ผ่านมาทุกสมรภูมิอาชีพ สุดท้าย หยุดใจไว้กับ “แม่ค้าผลไม้”

เพิ่มความเย็นให้กับแอปเปิ้ล

การทำมาหากินใช่ว่าจะอยู่ที่ รวยเร็ว มีเงินให้ใช้เร็วเท่านั้น สำคัญว่าอาชีพที่เราทำเป็นอาชีพสุจริตหรือไม่ หลายคนมีเป้าหมายในชีวิตตั้งแต่เด็ก อยากเป็นหมอ อยากเป็นตำรวจ หลายคนสมหวังอย่างที่ตั้งใจ แต่หลายคนต้องปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ บางครั้งเป็นอาชีพที่ไม่คาดคิดว่าชีวิตนี้จะได้ลงมือทำ

คุณธณพร คงถาวร
คุณธณพร คงถาวร

คุณธณพร คงถาวร แม่ค้าขายผลไม้ วัย 50 ปี เล่าถึงชีวิตที่ผ่านมากับการประกอบอาชีพที่หลากหลายว่า “ตอนเด็กมีความฝันว่า อยากเป็นครู แต่ด้วยเรียนมาน้อย เนื่องจากฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี ประกอบกับเป็นพี่คนโต จึงเสียสละให้น้องได้เรียนสูงกว่า เมื่อเรียนจบชั้น ม.3 จึงตัดสินใจเดินทางเข้ามาเป็นสาวโรงงานในโรงงานผลิตดิสก์ไดร์ฟคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่ง ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2534 แต่เนื่องจากโรงงานต้องย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ ในปี 2542 จึงได้ออกจากงาน นับเป็นเวลากว่า 8 ปีที่เป็นลูกจ้างเขา ทำให้รู้ใจตัวเองว่าไม่ชอบและไม่อยากเป็นลูกจ้างตลอดชีวิต ประกอบกับช่วงนั้นตั้งท้องลูกคนที่ 2 จึงตัดสินใจผันอาชีพมาสู่การเป็นเจ้านายตัวเอง ด้วยการเป็นแม่ค้า สิ่งแรกที่ทดลองขายคือ กล้วยแขก จนเมื่อปี 2544 มีโอกาสเข้ามาขายของในโรงงานแห่งหนึ่ง ขายขนมหวาน ผลไม้ และน้ำ ให้กับพนักงานโรงงาน ต่อมาในปี 2551 ได้ตัดสินใจออกจากโรงงาน มาเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวไก่ และเปิดร้านขายของกิ๊ฟต์ช็อป ซึ่งไปได้ดีในช่วงแรก แต่ด้วยเศรษฐกิจไม่ดีจึงต้องปิดตัวลงในเวลาต่อมา ผนวกกับในปี 2554 เป็นปีที่ลูกสาวต้องหาที่เรียนใหม่ จึงตัดสินใจออกจากกรุงเทพฯ มาอยู่ลพบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของสามี”

 

ความเป็นมาของแม่ค้าผลไม้คนนี้

หลังจากที่คุณธณพรปิดตัวร้านกิ๊ปต์ช็อปไปและย้ายมาอยู่ต่างจังหวัด ก็พยายามมองหาอาชีพอื่นทำ แต่ด้วยฟ้าที่ลิขิตไว้แล้วให้มาทำอาชีพค้าขาย ซึ่งโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งใกล้บ้านของคุณธณพร ได้ประกาศเปิดรับสมัครร้านขายของพอดี และเป็นโรงเรียนเดียวกันกับที่ลูกสาวสอบติด จึงตัดสินใจเข้าสมัครและทดสอบ ซึ่งในครั้งนี้คุณธณพรเลือกที่จะขายผลไม้

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจมาขายผลไม้ในโรงเรียน นอกจากการที่ลูกสาวมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้แล้ว คือการมองเรื่องของตลาด เนื่องจากการขายของในโรงเรียนมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือเด็กนักเรียน คณาจารย์ รวมถึงบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งได้มีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนอย่างดี พบว่าโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนมากถึง 3,000 คน จึงมีความมั่นใจว่าต้องขายได้ อีกทั้งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมปลาย นักเรียนเป็นช่วงวัยที่โตขึ้นจากประถมศึกษา และเป็นวัยที่ค่อนข้างใส่ใจในเรื่องสุขภาพด้วย

 

ขายผลไม้กับนักเรียน ไม่ง่ายอย่างที่คิด

คุณธณพร เล่าว่า “การขายผลไม้ในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องทำให้ตัวเองมีลูกค้าประจำ เพราะเด็กนักเรียนที่นี่จะต้องเรียน 3 ปี คือ ม.4-ม.6 ต้องอย่าลืมว่าขายในที่เดิมๆ เราไม่ใช่ขาจร ความยากอยู่ที่ จะทำอย่างไรให้ถูกใจเด็ก อีกทั้งเรื่องของคุณภาพที่จะต้องรักษา ซึ่งจะมีทางโรงพยาบาลและกลุ่ม อ.ย. ของโรงเรียนเข้ามาตรวจสม่ำเสมอ ซึ่งร้านข้างนอกไม่มี”

ความหลากหลายของผลไม้
ความหลากหลายของผลไม้

สิ่งที่จะสามารถยึดใจลูกค้าที่เป็นนักเรียนได้ คือความยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยกับเด็ก แม้ลูกค้าเข้ามาสอบถาม ไม่ซื้อของก็ต้องบริการด้วยหน้าที่ยิ้มแย้ม น้ำจิ้มต่างๆ ให้ฟรีไม่ต้องซื้อ อะไรที่แจกได้แจก เช่น แกนสับปะรด ที่สำคัญต้องมีความหลากหลายของผลไม้ ซึ่งที่ร้านจะมีให้ลูกค้าเลือกมากมาย เช่น มะม่วงทั้งเปรี้ยวและมัน แตงโม แคนตาลูป ชมพู่ ฝรั่ง สับปะรด แอปเปิ้ล กล้วยหอม มะเขือเทศเชอร์รี่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผลไม้ตามฤดูกาล เช่น องุ่น สตรอเบอรี่ เงาะ ลิ้นจี่ พุทรา กระท้อน สาลี่ มะพร้าวน้ำหอมเผา เป็นต้น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของร้าน

         

6 วิธี มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด

วิธีมัดใจลูกค้าของคุณธณพร อันดับแรก มาก่อนความสดของผลไม้คือ ความเย็น คุณธณพร เล่าว่า คำถามแรกที่ลูกค้ามักจะถามคือ “ป้าๆ เอาเย็นๆ นะคะ” หรือ “แตงโมมีเย็นกว่านี้ไหมครับ” โดยเฉพาะวันที่อากาศร้อนจัด ผลไม้ที่เย็นจะขายดี เชื่อว่าที่ลูกค้าชอบเพราะทำให้สดชื่น โดยเฉพาะผลไม้น้ำเยอะอย่างแตงโม

  1. ความสดใหม่ของผลไม้ และเลือกของดีมาให้ลูกค้า คุณธณพรจะไปเดินตลาดทุกเช้าเพื่อเลือกซื้อผลไม้จากร้านเจ้าประจำ อาทิตย์ไหนมีโอกาสเข้ากรุงเทพฯ จะไปซื้อถึงแหล่งจำหน่ายอย่างตลาดไทเลย

    สะอาดทุกขั้นตอน
    สะอาดทุกขั้นตอน
  2. ความสะอาด ทุกกระบวนการในการทำผลไม้ต้องสะอาด ตั้งแต่ล้างน้ำ ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นและการบรรจุถุง ทุกกระบวนการผลิตต้องใส่ถุงมือทุกครั้ง บางครั้งผลไม้ที่ทำขึ้นตู้โชว์หมดต้องปอกและหั่น ณ ตอนนั้น จะรีบแค่ไหนก็ไม่ลืมที่จะนำไปล้างและใส่ถุงมือก่อน ลูกค้าก็รอได้เพราะมั่นใจในความสะอาด
  3. พูดจาพาทีและยิ้มแย้มแจ่มใส ขายของกับเด็กนักเรียนต้องทันในเรื่องที่กำลังเป็นกระแส ใครเก่งใครดังต้องรู้ แม้ลูกค้าไม่ซื้อเลย แต่อย่างน้อยเขาจะไว้ใจและกล้าที่จะเข้ามาคุยกับเรา อาชีพที่เราทำก็ถือเป็นงานบริการ การยิ้มแย้มทักทาย รับอะไรดีคะ เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย
  4. ไม่หวงของแจกได้แจก ให้ฟรีได้ให้ ผลไม้ทุกถุงที่ขายจะให้น้ำจิ้มพริกเกลือ 1 ซอง แต่หากลูกค้าต้องการเพิ่ม ขอได้เลยไม่คิดเงิน ไม่จำกัดว่าจะเอากี่ถุง ที่สำคัญเรามีน้ำจิ้มที่หลากหลาย มีทั้งพริกเกลือพริกแห้ง พริกเกลือพริกสด พริกเกลือกะปิ พริกเกลือบ๊วย เกลือเปล่า หรือแม้แต่น้ำปลาหวาน ก็ให้ฟรี ลูกค้าสามารถหยิบได้เลย
  5. จริงใจกับลูกค้า บางฤดูกาลผลไม้บางชนิดรสชาติไม่ดี ไม่ถูกปากลูกค้าบ้าง เปรี้ยวไป จืดไป ในฐานะผู้ขายต้องชิมก่อนว่ารสชาติผลไม้ที่ขายในวันนี้เป็นอย่างไร และต้องจริงใจกับลูกค้า พูดความจริง เช่น เมื่อลูกค้าถามถึงรสชาติของมะม่วง หวานเราก็ต้องบอกว่าหวาน เปรี้ยวก็ต้องบอกเปรี้ยว ไม่โกหกลูกค้า ต้องนึกถึงวันข้างหน้า วันนี้โกหกจะขายได้แค่วันนี้ พูดความจริงลูกค้าจะอยู่กับเรา ไว้ใจเราไปอีกนาน

ด้านต้นทุนและรายได้จากการขายผลไม้นั้น จะขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลด้วย บางช่วงผลไม้บางชนิดจะมีรสชาติอร่อย หวาน จะขายดี บางฤดูกาลผลไม้ราคาแพง เราต้องมีพระเอกของร้าน ที่ร้านจะเป็นมะม่วง เพราะมีขายทุกฤดู มะม่วง 1 กิโลกรัม เมื่อนำมาปอกเปลือก หั่น และนำมาใส่ถุงแล้ว จะสามารถแบ่งถุงขายได้ประมาณ 5 ถุง ขายถุงละ 10 บาท ซึ่งมีต้นทุนอย่างต่ำอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 บาท/กิโลกรัม แตงโม 1 ลูก ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 65 บาท ลูกใหญ่จะสามารถแบ่งขายได้ 8-9 ชิ้น ชิ้นละ 10 บาท นอกจากผลไม้สดๆ แล้ว คุณธณพรยังนำมาเพิ่มมูลค่า ด้วยการขายสลัดผลไม้และธัญพืชอีกด้วย สำหรับเป็นตัวเลือกให้นักเรียนที่รักสุขภาพ ซึ่งในช่วงที่โรงเรียนปิดเทอม คุณธณพรจะรับสั่งทำสลัดผลไม้ส่งขายด้วย เป็นการหารายได้เสริม

ความน่ากินของสลัดผลไม้ พร้อมน้ำสลัดฟรี
ความน่ากินของสลัดผลไม้ พร้อมน้ำสลัดฟรี

“สำหรับคนที่สนใจอยากจะลองเป็นแม่ค้าขายผลไม้ แนะนำว่าให้หาร้านผลไม้เจ้าประจำที่เราสามารถไว้ใจได้ เพราะผลไม้มีวันเน่าเสีย ถ้าเราเริ่มจากแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ดี ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เราอยู่ได้และประสบความสำเร็จ” คุณธณพร กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสั่งซื้อผลไม้ หรือสอบถามข้อมูลเพื่อทำเป็นอาชีพเสริม คุณธณพร คงถาวร ยินดีให้คำปรึกษา โทร.089-4931188,096-3690881

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559