ทุเรียนชุมพร หอม หวานมันกลมกล่อม ผลิตเป็น ทุเรียนทอด…อร่อยเด็ด เคี้ยวเพลิน

ยามนี้ หมดช่วงฤดูทุเรียนของภาคตะวันออกและภาคอีสานแล้ว ขอพาท่านผู้อ่านไปชมและชิมทุเรียนรสอร่อยกันต่อที่จังหวัดชุมพร หนึ่งในทำเลทองของการปลูกทุเรียนของพื้นที่ภาคใต้ ทุเรียนชุมพรมักจะมีผลผลิตออกเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ทุเรียนชุมพรมีรสชาติโดดเด่นถูกใจผู้ซื้อคนไทยและต่างชาติ เพราะทุเรียนชุมพรมีเนื้อเหนียวละเอียดแห้ง หอมหวาน รสชาติมันกลมกล่อม สร้างรายได้เข้าจังหวัดชุมพรไม่ต่ำกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท

แหล่งปลูกทุเรียนชุมพร

ทุเรียน เป็นไม้ผลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าไม้ผลชนิดอื่นๆ เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและส่งออก สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนอยู่แล้ว รวมทั้งเกษตรกรรายใหม่หันมาขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนมากขึ้น ประกอบกับ ผลกระทบจากวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ จูงใจให้เกษตรกรบางส่วนตัดสินใจโค่นต้นยาง และหันมาปลูกทุเรียนแทน ส่งผลทำให้พื้นที่การปลูกทุเรียนของจังหวัดชุมพรขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี

จังหวัดชุมพรจึงเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ทุกวันนี้จังหวัดชุมพรมีเนื้อที่ปลูกทุเรียนมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดจันทบุรี ในปี 2560 จังหวัดชุมพรมีเนื้อที่ปลูกทุเรียน 164,099 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 114,572 ไร่ ประมาณการผลผลิตมีจำนวน 128,894 ตัน

ทุกวันนี้ เกษตรกรชาวจังหวัดชุมพร ปลูกทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 คือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นทุเรียนพันธุ์ชะนี พันธุ์ก้านยาว และทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน ปัจจุบันทุเรียนชุมพรมีผลผลิตกระจายเข้าสู่ตลาดเกือบทั้งปี สร้างรายได้หมุนเวียนเข้าสู่ท้องถิ่น ไม่ต่ำกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท

จุดอ่อนที่หลายฝ่ายห่วงกังวลก็คือ ปัญหาการตัดทุเรียนอ่อน เนื่องจากทุเรียนชุมพรมีการออกดอกหลายรุ่นในต้นเดียวกัน เกษตรกรบางรายที่ขาดความชำนาญในการตัด อาจตัดทุเรียนอ่อนออกขายได้ ประการต่อมา ทุเรียนต้นฤดูกาลมักจะขายได้ราคาแพง อาจทำให้เกษตรกรบางรายรีบตัดทุเรียนอ่อนออกขายก่อนเพื่อทำกำไร ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและระบบเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพรในระยะยาว

โดยทั่วไปจะมีทุเรียนเข้าสู่ตลาดจำนวนมากตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม ทางจังหวัดชุมพร จึงกำหนดมาตรการควบคุมไม่ให้มีการซื้อขายทุเรียนอ่อนอย่างเด็ดขาด โดยกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบความสุกแก่ของทุเรียน โดยวิธีการอบหาเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง รวมทั้งใช้กฎหมายจัดระเบียบกับผู้ประกอบการล้งผลไม้จังหวัดชุมพรอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชเศรษฐกิจคุณภาพจังหวัดชุมพร จัดอบรมผู้ประกอบการแผงทุเรียน ติดป้ายประชาสัมพันธ์แก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ จัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยียกระดับการผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน GAP พืชทุเรียน จำนวน 114 ราย ด้วย

สวนทุเรียนต้นแบบ

ในครั้งนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสวนทวีทรัพย์ ของ คุณวีรวัฒน์ จีรวงศ์ โทร. (089) 899-1310 ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตำบลทะเลทรัพย์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ปัจจุบันสวนแห่งนี้มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 70 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทอง และที่ดินบางส่วนปลูกทุเรียนพันธุ์พวงมณีและพันธุ์ก้านยาว

คุณวีรวัฒน์ จีรวงศ์ เจ้าของสวนทวีทรัพย์

คุณวีรวัฒน์ ปลูกทุเรียนโดยใช้วิธีขุดหลุมเพาะเมล็ดเพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ทุเรียนที่มีระบบรากแข็งแรง และปลูกโดยใช้วิธีการเสียบยอด โดยเลือกใช้ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ที่มีความแข็งแรง ต้านทานโรคได้ดีเป็นต้นพันธุ์ และนำกิ่งพันธุ์ทุเรียนสายพันธุ์อื่นมาเสียบยอด ทำให้สามารถขยายพันธุ์ทุเรียนได้จำนวนมาก แถมได้ผลดีกว่าวิธีอื่น

เมื่อปีที่แล้ว คุณวีรวัฒน์มีรายได้จากการจำหน่ายทุเรียนหมอนทอง จำนวน 90 ตัน ขายผลผลิตในราคาหน้าสวนที่กิโลกรัมละ 40 บาท ทำรายได้ประมาณ 4 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่า จะมีผลผลิตทุเรียนเข้าสู่ตลาด ประมาณ 80 ตัน ตั้งราคาขายหน้าสวนที่กิโลกรัมละ 50-80 บาท คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท

ต้นทุเรียนหมอนทอง ในสวนทวีทรัพย์

นอกจากนี้ คุณวีรวัฒน์ ยังแบ่งพื้นที่อีก 100 ไร่ ปลูกปาล์มน้ำมัน และแบ่งที่ดินบางส่วนปลูกไม้ผลผสมผสาน เช่น มังคุด ส้มโชกุน ลองกอง ที่ผ่านมาคุณวีรวัฒน์ได้ลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปผลไม้ด้วยกรรมวิธีฟรีซดายน์ ขายออนไลน์ โกยรายได้หลายล้านบาทต่อเดือน

“ทุเรียนทอด”

โอท็อป 4 ดาว ของจังหวัดชุมพร 

ปัจจุบัน ทุเรียนชุมพร ถูกนำมาแปรรูปในลักษณะทุเรียนอบ ทุเรียนทอด และขนมรับประทานเล่น “แครกเกอร์ทุเรียน” ใส่บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุเรียนชุมพรได้เป็นอย่างดี ซีพี ออลล์ ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น พาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมการผลิตทุเรียนทอด “ชายน้อย” ของฝากขึ้นชื่อเมืองชุมพร ที่มีวางขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั่วประเทศ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกษตรกรจากการรับซื้อทุเรียนสดปีละ 1,000 ตัน

คุณบัญญัติ คำนูณวัฒน์ (ซ้าย) กับ คุณสุรพงษ์ ณรงค์น้อย (ขวา)

คุณบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันทั้งเซเว่น อีเลฟเว่น และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จัดจำหน่ายสินค้า เอสเอ็มอี รวมทั้งสิ้นกว่า 25,000 รายการ และมีการเพิ่มปริมาณสินค้า เอสเอ็มอี อย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เช่น ผลไม้แปรรูป เครื่องดื่ม เบเกอรี่ ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และผลิตภัณฑ์ชุดเครื่องนอน โดยเฉพาะสินค้าการเกษตรที่นำมาแปรรูปเป็นสินค้าที่น่าสนใจ และได้รับความนิยมจากประชาชนหลายรายการ เป็นการช่วยยกระดับพืชผลการเกษตรที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ทุเรียนทอดชายน้อย กรอบ อร่อย หวาน มัน

ผู้ประกอบการธุรกิจ เอสเอ็มอี รายใดที่สนใจนำสินค้ามาจำหน่ายที่ เซเว่น อีเลฟเว่น เหมือนผลไม้แปรรูปชายน้อยสามารถติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ www.cpall.co.th หรือ www.7eleven.co.th หรือติดต่อผ่านสำนักจัดซื้อของเซเว่น อีเลฟเว่น เบอร์โทรศัพท์ (02) 677-9000 นอกจากนี้ บริษัท 24 Shopping จำกัด ในกลุ่ม ซีพี ออลล์ ยังได้ทำการตลาดผ่านทเวนตี้โฟร์ แคตตาล็อก ซึ่งเป็นระบบเมลออเดอร์ที่ทันสมัย และผ่านช่องทางร้านสาขา รวมไปถึงเว็บไซต์ www.24catalog.com, www.Shopat24.com และให้บริการลูกค้าผ่าน Call Center 0-2711-7666 ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

คุณสุรพงษ์ ณรงค์น้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายน้อยฟู้ด จำกัด เจ้าของทุเรียนและกล้วยเล็บมือนางแปรรูป แบรนด์ “ชายน้อย” เล่าความเป็นมาในการทำธุรกิจว่า พื้นเพของครอบครัวเป็นคนจังหวัดชุมพร และคุณแม่ประกอบอาชีพเป็นแม่ค้าผลไม้ ไปซื้อผลไม้จากภาคต่างๆ แล้วนำมาขายที่ภาคใต้ รวมถึงรับซื้อทุเรียนแบบเหมาสวน ไปขายที่ตลาดสี่มุมเมือง กรุงเทพฯ กระทั่งปี 2545 ราคาทุเรียนตกต่ำ เหลือกิโลกรัมละไม่กี่บาท คุณแม่จึงมีความคิดว่าน่าจะนำทุเรียนมาแปรรูปเป็น “ทุเรียนทอด” ในขณะนั้นจึงได้ตัดสินใจลาออกจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนหันหลังให้กับอาชีพพนักงานขาย และกลับมาที่บ้านเกิด

ในปี 2546 คุณสุรพงษ์ มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจทุเรียนทอด ซึ่งเป็นขนมที่นำไปเป็นของฝากได้ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ มีรสชาติอร่อย เนื่องจากชุมพรเป็นจังหวัดที่มีการปลูกทุเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ และเป็นของฝากที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงทำบรรจุภัณฑ์ มีโลโก้แบรนด์บ้านทุเรียนชายน้อย และส่งร้านขายของฝาก โดยได้รวมกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชนทุเรียนบ้านชายน้อยขึ้น และสินค้าได้รับเลือกให้เป็นโอท็อป 4 ดาว จากเดิมที่ส่งสินค้าร้านขายของฝาก จังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ค่อยๆ ขยายช่องทางการจำหน่ายไปที่จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมถึงร้านขายของฝากต่างๆ

ทุเรียนทอดชายน้อยมีหลากหลายรูปแบบ

เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ตลาดขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการ SME ทุเรียนทอดจึงไม่หยุดในการมองหาช่องทางการขายใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทั่วถึง นั่นคือ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในปี 2552 ทุเรียนทอดแบรนด์ชายน้อยจึงเข้ามาวางขายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี จากนั้นไม่นานสินค้าของ SME รายนี้จึงวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทั่วประเทศ

“ทุเรียนทอดชายน้อย ขนาด 25 กรัม เป็นสินค้าชิ้นแรกที่นำเข้ามาขายในเซเว่นฯ จากนั้นได้ทำบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ผู้บริโภคสามารถซื้อไปเป็นของฝากได้ และยังได้พัฒนาทุเรียนทอดชิ้นเล็ก โดยนำมาทำเป็นเเครกเกอร์หน้าทุเรียน ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมด้านอาหาร นอกจากนี้ ยังมีสินค้ากล้วยเล็บมือนางอบแห้งแบรนด์ชายน้อยอีซี่ที่นำมาวางจำหน่ายผ่านร้านเซเว่นฯ อีกด้วย” คุณสุรพงษ์ กล่าว

ผู้ประกอบการ SME ผลไม้แปรรูปกล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจผลไม้แปรรูป แบรนด์ “ชายน้อย” ว่า ส่วนหนึ่งมาจากทีมที่มีประสบการณ์ของเซเว่น อีเลฟเว่น ที่คอยให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจ เริ่มตั้งแต่เข้ามาช่วยควบคุมดูแลการสร้างโรงงาน ดูแลสายการผลิตให้ถูกต้องได้มาตรฐาน และผลักดันให้บริษัทได้รับโอกาสในการอบรมผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับทีมงานของเซเว่น อีเลฟเว่น อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเพิ่มเติม นอกจากนี้ การเข้ามาเป็นคู่ค้ากับเซเว่น อีเลฟเว่น ทำให้ผลิตภัณฑ์ “ชายน้อย” เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทำให้โรงงานได้รับการพัฒนาเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“โรงงานของเรามีกระบวนการผลิตที่ควบคุมด้วยระบบ GMP และ HACCP ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพสูง รสชาติดีสม่ำเสมอถูกปากผู้บริโภคและปลอดภัย สำหรับวัตถุดิบที่ใช้เป็นผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบัน บริษัทได้ส่งเสริมเกษตรกรด้วยการรับซื้อผลทุเรียนสดจากเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกทุเรียน อาทิ กลุ่มเกษตรกรพันวาล กลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกทุเรียนและผลไม้ สหกรณ์การเกษตรทะเลทรัพย์ เป็นต้น โดยรับซื้อ จำนวน 1,000 ตัน ต่อปี และสามารถนำมาแปรรูปเป็นทุเรียนทอด 100 ตัน นับเป็นการช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้เกษตรกรอย่างแท้จริง ที่สำคัญช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรในท้องถิ่นมีรายได้ที่มั่นคงและอยู่ได้อย่างยั่งยืน” คุณสุรพงษ์ ณรงค์น้อย กล่าวในที่สุด