กำนันสนิท สีหมอก กำนันนักพัฒนา ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม ด้วยการรับซื้อเศษไม้ มาทำพลังงานชีวมวล

โรงงานรับซื้อเศษไม้ของ กำนันสนิท สีหมอก ตั้งอยู่เลขที่ 227/3 หมู่ที่ 7 ตำบลดอนมูล อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่เศษ กำนันสนิทเนรมิตให้เป็นโรงงานขนาดย่อม เพื่อรับซื้อเศษไม้จากชาวบ้านเพื่อมาย่อยสลายให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานต่างๆ เช่น โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดย่อม ในเขตพื้นที่จังหวัดแพร่ ซึ่งมีอยู่เพียง 2-3 โรงงาน เช่น โรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวเพื่อส่งออกไปประเทศจีน ซึ่งก็นับว่าเป็นโรงงานขนาดกลาง มีคนงานประมาณ 700-800 คนเหมือนกัน แรงงานเหล่านี้ก็ล้วนเป็นคนในพื้นที่และแรงงานจากพม่าส่วนหนึ่ง

นอกจากนี้ ก็มีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาด 1 เมกกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท ของ ส.ส.แพร่คนหนึ่ง เอ่ยชื่อใครๆ ก็รู้จักเขา เหตุที่กำนันคิดตั้งโรงงานแปรรูปชีวมวลนี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากอาชีพทำนา ทำไร่ข้าวโพด ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่า เกษตรกรที่ทำนา ทำไร่ข้าวโพดเหล่านี้ต่างก็มีรายได้แบบน้อยนิด หักต้นทุนออกแล้วปีหนึ่งมีรายได้ไม่กี่พันบาท ต่างก็ต้องดิ้นรนไปหางานทำที่อื่น เพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว

เศษไม้จากการถางที่ดินรกร้างสมัยก่อนต้องนำไปเผาเพื่อทำลาย (กลายเป็นฝุ่นละออง PM 2.5) แต่ในปัจจุบันกลายเป็นเงินเลี้ยงชีพเกษตรกรได้ที่จังหวัดแพร่
เมื่อได้ชีวมวลจากเศษไม้แล้ว จะตักใส่รถสิบล้อเพื่อส่งโรงงานผลิตไฟฟ้าอีกต่อหนึ่ง รถพ่วงสิบล้อใส่ได้ประมาณ 20 ตัน (20,000 กิโลกรัม)

ผู้เขียนได้ไปพบกับกลุ่มเกษตรกรหลายคนที่นำเศษไม้มาขายให้โรงงานกำนันสนิท เช่น ลุงสุนทร หงส์กังวาน อายุก็หกสิบเศษ ลุงแกกำลังขับรถหกล้อเล็กขนเศษไม้เข้ามาเต็มลำ เป็นเศษไม้จากการรับจ้างถางพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ของคนมีสตางค์ เขาจะเอาพื้นที่เพื่อทำโกดังเก็บข้าวเปลือก เก็บถั่วลิสง ถั่วเหลือง พื้นที่ตรงนี้ปล่อยให้รกร้าง มีต้นไม้ขึ้นรกไปหมด ต้นไม้ที่ขึ้นคือ ไม้เนื้ออ่อนต่างๆ เช่น ไม้ฉำฉา กระถินยักษ์ และไม้อื่นๆ

ไม้เหล่านี้อายุได้หลายปี ซึ่งเจ้าของโรงงานจ้างให้ลุงหาคนงานมาตัดไม้เหล่านี้ ได้ทั้งค่าจ้าง ได้ทั้งไม้ตัดใส่รถไปขายให้โรงงานแปรรูปชีวมวลของกำนันสนิท ซึ่งการเข้าไปตัดต้นไม้เหล่านี้ก็ต้องจ้างแรงงานช่วย ลุงสุนทรไม่ได้จ้างใคร ทำกับคนในครอบครัว ลูกชาย หลานชาย ช่วยกัน 2-3 คน โดยใช้เลื่อยยนต์ขนาดเล็กตัดเศษไม้ กิ่งไม้ต่างๆ ให้มีขนาดประมาณ 2-3 เมตร แล้วขนใส่รถปิกอัพ หรือรถ 6 ล้อเล็ก นำมาขายให้กำนันสนิท

ไม่ต้องใช้คนขนไม้ออกจากรถ เอารถใส่ดัมพ์ของโรงงานยกเทได้เลย

เขาจะซื้อในราคาตันละ 700 บาท หรือกิโลกรัมละ 70 สตางค์ รถ 6 ล้อเล็กทั้งคันบรรทุกเศษไม้เข้ามาจะได้ประมาณ 3 ตัน หรือ 3,000 กิโลกรัม ก็จะมีรายได้ประมาณ 2,100 บาท

ซึ่งไม้ที่ตัดมาสดๆ ก็จะได้น้ำหนักอยู่แล้ว เพราะยังสดอยู่ เป็นการช่วยเหลือชาวบ้านโดยตรง ซึ่งรายได้ 2,100 บาทนี้ หักค่าใช้จ่ายออกไปประมาณ 700 บาท คือค่าจ้างแรงงาน 2 คน ช่วยกันขนใส่รถ ช่วยกันตัด ใช้แรงงาน 2 คน จ่ายค่าแรงไปคนละ 350 บาท 2 คน 700 บาท ลุงสุนทรจะเหลืออยู่ 1,400 บาท หักค่าน้ำมันรถ น้ำมันเลื่อยยนต์ ออกไปอีก 200 บาท ลุงสุนทรจะเหลืออยู่ 1,200 บาทต่อ 1 เที่ยว บางวันอาจจะได้ถึง 2 เที่ยว บางวันก็อาจจะไม่ได้ ระยะทางที่ขนมาจากสวนประมาณ 16 กิโลเมตร ถึงโรงงานแปรรูปชีวมวล

รถขนเศษไม้ไม่มีระบบดัมพ์ติดรถ แต่เอารถใส่ดัมพ์ของโรงงานชีวมวลเทเศษไม้ได้เลย

ส่วนรถปิกอัพคันเล็กจะได้ครั้งละประมาณ 800-1,000 กิโลกรัมเท่านั้น เพราะเป็นรถคันเล็ก ก็จะมีรายได้ต่อเที่ยว 600-700 บาท หักต้นทุนออกคือ ค่าแรง ค่าน้ำมัน ก็จะเหลืออยู่ประมาณ 400 บาทต่อเที่ยว ซึ่งจะแล้วแต่ระยะทางที่ขนจากสวนมาถึงโรงงาน

ถามว่าคนที่ขนเศษไม้เหล่านี้มาขายให้โรงงานแปรรูปชีวมวลนี้ เขาไปเอามาจากไหน ผู้เขียนได้สอบถามดู ทุกคันรถที่ขนไม้เข้ามาขายให้โรงงาน ส่วนใหญ่จะไปเอามาจากสวนของชาวบ้านที่ต้องการจะรื้อสวนเพื่อปลูกใหม่ เช่น สวนสักทอง เมื่อขายไม้สักไปแล้วก็จะเหลือเศษไม้เหล่านี้อยู่ หรือเวลาเขาตัดไม้สักทองขาย ก็จะมีเหลือเศษกิ่งก้าน เขาก็ไปเหมาในราคาถูก แล้วขนมาขายให้โรงงานแปรรูปชีวมวลของกำนันสนิท

รถคันเล็กบรรทุกได้ประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม ได้ราคาประมาณ 800 บาทต่อเที่ยว

ผู้เขียนได้สอบถาม คุณวิชัย แก้วคูหา บ้านอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เขาเล่าว่า มีอาชีพทำนา นอกเหนือจากทำนาก็จะขับรถไปกับภรรยา ไปตัดเอาเศษไม้เหล่านี้ใส่รถมาขายให้โรงงานแปรรูปชีวมวล

ซึ่งสมัยแต่ก่อนนั้นการกำจัดขยะเศษไม้เหลือทิ้งเหล่านี้คือ ต้องจ้างคนมาเก็บกวาด กำจัดด้วยการเผา ซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า การเผาขยะในสมัยนั้นมันหมายถึงเกิดควันไฟลอยขึ้นบนฟ้ากลายเป็นฝุ่นควัน อันตรายต่อสุขภาพของประชาชนขนาดไหน

ดังนั้น ใครเผาป่าสมัยนี้ถูกจับเข้าคุกอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฝุ่นควันเกิดจากการเผามีอันตรายอย่างไรบ้างก็รู้กันอยู่แล้ว จะมาอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ แต่ก็ยังมีคนป่าที่หาของป่าพากันเข้าไปเผาป่าจนทำให้เสียหาย งบประมาณของแผ่นดินเพื่อจ้างให้คนไปช่วยกันดับไฟป่า เหตุการณ์เผาป่านี้เกิดขึ้นซ้ำซาก จนทำให้คนเมืองเอือมระอา เดือดร้อนหน่วยพิทักษ์ป่าต้องไปดับไฟ เมื่อไรเรื่องเหล่านี้จะหมดไป

จากเศษไม้เหลือทิ้งนำมาส่งโรงงาน ป่นเพื่อเป็นชีวมวลผลิตไฟฟ้า

ปัจจุบันผู้คนฉลาดกันเยอะแล้ว แทนที่จะเอาขยะเศษไม้มาเผาเพื่อทำความสะอาดพื้นที่ แต่เศษขยะได้กลับกลายเป็นเงินทองขึ้นมาเพื่อช่วยชาวบ้านให้มีงานทำ มีรายได้

กำนันสนิท กล่าวกับผู้เขียนว่า สมัยแต่ก่อน กำนันแกเป็นเจ้าของโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ไม้สักเพื่อส่งออกและจำหน่ายในประเทศ ตั้งแต่เศรษฐกิจย่ำแย่ ธุรกิจส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้สักไปไม่รอด กำนันจำเป็นต้องวางมือก่อน ก็เลยคิดได้ว่ามาทำโรงงานแปรรูปเศษไม้เป็นชีวมวลขายให้โรงงานต่างๆ ซึ่งก็ไม่ต้องเจ็บตัวมาก พอมีรายได้มีกินไปวันๆ

“อย่าไปหวังร่ำรวยล้นฟ้าอะไรเลยครับ ทุกวันนี้ขอให้อย่าให้มีใครมาทวงหนี้ ผมก็ว่าชีวิตมีความสุขแล้วครับ ผมส่งลูกเรียนหนังสือจบหมดแล้ว ตอนนี้ก็อยากจะช่วยชาวบ้านให้มีรายได้เสริม ก็เลยตั้งโรงงานแปรรูปขึ้นมาเล็กๆ เพื่อช่วยเพื่อนเกษตรกรให้เขามีรายได้เสริม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในครอบครัว” กำนันสนิท บอก

เศษไม้จากโรงเลื่อย กลายเป็นเงิน
กำนันสนิท สีหมอก

นับได้ว่าความคิดของกำนันสนิท เป็นความคิดที่ดีมาก ดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ต่อไปจะได้ไม่มีใครเอาเศษไม้มากองแล้วเผา ทำให้เกิดมลภาวะเป็นพิษอีกต่อไป เมืองแพร่นั้นขึ้นชื่อเรื่องเป็นเมืองไม้สักอยู่แล้ว

คำขวัญคือ “เมืองม่อฮ่อม ล้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลื่อเลื่องแพะเมืองผี”

ไม้สักเมืองแพร่ มีมากที่สุดในประเทศไทย ดังนั้น โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้สักใหญ่ที่สุดก็อยู่ที่เมืองแพร่นั่นแหละ สมัยก่อนเศษขยะมูลฝอยจากโรงงานแปรรูปไม้สักต้องนำไปเผาทิ้ง แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นขยะทองเสียแล้ว เพราะขยะไม้เหล่านี้นำไปเป็นพลังงานชีวมวลกับโรงงานต่างๆ ได้อย่างดี ไม่ต้องนำไปเผาทิ้งกันอีกต่อไป

มีข้อสงสัยกันอยู่ว่า เมื่อนำขยะเศษไม้ไปแปรรูปเป็นชีวมวล เวลาเอาไปเผาเป็นเชื้อเพลงแล้ว ทำอะไรไม่ให้เกิดฝุ่นควัน เรื่องนักวิทยาศาสตร์เขาทำได้ ด้วยการกลั่นกรองกลุ่มควันที่เป็นพิษต่ออากาศไม่ให้เป็นพิษอีกต่อไป ทำแบบไหน อย่างไร ค่อยให้นักวิชาการมาชี้แจงอีกครั้ง

รถขนาดใหญ่ได้ประมาณ 3 ตัน ตันละ 800 บาท ได้ 2,400 บาท

สำหรับผู้เขียนเห็นว่า ผลงานของกำนันสนิทน่ายกย่อง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เสริม ผู้เขียนได้สอบถามสองสามีภรรยา สามีชื่อ คุณสมศักดิ์ ภรรยาชื่อ คุณจำเนียร เธอเล่าว่า มีที่ทำนาอยู่เพียง 2 ไร่ ทำนาได้ข้าวไว้พอกินเท่านั้น อาชีพเสริมคือ ออกไปหาเศษไม้มาขายให้โรงงานแปรรูปชีวมวลของกำนันสนิท

อย่างเขาเหมาสวนสักขนาด 4 ไร่ จะมีต้นสักประมาณ 1,000 กว่าต้น ซึ่งไม้สักที่จะตัดขายได้ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ถึง 30-40 ปี ซึ่งมูลค่าก็นับล้านบาท เวลาเขาตัดก็จะเหลือเศษไม้ สองสามีภรรยาก็จะมีเลื่อยยนต์เล็กๆ ไปคอยตัดเอาเศษกิ่งก้านใส่รถมาขายให้โรงงาน เที่ยวหนึ่งก็จะเหลือประมาณ 500-700 บาท หักค่าน้ำมันเลื่อย น้ำมันรถออกไปก็จะเหลือ 400 บาทต่อวัน หรืออาจจะไม่ถึงวัน อาจจะ 3-4 ชั่วโมงก็เต็มคันรถ นำไปขายได้เงินแล้ว

ลุงพร อยู่ตำบลวังหงษ์ ขนเศษไม้มาส่งโรงงานชีวมวลเป็นรายได้พิเศษจากการทำไร่ข้าวโพด
เศษไม้เหลือทิ้งรกสวนของชาวบ้าน นำมาขายได้เป็นเงิน เป็นไม้เนื้ออ่อนเผาถ่านไม่ได้

ในเมืองภาคเหนือมีไม้เยอะ ภาคอีสานหาไม้แทบไม่มี คนอีสานเลยต้องใช้หญ้า ซังข้าวโพด ย่อยสลายเป็นชีวมวลได้ แต่ก็ได้น้อยกว่าพลังชีวมวลจากเนื้อไม้…ไม้ได้เยอะกว่า ด้วยเหตุนี้ทางราชการจึงส่งเสริมให้ปลูกพืชพลังงาน กระถินยักษ์มีอายุการปลูกเพียงปีเศษก็จะได้เนื้อไม้ ปลูกทิ้งไว้ถึงเวลาก็ตัดไปขายได้

สนใจจะขายเศษไม้ โทร. 081-603-3266