ใครว่าไร้ผลงาน!”บิ๊กฉัตร”ปลื้มอยู่ 2 ปีจีดีพีเกษตรโต 7.7%

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากผลการประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) มีความชัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จีดีพีภาคเกษตรขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ที่น่าสนใจคือตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จีดีพีภาคการเกษตรติดลบ 0.55 % มูลค่าที่ 657,055 ล้านบาท เนื่องจากเกิดจากภัยแล้ง ต่อเนื่องมาถึงปี 2558 จีดีพีติดลบถึง 5.67 % มูลค่าอยู่ที่ 623,238 ล้านบาท

แต่ในปี 2559 จีดีพีฟื้นตัวขึ้นเป็น 0.55 % มูลค่า 623,238 ล้านบาท และในปี 60 นี้จีดีพีไตรมาสแรกขยายตัวมากขึ้นถึง 7.74 % มูลค่า 175,927 ล้านบาท ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าการบริหารจัดการงานภาคการเกษตรมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะโครงการแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ และโครงการประชารัฐ มีส่วนในการผลักดันจีดีพีภาคการเกษตรให้ขยายตัวเป็นอย่างมาก โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯมีรายได้เพิ่มมากขึ้นถึงรายละ 1,100 บาท และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง รายละ 1,400 บาท สูงกว่าที่กระทรวงเกษตรฯทำเพราะมีความเชื่อมโยงด้านการตลาดมากกว่า

“ในปีนี้กระทรวงเกษตรฯจะผลักดันให้เชื่อมโยงภาคการตลาดมากขึ้นรวมทั้งจะปรับเป้าหมายโครงการแปลงใหญ่จากเดิมที่กำหนดไว้ใน 5 ปีจะต้องมีโครงการเกิดขึ้นรวม 7,000 แห่ง แต่หลังจากที่ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี พบว่าปัจจุบันสามารถทำโครงการแปลงใหญ่ได้ถึง 2,000 แห่งแล้ว เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1,500 แห่ง รวมทั้งยังมีการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เพื่อช่วยลดปัญหาภัยแล้ง ทำให้ภาพรวมเกษตรกรสามารถผ่านวิกฤติมาได้” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวและว่า ผมเข้ามาบริหารงานช่วงปลายปี2558 ต่อเนื่องทั้งปี2559 กำหนดนโยบายออกไป ถือว่าได้ผล ทุกอย่างมาในทิศทางที่ถูกต้อง แต่กรณีของข้าวต้องดูก่อนว่าราคาที่ไม่สูงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากกลไกการตลาดที่คุมได้ยาก แต่ประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพข้าวที่ออกมาดี ซึ่งการผลิตลักษณะนี้จะต้องทำดีขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง

นางสาว จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) กล่าวว่าจากคาดการณ์จีดีพีภาคการเกษตร ที่ระบุว่าทั้งปีจะขยายตัวที่ 4.2% ต่ำกว่าที่สศช.คาดการณ์นั้น เป็นเพราะสศก.ให้ความสำคัญกับข้อมูลทางด้านการผลิต และจะใช้ข้อมูลคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อส่งต่อให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เพื่อวิเคราะห์จีดีพี ด้านรายได้ สศช. ที่จะประเมินตัวเลขจีดีพีทั้งภาคการผลิตจากสศก. ร่วมกับรายได้จากธปท. และการส่งออกนำเข้าของกระทรวงพาณิชย์ ทำให้ได้ตัวเลขจีดีพีด้านการเกษตรที่ต่างกันออกไป แต่ตัวเลขจีพีดีที่แต่ละหน่วยงานวิเคราะห์ออกมานั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยกเว้นว่าจะเกิดปัจจัยลบที่รุนแรงด้านใดด้านหนึ่งเกิดขึ้น