ชาวสวนยางใต้ร้องเพิ่มการใช้ยางในประเทศ มจพ.เผยผลวิจัยใช้สารเคมีผสมน้ำยางสดทำถนนได้ทันที

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ศาลาประชาคมหมู่บ้านเบื้องแบบ หมู่ 3 ต.บ้านทำเนียบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้และสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.)ได้จัดเสวนา “ทางเลือก ทางรอด ชาวสวนยางไทย” ประกอบด้วยนายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย นายบุญส่ง นับทอง เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.)และนายภูวนาท โง้วสุวรรณ ฝ่ายการตลาด คลินิกนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยมีนายสมปราชญ์ วุฒิจันทร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี ดำเนินการอภิปราย และมีประชาชนจำนวนหนึ่งร่วมรับฟัง

นายภูวนาท กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้คิดค้นสารเคมีตัวหนึ่งมาพัฒนายางพาราทำเป็นถนนยางพาราซีเมนต์ โดยใช้ส่วนผสม3อย่างมีสารเคมีกับน้ำยางพาราและดินหรือปูน ซึ่งสามารถนำน้ำยางสดมาทำถนนที่หน้างานได้ทันที โดยถนนกว้าง 6 เมตร ยาว 1,000 เมตร หนา 15 ซ.ม.ใช้น้ำยางสด 12,000 กิโลกรัมหรือยางแห้ง 4 ตันต่อกิโลเมตร จะเป็นการปรับปรุงถนนลูกรังเดิมได้ให้มีความแข็งคล้ายปูนแต่มีความยืดหยุ่นแข็งแรงทนต่อการกัดเซาะของน้ำและเป็นถนนปลอดจากฝุ่นไม่แฉะ

“ตัวถนนที่ว่านี้ใช้ได้หมดทุกยางพาราทั้งน้ำยางสด น้ำยางข้น ยางแห้ง แต่มหาวิทยาลัยเน้นใช้น้ำยางสดเพื่อซื้อผลผลิตจากชาวบ้านไปทำถนนได้ประโยชน์โดยตรง จึงเป็นการนำน้ำยางไปใช้ได้มากขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยตารางเมตรละ 250 บาทหรืองบประมาณก่อสร้างกิโลเมตรละ 1.5 ล้านบาท ซึ่งวันนี้ยางราคาไม่สูงถ้านำมาใช้ในประเทศจะทำให้ปริมาณยางส่วนเกินจะลดลงและทำให้ราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางนำยางพารามาใช้ในประเทศมากขึ้นจึงเป็นแนวทางเดียวกัน ” นายภูวนาท กล่าว

นายถนอมเกียรติ กล่าวว่า การนำยางออกไปใช้จริงจากการคิดค้นของนักวิชาการนำไปผสมยางมะตอยทำถนนได้ ตรงนี้เป็นประเด็นที่ผ่านมายังไม่มีรัฐบาลไหนคิดทำทั้งที่ได้คิดมาตั้งแต่ปี2545 โดยที่ อบจ.ตรัง มีแผนนำยางไปทำถนน 126 กิโลเมตร ใน 3 ปี มีต้นทุนตารางเมตรละ 400 กว่าบาทสูงกว่ายางมะตอยที่ 270-300 บาท แต่ความคงทน 3 ปียังเหมือนเดิม ซึ่ง อบจ.สงขลา ได้นำไปทำเช่นกันและ อบจ.นครศรีธรรมราช กำลังดำเนินการ

“ซึ่งการนำน้ำยางไปทำถนนในหมู่บ้าน ถนนทางหลวงทำได้หมด ซึ่งทำอย่างไรให้รัฐบาลเห็นความสำคัญ และอย่าเอาเรื่องราคามาเป็นประเด็น โดยที่ผ่านมาทราบว่าอยากให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 มาแก้ไข โดยชาวสวนยางจะให้ 70,000 กว่าหมู่บ้านขึ้นป้ายไวนิลขอให้นายกรัฐมนตรีนำยางพารามาทำถนน เชื่อว่าจะทำให้ราคากระเตื้องขึ้น” นายถนอมเกียรติ กล่าว

นายบุญส่ง กล่าวว่า ประเด็นอยู่ที่จะทำอย่างไรจะนำยางพาราออกไปใช้ให้มาก ถ้า 70,000 หมู่บ้านในประเทศนำยางพาราไปทำถนนหมู่บ้านละ 1 กิโลเมตรจะใช้ปริมาณยางมหาศาลถึงประมาณ 3 แสนตัน ถ้ารัฐบาลประกาศวันนี้จะนำยางไปใช้ทำถนน 70,000 กิโลเมตร เชื่อว่าจะมีผลทางจิตวิทยาให้ราคายางสูงขึ้นได้

“ราคายางที่ผ่านมาเป็นความเจ็บปวดของเกษตรกร เมื่องานวิจัยนักวิชาการคิดค้นแล้วเกิดคำถามทำไมไม่ทำหรือติดตรงไหน จึงอยากขอให้ใช้มาตรา 44 มาแก้ปัญหาเพื่อหาทางออก ซึ่งการประชุมเมื่อวันที่ 19 ก.ค.60ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพเรื่องการใช้ยางพาราทั้งหมดของทุกหน่วยงานทั้งการแปรรูปทำถนนด้วย อย่างไรขอให้เกษตรกรอย่าไปคาดหวังกับราคาทั้งยางและปาล์ม เพราะการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยง ควรหันมาปลูกพืชผสมผสานขุดสระเลี้ยงสัตว์และปลูกไม้ยืนต้น ”นายบุญส่ง กล่าว

นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า วิธีการหาทางออกยางพาราให้ราคาขึ้นที่ผ่านมาไม่รู้ติดขัดระเบียบตรงไหน แต่เห็นปัญหาเรื่องการทำเหมืองการทำปิโตรเลียมที่ติดขัดนายกรัฐมนตรียังออกมาตรา 44 ให้แก้ไขได้ ถ้าชาวสวนยางทุกตำบลทำหนังสือตำบลละ 1 ฉบับขอให้ใช้มาตรา 44 จะได้หรือไม่ ที่ผ่านมาการใช้มาตรา 44 ไม่เห็นจะกลัวอะไร ทำไมจึงจะมาใช้กับยางพาราไม่ได้

“ถ้าประกาศใช้มาตร 44 เอายางไปใช้ในประเทศมากขึ้นเชื่อว่าจะทำให้ราคาขึ้น ฉะนั้นควรทำอย่างไรให้เกษตรชาวสวนยางอยู่ในจุดที่หายใจได้ ขณะนี้เครือข่ายกำลังเจรจากับกรมป่าไม้ทำเป็นป่าเศรษฐกิจให้คนอยู่กับป่าได้ โดยกำหนดลดจำนวนต้นยาง 77 ต้นต่อไร่ โดยมีเงื่อนไงให้คนที่อยู่ในพื้นที่ป่าปลูกต้นไม้ยืนต้นจากสวนยางให้เป็นป่ายาง ด้วยการลดปลูกยางเหลือ 59 ต้นและปลูกไม้อื่น 44 ต้น ” นายสุนทร กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปราย สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้และสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.)ได้ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ 1)ให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์สามารถลงทะเบียนเกษตรกรได้ 2)ให้รัฐบาลเข้าใจการมีสวนยางพารามากไม่ได้ทำให้ราคาตกต่ำจนมีนโยบายโค่นยาง แต่เกิดจากการตลาดยางที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากระบบผูกขาดและมีอำนาจเหนือองค์กรรัฐโดยพ่อค้ากระดาษ(ตลาดล่วงหน้า

3)ให้ พรบ.การยางแห่งประเทศไทย ช่วยเหลือสวัสดิการแก่เกษตรกรอย่างทั่วถึง 4) สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ สนับสนุนแนวทางการทำสวนยางอย่างยั่งยืน โดยเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่ายางหรือป่าเศรษฐกิจ โดยปลูกพืชร่วมกับยางและทำเกษตรแบบผสมผสาน 5)สมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ สนับสนุนการเรียกร้องชาวสวนยางให้การเพิ่มเปอร์เซ็นต์การใช้ยางในประเทศและควบคุมตลาดให้ได้ในฐานะผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก