ฟาร์มฝัน ปันสุข นครสวรรค์ จากเกษตรปลอดภัยในเมือง สู่ตลาดคนรักเกษตรอินทรีย์

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ผมเคยทำโครงการการเกษตรในพื้นที่จำกัดให้มหาวิทยาลัย เคยทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรในพื้นที่จำกัด เพราะคิดว่าการเกษตรในพื้นที่จำกัดเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อยในบ้านเราที่มีพื้นที่ถือครองน้อยนิด รวมทั้งเหมาะกับการเกษตรในเมืองที่ถือเอาเรื่องความมั่นคงทางอาหารและเรื่องความปลอดภัยทางอาหารเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น ฉบับนี้ผมภูมิใจพาท่านไปดูการเกษตรในเมือง ไปดูการทำการเกษตรและการตลาดบนพื้นที่จำกัด เพียง 121 ตารางวา ทำอย่างไรและประสบความสำเร็จแค่ไหนไปดูกันครับ

เริ่มต้นจากร้านอะไหล่ข้างในมีผัก

พาท่านมาพบกับ คุณธาวิต ฉายแสงมงคล เจ้าของฟาร์มฝัน ปันสุข ที่บ้านเลขที่ 148 ถนนมาตุลี ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ คุณธาวิต เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า เดิมที่บ้านผมทำธุรกิจร้านอะไหล่รถยนต์แต่คนที่บ้านชอบกินผักและผลไม้ ผมจึงเห็นมาตลอดว่าต้องล้างผักและผลไม้ทุกอย่างด้วยวิธีการ ขั้นตอนที่มากมายเพื่อจะได้กินผัก ผลไม้ที่สะอาด ปลอดภัย ตัวผมเองจึงพยายามมองหาวิธีที่ง่ายกว่าในการกินผัก ผลไม้ที่ไว้ใจได้ สะอาดและปลอดภัยจากสารพิษที่ติดมา นั่นคือจุดเริ่มต้นที่คุณธาวิตตัดสินใจที่ปลูกผักและผลไม้บางส่วนเอาไว้ให้คนในบ้านได้กินอย่างสบายใจ

“ผมจึงได้เริ่มมาลงมือทำการเกษตรในพื้นที่ 121 ตารางวาของตัวเองที่ยังเป็นพื้นที่ว่างอยู่ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2559 โดยปลูกผักที่ชอบกิน ผักที่ปลูกง่าย เช่น ผักบุ้ง ผักสลัด โดยเลือกวิธีทำการเกษตรให้เข้าสู่สมดุลของธรรมชาติให้มากที่สุด ผมพยายามทำทุกอย่างให้การเกษตรเป็นเรื่องง่ายและสะดวกกับตัวผมเอง” เมื่อเริ่มมีผลผลิตมากขึ้น คุณธาวิตจึงได้เริ่มต้นขายโดยใช้ร้านอะไหล่ของตัวเองเป็นจุดเริ่มต้น “ผมเริ่มขายผลผลิตที่เราผลิตได้เองที่ร้านอะไหล่ คนที่เป็นลูกค้าผมก็จะรู้ว่าร้านของผมเป็นร้านอะไหล่ที่ข้างในมีผักปลอดสารพิษวางขายอยู่”

คุณธาวิต ฉายแสงมงคล เจ้าของฟาร์มฝัน ปันสุข

ก่อนจะเป็นฟาร์มฝัน ปันสุข

คุณธาวิต เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาเป็นฟาร์มฝัน ปันสุข อย่างทุกวันนี้เขาต้องหาประสบการณ์มาพอสมควร “เมื่อตอนที่ผมเริ่มต้นทำการเกษตร ผมพยายามไปดูตัวอย่างจากหลายฟาร์ม หลายเจ้าของ ทั่วประเทศ ไปทั้งที่กาญจนบุรี กรุงเทพฯ ที่ไหนที่มีชื่อเสียง ที่ไหนที่เราเชื่อว่ามีแนวทางที่ดีผมไปดูมาเยอะ สุดท้ายมาได้ตัวอย่างจากฟาร์มเจ้าชายผัก ของ คุณนคร ลิมปคุปตถาวร ผมจึงนำแนวคิดมาปรับใช้ให้สะดวกกับสิ่งที่ผมทำ” ปัจจุบันที่ฟาร์มฝัน ปันสุข คุณธาวิตจะปลูกผักหมุนเวียน มีทั้งคะน้า ผักกาดขาว กะเพรา โหระพา พริก กระเจี๊ยบ มะละกอ ถั่วฝักยาว และยังเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอยู่ 18 ตัวอีกด้วย

“ผมทำฟาร์มฝัน ปันสุข มาได้ประมาณ 1 ปีก็เริ่มมองว่าอยากจะรวมกลุ่มคนที่มีแนวคิดเหมือนกัน อยากจะสนับสนุนคนที่ทำเกษตรอินทรีย์แบบเดียวกัน ประกอบกับเคยเห็นตัวอย่างตลาดเล็กๆ ของคนที่ทำเกษตรอินทรีย์รู้สึกว่าอบอุ่นเหมือนพี่เหมือนน้อง เลยลองหาข้อมูลดู เห็นมีตลาดปันอยู่ ปันกิน ที่มีแนวคิดน่าสนใจ เลยเริ่มลองทำตลาด แต่ช่วงแรกๆ ผมไปชักชวนเกษตรกรที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว ชวนให้เขาเปลี่ยนมาทำอินทรีย์ให้มาร่วมกับเราแต่ไม่ค่อยสำเร็จ ผมเลยเปลี่ยนแนวคิดใหม่ตามหาเกษตรกรที่มีความคิดตรงกับเรา มีวิธีปฏิบัติเหมือนๆ กัน หรือพูดง่ายๆ ว่าคนที่คุยกับเรารู้เรื่อง โดยเข้าไปหาเป็นรายคน พูดคุยกันแล้วชักชวนเขาเข้ามาร่วมจำหน่ายผลผลิตในตลาดฟาร์มฝัน ปันสุขของเรา”

บนพื้นที่ 121 ตารางวาของฟาร์มฝัน ปันสุข มีพืชพันธุ์หลายชนิด

ซื้ออย่างรู้คุณค่า กินอย่างรู้ที่มา

ในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” สิ่งที่ผมนำมาเสนอเสมอคือเรื่องการทำตลาด

คุณธาวิต เล่าถึงการทำการตลาดว่า ตลาดชื่อ ฟาร์มฝัน ปันสุข เริ่มเปิดตลาดในปี 2560 เกิดจากการช่วยกันคิดช่วยกันทำของกลุ่มที่มีอยู่ประมาณ 24 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ พวกเราได้แนวคิดจากตลาดปันอยู่ปันกิน โดยตลาดฟาร์มฝัน ปันสุข เปิดทุกวันอาทิตย์สิ้นเดือน ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนในเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าเก่าที่เคยซื้อผัก ผลไม้สมัยที่ผมขายอยู่ในร้านอะไหล่ เพราะเราก็ไม่ได้โฆษณามากมาย มีแค่การแนะนำตัวในช่วงปีแรกๆ ในช่วงเปิดตลาดก็มีการแจกใบปลิวและประชาสัมพันธ์ผ่าน Facebook เท่านั้น

ผักที่ปลูกไว้รอการเก็บเกี่ยว

คุณธาวิต บอกว่า เป้าหมายในการทำตลาดฟาร์มฝัน ปันสุข คืออยากให้เกษตรกรได้รู้จักกันได้แลกเปลี่ยนแนวความคิดการปฏิบัติในเชิงเกษตรอินทรีย์ ส่วนลูกค้าที่เข้ามาซื้อของถือว่าเป็นกำไรของเรา

“ส่วนแนวคิดหรือสโลแกนของตลาดฟาร์มฝัน ปันสุข ของเราคือ ซื้ออย่างรู้คุณค่า กินอย่างรู้ที่มา เพราะสมาชิกในกลุ่มของเราเน้นการผลิตที่เป็นเกษตรอินทรีย์ มีความปลอดภัย มีที่มาที่ไปชัดเจน ทำให้เราสามารถขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้นได้ จนปัจจุบันในตลาดฟาร์มฝัน ปันสุข ของเรามีสินค้าในตลาดหลากหลายขึ้น มีทั้งผัก อาหารแปรรูป ผลไม้ ไปจนถึงอาหารทะเล นอกจากนั้น เรายังมีหน้าร้านที่เปิดขายทุกวันอยู่ในพื้นที่ฟาร์มฝัน ปันสุข ซึ่งมีลูกค้ามาซื้อของตลอดเวลา และเรายังมีกรุ๊ปไลน์ของลูกค้าที่สามารถสั่งของเข้ามาได้ตลอดและเรายินดีจะเอาไปส่งให้ ปัจจุบันมีลูกค้าในกรุ๊ปไลน์กว่า 400 คน เราจึงสามารถอยู่ได้แบบไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด” คุณธาวิต เล่า

ภายในร้านของฟาร์มฝัน ปันสุข มีสินค้าอินทรีย์หลากหลายอย่างให้เลือกซื้อ

เชื่อมั่นในเกษตรอินทรีย์

แต่ไม่ยึดติดกับใบรับรองใดๆ

ในเรื่องของแนวคิด แนวทางของกลุ่มฟาร์มฝัน ปันสุข กับวิถีเกษตรอินทรีย์นั้น คุณธาวิตมีแนวคิดว่า

“ในเรื่องของระบบการผลิตเราเน้นเรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก สมาชิกในกลุ่มของเรามานั่งพูดคุยกันว่าเราพยายามทำให้ได้ 90-100% เป็นระบบอินทรีย์ เป็นออร์แกนิกได้ก็น่าพอใจมากแล้ว เราไม่ต้องคำนึงถึงใบรับรองจากหน่วยงาน สถาบันใดๆ แต่ขอให้พวกเรามั่นใจกันเองในเรื่องของการผลิตที่เป็นอินทรีย์ ยกตัวอย่างตัวผมเองจะไม่ทำน้ำหมักเพราะเหนื่อยแต่ผมจะเน้นในเรื่องการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีการอื่นๆ ตรงนี้เมื่อเราเข้าใจตรงกันทำให้การทำงานทุกอย่างราบรื่นขึ้น ปัจจุบันเรามีการสร้างเครือข่ายขยายไปกว้างไกลขึ้น มีสมาชิกในกลุ่มเพิ่มมากขึ้น ทั้งสมาชิกในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดอื่นๆ ของที่นำมาขายในตลาดก็มีมากขึ้น เช่น ไอศกรีมข้าวกล้องงอกน้ำ ตาลโตนดสวนคนึง ออร์แกนิก จากอำเภอชุมแสง มีนมแพะจากซีโตฟาร์ม ขนมกุยช่ายอินทรีย์ทำจากแป้งข้าว ของอำเภอขาณุวรลักษบุรี กำแพงเพชร ฯลฯ”

ตลาดนัดฟาร์มฝัน ปันสุข ที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน

เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย

ใครที่อยากทำถามตัวเองให้ดี

คุณธาวิต ฝากข้อคิดให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่หรือคนที่สนใจในแนวทางเกษตรอินทรีย์ว่า “สำหรับคนที่สนใจ คนรุ่นใหม่หรือใครที่อยากทำคืออินทรีย์ ผมขอแนะนำให้ถามตัวเองก่อนว่าชอบหรือไม่ เพราะเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย หากจะเริ่มต้นทำในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ต้องมีความชัดเจนในสิ่งที่เราจะทำ เมื่อทำไปแล้วอาจจะพูดได้ว่าผลผลิตของเราเป็นอินทรีย์ แต่ก็มีแต่ตัวเองที่รู้ว่าใช่หรือไม่ ไม่ว่าเราจะทำในเรื่องของการผลิตของสดหรือสินค้าแปรรูปก็ต้องมีความชัดเจนในเรื่องของระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง ไม่หลอกลวง เราต้องถามตัวเองทั้งก่อนลงมือทำเพราะเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย และเมื่อทำไปแล้วก็ยังต้องคอยถามตัวเองว่าเราแนวทางชอบจริงไหม ถ้าเราตอบตัวเองได้เราก็จะสามารถเดินต่อไปได้”

เป็นอีกเรื่องราวดีๆ ที่ผมนำมาฝากกันครับ ใครอยากคุย สอบถามเพิ่มเติมกับคุณธาวิต ติดต่อไปได้ที่เบอร์ 086-929-2958 คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of smallscale farmers” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว ต้องขอลากันไปก่อน แล้วพบกันใหม่ ขอให้โชคดี ไม่มีโรคกันทุกท่านทั่วหน้า สวัสดีครับ

………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อ