าหากในสถานการณ์ที่สวนมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ ปลูกไม่ทัน ก็จะเป็นการไปรับซื้อจากคนในชุมชนเป็นหลัก ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และเพื่อเป็นการลดต้นทุนในการเดินทางในการไปหาซื้อวัตถุดิบ โดยขนมหวานที่ตนเองทำขายมีหลากหลายชนิด อาทิ ลอดช่องใบเตย เต้าส่วน สาคูใบเตยกะทิสด บัวลอย ขนมถ้วย สังขยา กล้วยบวชชี บวดฟักทอง ขนมฟักทอง และอื่นๆ อีกมากมายแล้วแต่วัตถุดิบที่หาได้

โดยมีทีเด็ดอยู่ที่เมนูขนมหวาน “ลอดช่องใบเตย” สูตรลับเฉพาะของตนเองที่ได้สูตรมาจากคุณยายที่ทำขนมไทยขายมานานหลาย 10 ปี เป็นผู้ถ่ายทอดสูตรให้ และตนเองมีความภูมิใจกับเมนูนี้มากเพราะสามารถนำวัตถุดิบอย่างใบเตยที่ใครหลายคนปลูกทิ้งปลูกขว้างสามารถนำมาทำให้เกิดมูลค่า จนกลายเป็นลอดช่องใบเตย สูตรที่ใครได้รับประทานแล้วต้องติดใจ

ลอดช่องใบเตย สูตรลับ พร้อมเสิร์ฟ

ขั้นตอนการทำลอดช่องใบเตย สูตรเด็ดของที่ร้าน

  1. เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกใบเตย จะเลือกเฉพาะใบเตยที่มีสีเขียวเข้ม นำมาล้างทำความสะอาด แล้วผึ่งลมให้แห้ง
  2. นำใบเตยที่ผึ่งแห้งแล้วมาหั่นให้เป็นชิ้นเล็ก เพื่อที่จะนำไปปั่นคั้นน้ำใบเตยเข้มข้น
  3. ผสมแป้งข้าวเจ้ากับแป้งมัน เทน้ำใบเตยลงไป คนจนน้ำใบเตยเข้ากับแป้ง เปิดไฟอ่อน

    เปิดไฟอ่อน คนจนน้ำใบเตยเข้ากับแป้ง
  4. จากนั้นเทน้ำปูนใสลงไป กวนจนน้ำใบเตยเหนียวข้นและสีเขียวใส

    เทแป้งใส่ที่กดเส้น
  5. เทแป้งใส่ที่กดเส้น จากนั้นให้เตรียมน้ำเย็น กดเส้นลอดช่องใส่น้ำ เพื่อให้แป้งจับตัวเป็นเส้นลอดช่อง

    กดเส้นลอดช่องใส่น้ำ เพื่อให้แป้งจับตัวเป็นเส้นลอดช่อง

ซึ่งขั้นตอนการทำเส้นลอดช่องจะไม่ค่อยแตกต่างจากที่อื่นทั่วไป แต่เทคนิคสำคัญของการทำเส้นลอดช่องให้มีความนุ่ม ใส เคี้ยวเข้าไปแล้วได้เนื้อสัมผัสแบบหนุบๆ นั้น เทคนิคสำคัญอยู่ที่ 1. สูตรการทำน้ำปูนใส เพื่อให้ได้เส้นลอดช่องออกมาคุณภาพเหมือนกันทุกครั้งที่ทำ 2. การเลือกยี่ห้อของแป้งข้าวเจ้าที่นำมาใช้เป็นส่วนผสม เพราะแป้งข้าวเจ้าแต่ละยี่ห้อจะให้ความเหนียวนุ่มที่ต่างกัน โดยเคล็ดลับทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากความสงสัยในช่วงแรกที่ทำเส้นลอดช่องออกมาในแต่ละครั้งได้คุณภาพที่ไม่เหมือนกันสักครั้ง จึงได้นำความสงสัยตรงนี้ไปปรึกษากับอาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ในแง่ของการพัฒนาทำอย่างไรให้เส้นลอดช่องได้เนื้อสัมผัสที่คงที่เหมือนกันทุกครั้ง จนได้เส้นลอดช่องที่มีจุดเด่นอยู่ที่เส้นเหนียว นุ่ม ใส หอมกลิ่นใบเตย และเก็บไว้ได้นาน 1 อาทิตย์

“ขายขนมไทย” อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
สร้างรายได้หลายพันบาทต่อวัน

จากราคาพืชผลทางการเกษตรที่มีราคาตกต่ำ พี่อั๋นแนะนำว่า อยากให้ทุกท่านหันมาปรับกลยุทธ์ในการสร้างรายได้ใหม่ ใครถนัดแบบไหนก็ให้ทำไปในแนวที่ตนเองถนัด อย่างตนเองที่ได้มีการปรับวิธีคิดนิดหน่อย จากแทนที่จะเป็นเพียงเกษตรกรขายผลผลิตสดๆ จากสวนก็หันมาเป็นพ่อค้าขายขนมไทยเพิ่ม โดยการนำวัตถุดิบจากสวนมาทำ สามารถสร้างรายได้ถึงวันละ 3,000-4,000 บาทต่อวัน และถ้าหากคิดรายได้แยกเฉพาะจากการขายลอดช่องใบเตย ทำขายเป็นชุด ชุดละ 20-50 บาท หรือถ้าหากครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกหลายท่านต้องการซื้อเป็นกิโลก็มีขายกิโลละ 120 บาท พร้อมน้ำกะทิ คิดเป็นรายได้วันละ 900-1,000 บาท โดยขายในตลาดนัดชุมชนคลองสิบสองเป็นหลัก หรือถ้าหากมีธุระต้องไปทำที่จังหวัดระยอง ที่เป็นถิ่นที่คุ้นเคย ก็จะมีการพรีออเดอร์สินค้าไว้ก่อนล่วงหน้า วันนั้นทำธุระเสร็จก็ได้เงินกลับมาบ้านประมาณ 5,000 บาท ถือเป็นแง่คิดการทำตลาดอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งในอนาคตหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นเมื่อไร ตนเองได้มีการวางแผนไว้ว่าจะเจาะตลาดอุตสาหกรรม ทำบรรจุแก้วแยกชั้นกับน้ำกะทิ นำไปวางขายตามร้านอาหาร ให้ผู้บริโภครับประทานสะดวก สามารถแกะแล้วรับประทานในแก้วได้เลย

ฝากถึงเกษตรกร “อย่าเพิ่งท้อ”

“ในเศรษฐกิจแบบนี้ ผมมองว่าเกษตรกรต้องมีความเข้มแข็ง อยากให้รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่ออำนาจการต่อรอง เพราะบางครั้งเราไม่ได้วางแผนตลาดไว้ล่วงหน้า แม่ค้ามาถามซื้อเท่าไร เราก็ต้องขายถูก ขาดทุนก็ต้องยอม แต่ถ้าเรานำของที่มีมารวมกันเราสามารถต่อรองกับแม่ค้าหรือคุยกับคนรับซื้อได้ดีขึ้น แล้วต้องขายในราคาที่เราสามารถไปต่อได้ อย่างผมอยู่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วังท่าช้าง ถึงเวลามีปัญหาก็จะมารวมตัวกันเพื่อหาทางออก ในบางครั้งเจอกับสถานการณ์พืชผลราคาตกต่ำ เราก็มาคิดกันว่าจะทำอย่างไรกับพืชที่ราคา 5-10 บาท ให้มีราคามากขึ้น คำตอบก็คือนำมาแปรรูปตามวิถีที่แต่ละชุมชนถนัดได้เลย” พี่อั๋น กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 061-496-9198