เพิ่มมูลค่า วัสดุเหลือใช้ จาก “ มะพร้าวอ่อน”

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) หรือการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว โดยศึกษาแนวทางเพิ่มมูลค่า วัสดุเหลือใช้จากมะพร้าวอ่อน เช่น ทางมะพร้าวใช้คลุมโคนต้นมะพร้าวอ่อนเพื่อเป็นปุ๋ย หรือนำไปหมักในท้องร่องเพื่อนำไปทำปุ๋ยใส่ต้นมะพร้าวในสวน สามารถช่วยลดค่าปุ๋ยได้

ขณะที่บริษัท/โรงคัดบรรจุมะพร้าวมีสิ่งเหลือใช้ เช่น เปลือก จั่น และทะลายมะพร้าว ฯลฯ นำไปใช้ถมที่ ส่วนเปลือกมะพร้าวนำไปแปรรูปเป็นใยมะพร้าวก่อนนำไปเป็นชีวมวลของโรงไฟฟ้า หรือนำขุยมะพร้าวผสมดินขาย และนำไปผลิตถ่านอัดแท่งขาย และได้น้ำส้มควันไม้ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่าน

“ปุ๋ยจากเปลือกมะพร้าว” นำเปลือกมะพร้าว/ทางมะพร้าวมาเข้าเครื่องโม่ และนำไปหมักโดยผสมมูลไก่/มูลสุกร/มูลโค หรือผสมจุลินทรีย์ พด. และ กากน้ำตาล จนได้ปุ๋ยคอกจากเปลือกมะพร้าวเพื่อนำไปใส่ในสวนหรือขายต่อ โดยมีต้นทุนการทำปุ๋ยทั่วไปเฉลี่ยตันละ 800 บาท ขายได้ตันละ 2,000 บาท มีกำไรตันละ 658 บาท มีกำไรตันละ 1,200 บาท หากวัตถุดิบมาจากแหล่งผลิตอินทรีย์ เมื่อนำไปผลิตปุ๋ยอินทรีย์ มีต้นทุนที่ตันละ 2,842 บาท ขายได้ตันละ 3,500 บาท มีผลกำไรสุทธิ ตันละ 658 บาท

ขุย/ใยมะพร้าว นำมาตากเปลือกมะพร้าว ลดความชื้นก่อนเข้าเครื่องจักรโม่เปลือกออกมาเป็นขุยเพื่อส่งขายไปผสมดินและวัสดุปลูกและใยมะพร้าวส่งขายโรงไฟฟ้าชีวมวล มีต้นทุนการแปรรูปขุยมะพร้าวตันละ 700 บาท นำไปผสมดิน ขายได้ตันละ 1,000 บาท กำไร 300 บาท ส่วนใยมะพร้าวต้นทุนผลิต ตันละ 350 บาท ราคา ขายใยมะพร้าวไปโรงไฟฟ้าชีวมวลตันละ 500 บาท ได้กำไรตันละ 150 บาท

การเผาถ่าน/น้ำส้มควันไม้ เมื่อนำจั่นมะพร้าวสดไปผึ่งลม 14 วันก่อนนำไปเผา 4-5 ชั่วโมง มีต้นทุนการผลิตกิโลกรัมละ 31.66 บาท ขายเป็นถ่านสวยงาม กิโลกรัมละ 100 บาท ถ่านที่นำไปอัดแท่งขายกิโลกรัมละ 30 บาท ยังได้ผลพลอยได้จากการเผาถ่าน คือ น้ำส้มควันไม้ขาย ขวดละ 500 ซีซี 60 บาท

การเลี้ยงสุกรหลุม เกษตรกรรับซื้อเปลือกมะพร้าวอ่อนจากโรงคัดบรรจุนำมาผสมกับแกลบใช้รองพื้นในการเลี้ยงสุกรหลุม ระยะเวลา 5 เดือน ช่วยประหยัดค่าวัสดุรองหลุมในการเลี้ยงสุกรหลุม 170.63 บาท ต่อตัว และมีผลพลอยได้จากการขายมูลสุกรหลุม กิโลกรัมละ 2 บาท หรือ 1,250 บาท ต่อตัว

ทั้งนี้ พบว่าการนำเปลือกมะพร้าวมาผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานชีวมวล แม้กำจัดเปลือกมะพร้าวได้จำนวนมากแต่ไม่สามารถจัดการกับความชื้นในการผลิตเป็นชีวมวลที่มีคุณภาพได้ ดังนั้น ทางเลือกที่เหมาะสมในระยะสั้น คือ การทำปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกมะพร้าว เพราะนำเปลือกมะพร้าวที่มีจำนวนมากไปใช้ใส่สวนมะพร้าวและได้ผลลัพธ์เป็นอย่างดี ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจพืชสวน สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร (สวศ.) โทร. 02-579-0612 ในวันและเวลาราชการ