“กระเช้าเถาวัลย์” งานหัตถกรรม สร้างมูลค่า จากภูมิปัญญาชาวบ้านห้วยขะยุง เมืองอุบลฯ

การมอบกระเช้าในวาระต่างๆ ถือเป็นการแสดงออกถึงความเป็นมิตรไมตรีที่ดีต่อกันระหว่างผู้มอบและผู้รับ ไม่ว่าโอกาสนั้นจะเป็นการมอบให้เพื่อแสดงความยินดี การอวยพรปีใหม่ การเยี่ยมผู้ป่วย ฯลฯ

ปัจจุบันมีกระเช้าบางส่วนปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ผลิตจากพืชตามธรรมชาติไปเป็นวัสดุที่มีส่วนผสมจากพลาสติก ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความทนทาน ประหยัด แต่ถึงกระนั้นกระเช้าแบบเดิมที่ถูกผลิตขึ้นจากวัสดุทางธรรมชาติก็ยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย เนื่องจากมีความสวยงาม ประณีต และดูมีคุณค่า

“เถาวัลย์” มักเป็นพืชที่คนคิดว่าชอบรุกราน แล้วสร้างความรกรุงรังให้แก่ป่าเขา แต่แท้จริงแล้วชาวบ้านได้นำเถาวัลย์มาใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตด้วยการนำเถาวัลย์มาถักสานเป็นของใช้ อย่างตะกร้า ของประดับตกแต่ง เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและขายเป็นสินค้าสร้างรายได้

ต้นเถาวัลย์ที่เพิ่งตัดมาจากในป่า

อย่างในจังหวัดอุบลราชธานี มีชาวบ้านตำบลห้วยขะยุง อำเภอวารินชำราบ ชวนกันมาตั้งเป็นกลุ่มเถาวัลย์เพื่อผลิตเป็นกระเช้าเถาวัลย์ส่งขายตามจังหวัดใหญ่สร้างรายได้ นับเป็นกระเช้าจากวัสดุทางธรรมชาติที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้จริง

คุณสุเทพ ศิริกุล บ้านเลขที่ 126 หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยขะยุง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นชาวบ้านอีกท่านที่ยึดอาชีพผลิตกระเช้าเถาวัลย์ส่งขายมานานกว่า 20 ปี

แต่ก่อนจะเข้าสู่อาชีพทำผลิตกระเช้าเถาวัลย์นั้น คุณสุเทพจะรับจ้างตัดเถาวัลย์ใส่รถบรรทุก 10 ล้อ ไปส่งที่ราชบุรี ถ้าบรรทุกเต็มคันจะมีรายได้เที่ยวละ 80,000 บาท ขณะเดียวกัน พอเห็นชาวโพธารามสานเถาวัลย์เป็นกระเช้าจึงเกิดความสนใจ กระทั่งได้มีโอกาสฝึกกับผู้เชี่ยวชาญจนทำได้

(จากซ้าย)คุณสุเทพ ศิริกุล ,ภรรยา และเกษตรอำเภอวารินชำราบ

จากนั้นเริ่มจากประดิษฐ์เป็นกระเช้าดอกไม้ขนาดเล็ก แล้วส่งขายตามร้านดอกไม้และผลไม้ในเขตจังหวัดอุบลราชธานีก่อน ภายหลังจากพัฒนาฝีมือจนเกิดความชำนาญแล้วจึงมีการประยุกต์ผลงานให้ออกมาในหลายรูปแบบ แล้วเพิ่มช่องทางจำหน่ายออกไปยังจังหวัดอื่น รวมทั้งในกรุงเทพฯ ที่เป็นแหล่งจำหน่ายหลักสำคัญในขณะนี้

คุณสุเทพ บอกว่า ชาวบ้านที่ตัดเถาวัลย์มาส่งมักจะตัดแถวอำเภอน้ำเกลี้ยง หรืออำเภอศรีรัช มาส่งให้คิดราคากิโลกรัมละ 35 บาท โดยไปหาตามป่า มักมีอยู่ตามธารน้ำ ห้วย บึง ทั้งนี้ ถ้าเป็นพื้นที่แถวอุบลราชธานีจะเป็นแถวริมห้วยขะยุง ริมแม่น้ำมูล ริมแม่น้ำชี ซึ่งแต่ละปีคนเหล่านี้จะมีรายได้เป็นแสนบาท โดยเถาวัลย์จะนำมาส่งทุกสัปดาห์ในปริมาณ 200 กิโลกรัม ต่อราย โดยคุณสุเทพจะรับซื้อเป็นจำนวนคราวละหมื่นกว่าบาท

การผลิตกระเช้าเถาวัลย์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนการทำโครง กับส่วนการจักสาน คุณสุเทพ เผยว่า ไม้ที่ใช้เป็นพันธุ์ไม้ป่าท้องถิ่นที่ชาวบ้านคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นฝ้ายน้ำ, ผีพ่วน, ห้วยน้อยและเสียว (หรือต้นเสียวที่มักขึ้นตามริมคันนา)

เถาวัลย์เส้นที่สั่งมาไว้ใช้งาน

ที่บ้านคุณสุเทพจะผลิตกระเช้าเถาวัลย์แบบครบวงจร คือตั้งแต่ทำโครง แล้วนำเถาวัลย์มาสาน จัดการเคลือบด้วยสีตามธรรมชาติหรือแล็กเกอร์ แล้วนำไปส่งขายในกรุงเทพฯ ฉะนั้น จึงมีชาวบ้านบางส่วนรับโครงกระเช้าจากคุณสุเทพเพื่อไปสานอย่างเดียว

การนำไม้แต่ละชนิดมาทำเป็นโครงกระเช้าจะต้องดูความเหมาะสม ทั้งขนาด ความแข็งแรง รวมถึงความสวยงามด้วย ดังนั้น อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้เป็นหลัก ได้แก่ เครื่องยิงตะปู ปั๊มลม และคีมตัดกิ่งไม้ที่ใช้ภูมิปัญญาออกแบบสำหรับใช้งานเฉพาะ จึงมีความสะดวกสามารถตัดกิ่งไม้เป็นชิ้นตามขนาดก่อนการขึ้นรูปได้จำนวนกว่าหมื่นชิ้น จึงทำให้การประกอบโครงเกิดความรวดเร็ว อีกทั้งมีความยาวของไม้ชิ้นส่วนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สวยงามเวลาประกอบขึ้นรูปเป็นกระเช้า

ก่อนใช้งานควรแช่เถาวัลย์เส้นเพื่อให้อ่อน ทำให้สะดวกต่อการสานและพัน

สำหรับเถาวัลย์ที่นำมาดัด ถัก หรือพัน ให้เป็นชิ้นงาน แล้วมีลวดลายต่างๆ จะต้องนำไปแช่ไว้ในน้ำก่อนอย่างน้อย 20 นาที เพื่อให้เกิดความอ่อน นิ่ม มีความสะดวกและง่ายในขณะที่สานหรือดัดตามโครงที่ขึ้นรูปไว้

ไม้ท่อนที่ใช้ทำโครงกระเช้า

อย่างไรก็ตาม กระเช้าที่ผลิตเสร็จทุกขั้นตอนแล้วทุกชิ้นจะต้องนำไปต้มน้ำประมาณ 3-5 นาที เพื่อฆ่ามอด หลังจากนั้น นำมาลงสีหรือเคลือบเงาตามที่ต้องการ ทั้งนี้ น้ำต้มกระเช้าที่เป็นสีดำมาจากยางไม้ยังนำกลับมาใช้ย้อมกระเช้าเพื่อให้เป็นสีธรรมชาติได้อีก

การผลิตกระเช้าเถาวัลย์ที่บ้านคุณสุเทพ ใช้คนงานเพียง 3 คน แยกหน้าที่กัน สามารถผลิตได้กว่า 30 ชุด ต่อวัน (1 ชุด มีขนาดเล็ก 1 ใบ/ใหญ่ 1 ใบ) ซึ่งปริมาณงานจะผลิตตามออเดอร์ โดยถ้าเป็นช่วงปกติจะผลิตทุก 10 วัน ส่งครั้งละ 100 ชุด เพื่อส่งร้านในกรุงเทพฯ ที่ว่าจ้างสั่งทำ แล้วร้านนี้จะตกแต่งกระเช้าเพื่อขายส่งต่อให้แก่ร้านค้าหรือตามห้างในช่วงเทศกาล

ที่ตัดกิ่งไม้ท่อน ใช้ปัญญาประยุกต์เพื่อทำให้งานสะดวก รวดเร็ว

“ช่วงที่งานเร่งมากคือหน้าฝน ทั้งๆ ที่ทำงานยากที่สุด หรือโดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม เป็นช่วง 4 เดือนที่สำคัญมาก หากสามารถผลิตได้หลายหมื่นชุด ลูกค้ารับซื้อหมดเนื่องจากผู้สั่งทำต้องการนำกระเช้าไปเตรียมจัดเป็นกระเช้าสำเร็จรูปไว้ขายในช่วงปีใหม่”

ด้านราคาขายส่ง เจ้าของผลิตภัณฑ์แจงว่า เป็นการตกลงรับซื้อกันเป็นชุดเท่านั้น ไม่ได้ขายแบ่ง มีลักษณะตกลงแบบจ้างเหมา กำหนดราคาขายเป็นชุด มี 150 และ 120 บาท แล้วแต่ขนาดหรือคละกันได้ แต่ในกรณีที่ลูกค้าต้องการไม่มากจะขายปลีกโดยกำหนดราคาตามขนาด เช่น ถ้าเป็นขนาดเล็กราคา 70 บาท กลาง 80 บาท และใหญ่ 90 บาท

สนใจสั่งซื้อกระเช้าเถาวัลย์สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณสุเทพ ศิริกุล โทรศัพท์ (099) 772-1913