ไทย-เวียดนาม “คู่ค้า-คู่แข่ง ” ตลาดผลไม้

ปัจจุบันเวียดนามเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 ของไทยในโลก และเป็นอันดับที่ 2 ของไทยในอาเซียน รองจากมาเลเซีย ในช่วงปีพ.ศ.2560 – 2564 การค้าระหว่างไทยกับเวียดนามมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 17,767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.32 ต่อปี โดยในปี 2564 มีมูลค่าการค้าไทย – เวียดนามรวม 19,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 17.31 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามูลค่า 5,599 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ผ่านมา  เวียดนามนําเข้าทุเรียนจากไทยและกัมพูชาเป็นหลัก

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ไทยและเวียดนามได้ร่วมหารือประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาค และพหุภาคี ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้อง ความร่วมมือสร้างการค้าที่สมดุล ขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เพื่อมุ่งบรรลุเป้าหมายทางการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568

ผลไม้ไทย -เวียดนาม

“ทุเรียน ” เป็นหนึ่งในผลไม้นำเข้าสำคัญที่เวียดนามสั่งซื้อจากไทย โดยอาศัยการขนส่งผ่านบริเวณชายแดน ทุเรียนไทยที่เวียดนามสั่งซื้อจะถูกส่งออกไปขายทำกำไรในประเทศจีน เนื่องจากเวียดนามมีชายแดนติดกับประเทศจีน ได้แก่  ด่านหม่องก๋ายของเวียดนาม กับด่านตงซิงของจีน   ด่านหวูหงิของเวียดนามกับด่านโหย่วอี้กวานของจีน  และด่านรถไฟด่งดังของเวียดนาม กับด่านรถไฟผิงเสียง ซึ่งรัฐบาลไทยขอให้เวียดนามช่วยเจรจากับจีนให้เปิดด่าน 24 ชั่วโมง และเพิ่มช่องทางกรีนเลน (Green Lane) เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทยที่ผ่านกระบวนการปลอดโควิดข้ามแดนเข้าสู่ประเทศจีนได้คล่องตัวมากขึ้น

ที่ผ่านมา เวียดนามนำเข้าผลไม้เมืองหนาวจากจีน เช่น แพร์ พลัม แอปเปิล ส้ม ฯลฯ มากกว่าร้อยละ 50 ของผลไม้ที่นำเข้าทั้งหมด รองลงมาคือผลไม้จากไทย เช่น มะม่วงเขียว ( มะม่วงทานดิบ ) มังคุด มะขาม  ลางสาด ลองกอง ทั้งนี้เวียดนามได้ระงับการนำเข้า เงาะและมะม่วงไทย ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2558 โดยอ้างว่า มีแมลงที่เป็นศัตรูพืชกักกันของเวียดนาม 3 ชนิด อย่างไรก็ตามไทยพยายามเจรจาขอให้เวียดนามยกเลิกการระงับการนำเข้าเงาะ และมะม่วง ซึ่งเวียดนามรับเรื่องไปพิจารณาต่อไป

ผลไม้ไทยที่จำหน่ายในประเทศเวียดนาม มีราคาสูงกว่าผลไม้เวียดนาม 2 – 3 เท่าตัวเพราะผลไม้ไทยได้รับความเชื่อถือด้านความปลอดภัยจากสารเคมี และมีคุณภาพผลไม้ดีกว่าผลไม้เวียดนาม ทำให้ผลไม้ไทยได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคที่มีรายได้สูงและระดับกลาง ขณะที่ผลไม้จากจีน ไม่ได้รับความไว้วางใจด้านสุขอนามัยจึงสามารถครองตลาดผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำ เพราะมีราคาถูก

เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ขนาดเล็กกระจัดกระจายทั่วประเทศ  ส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ( ประมาณร้อยละ 35 ของพื้นที่ปลูกผลไม้ทั้งประเทศ )ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ ( ประมาณร้อยละ 17 ) และตอนกลางของภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่เพาะปลูกแก้วมังกร มะม่วงและองุ่น

Advertisement

ปัจจุบันเวียดนามผลิตผลไม้ได้หลากหลายชนิดได้แก่ กล้วย ลำไย มะม่วง เกรปฟรุ้ตแต่ แก้วมังกร (Dragon fruit)  ทำรายได้จากการส่งออกให้ประเทศมากที่สุด  และเป็นที่รู้จักแพร่หลายในตลาดโลก  เวียดนามพัฒนามาตรฐาน Viet GAP และมาตรฐานผลไม้ออร์แกนิก (organic) เพื่อให้การรับรองคุณภาพผลไม้อื่นๆ เช่น มะม่วง ลำไย ส้มโอ สับปะรดและลิ้นจี่ ฯลฯ เพื่อผลักดันให้มีการส่งออกมากขึ้น

เวียดนาม  นอกจากจำหน่ายในรูปผลไม้สดแล้ว ยังมุ่งสร้างมูลค่าสินค้าโดยใช้กระบวนการการแปรรูปผลไม้ ทั้งผลไม้กระป๋องและผลไม้แห้ง โดยแบรนด์สินค้าผลไม้อบแห้ง “Vinamit”  ของโรงงานแปรรูปเวียดนามรายใหญ่ที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่โดยส่งออกสินค้ามาขายตลาดจีนและไทย

Advertisement

ปัจจุบันเวียดนามได้ผลิตผลไม้ที่มีต้นกำเนิดจากไทย คือ ลางสาด มะม่วงเขียว และทุเรียนหมอนทอง โดยผลผลิตส่วนใหญ่ขายภายในประเทศ ยังไม่สามารถส่งออกได้ นอกจากนี้มีการนำเข้าต้นไม้จากไทยเพื่อขายให้เกษตรกรเวียดนามโดยตรงเพื่อใช้เพาะปลูกเชิงการค้า

ทุเรียน สินค้าขายดี

แหล่งปลูกทุเรียนที่สำคัญของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย มาเลเชีย ฟิลิปปินส์และตอนเหนือของออสเตรเลีย การผลิตทุเรียนในอาเซียนช่วง 10 ปี (2554-2563) อินโดนีเซียครองแชมป์การผลิตทุเรียนมากที่สุดของโลก ตามด้วยไทย มาเลเชีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แต่ทุเรียนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ส่งออกน้อยเพราะมีข้อจำกัดด้านคุณภาพและมาตรฐานการส่งออก

ก่อนหน้านี้ นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เคยวิเคราะห์แนวโน้มตลาดทุเรียนในอนาคตว่า ภายในปี 2569  ผลผลิตทุเรียนไทยแซงหน้าอินโดนีเซีย ตามมาด้วย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยในปี 2568ผลผลิตทุเรียนไทยมากเป็นอันดับ 1 (39.2%) อินโดนีเซียเป็นอันดับ 2 (30.6%)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยครองแชมป์แหล่งผลิตทุเรียนอันดับ 1 ของโลก เป็นผลมาจากการขยายพื้นที่เพาะปลูก มีการดูแลเอาใจใส่บำรุงรักษามากขึ้น สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย ทำให้มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น  โดยทุเรียนไทยมีตลาดคู่ค้าสำคัญ คือ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ผลผลิตทุเรียนเวียดนาม มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น 19.9% จำนวน 416,788 ตัน ในปี 2568 บริโภคในประเทศเพิ่ม 7.4% จำนวน 251,323 ตัน ในปี 2568 ส่งออกเพิ่ม 46 เท่า จำนวน 165,465 ตัน ในปี 2568 เทียบจากปี 2563 โดยปี 2563 มีสัดส่วนการบริโภคในประเทศ 67.4% ส่งออก 32.6% และในปี 2568 จะมีสัดส่วนการบริโภคในประเทศ 60.3% ส่งออก 39.7%

เรื่องการปลูกทุเรียน ประเทศเวียดนามนับเป็นคู่แข่งขันสำคัญที่น่าจับตามากที่สุดเพราะเวียดนามมีพรมแดนติดกับประเทศจีน ทำให้การส่งออกทุเรียนจากเวียดนามไปจีนทำได้สะดวกและรวดเร็ว ตั้งแต่ปี 2559เป็นต้นมา เกษตรในเวียดนามแห่ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองกันเป็นจำนวนมากกว่า 2  แสนไร่ โดยแหล่งปลูกทุเรียนมากที่สุดในบริเวณภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดเตี่ยนซาง จังหวัดเบ๋นแจ จังหวัดหวิงล็อง และพื้นที่ในบริเวณที่ราบสูงตะวันตก เช่น จังหวัดเลิมด่ง จังหวัดดั้กลัก

โดยเฉพาะใน อําเภอดะฮวาย (Da Huoai) จังหวัดเลิมด่ง บริเวณที่ราบสูงตะวันตกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงสําหรับการผลิตและส่งออกทุเรียนของเวียดนาม พื้นที่ดังกล่าวมีการปลูกทุเรียนมากกว่า 16,875 ไร่ ส่วนใหญ่นิยมปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทย สายพันธุ์ Do Na และสายพันธุ์ R16 โดยมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกันยายน

นอกจากนี้เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้และที่ราบสูงตะวันตกของเวียดนาม ยังนิยมเพาะปลูกทุเรียนสายพันธุ์ไทยเช่น ชะนี และก้านยาว รวมทั้งทุเรียนสายพันธุ์ท้องถิ่น เช่น สายพันธุ์ Do Na สายพันธุ์ R16 สายพันธุ์ Chuong Bo สายพันธ์ Kho qua และสายพันธุ์ Cai Mon

กระทรวงพาณิชย์ของเวียดนามคาดการณ์ว่า สามารถผลิตทุเรียนได้ไม่ต่ำกว่า 330,000 ตันต่อปี โดยแหล่งปลูกสำคัญคือ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงใต้ การบริโภคทุเรียนภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 และส่งออก ร้อยละ 60 ของปริมาณที่ปลูกได้ โดยทุเรียนส่วนใหญ่ที่วางขายในตลาดทั่วไปมาจากจังหวัดด่งนาย จังหวัดเตี่ยนซาง จังหวัดเบ๋นแจ และจังหวัดหวิงล็อง โดยผลผลิตทุเรียนส่วนใหญ่ มุ่งส่งออกประเทศจีนเป็นหลัก รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

-จับตาตลาดทุเรียนในเวียดนาม ‘คู่แข่ง’ ทุเรียนไทย https://www.bangkokbanksme.com/en/vietnamese-durian

–  ชาวสวนทุเรียนควรรู้อีก5 ปีจะเกิดอะไร ม.หอค้าชี้ตลาดจีน เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2651868

-ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนมีนาคม 2565 โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

-คู่มือ การค้าและการลงทุนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จัดทำโดยกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์

– ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ไทย ถูกใจคนต่างแดน กลุ่มพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

………………………..

ร่วมส่งเสียงเชียร์นักกีฬาไทยในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ให้สุดแรงใจ พร้อมร่วมสนุกกับแคมเปญกีฬาสุดยิ่งใหญ่’ ‘MATICHON – KHAOSOD SEA GAMES 2022’ โดยมติชน-ข่าวสด ในเครือมติชน ได้ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ถึง 26 พฤษภาคมนี้ และสามารถติดตามข่าวสารอัปเดตซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ได้ทุกสื่อในเครือมติชน ที่ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม ทั้งสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย
.