“ปลาร้า” ทรงเครื่องมาตรฐานตีตลาดโลก

น้ำปลาร้า

มกอช. เสริมแกร่งสินค้า “ปลาร้า”  ยกเครื่องมาตรฐานการผลิต สร้างความเชื่อมั่นคุณภาพ มุ่งใช้อ้างอิงการซื้อขาย หนุนส่งออกตลาดโลกยอมรับ ชี้ศักยภาพไทยผลิตได้ถึง 40,000 ตัน/ปี มูลค่าเกือบ 900 ล้านบาท

นายพิศาล  พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปลาร้าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่คนไทยนิยมบริโภคอย่างแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตปลาร้าขยายตัวเติบโตขึ้นจากระดับครัวเรือนหรือธุรกิจขนาดเล็ก เป็นการผลิตขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยมีปริมาณการผลิตสูงถึง 40,000 ตัน/ปี มีมูลค่าตลาดในประเทศรวมปีละกว่า 800 ล้านบาท ขณะเดียวกันไทยยังมีการส่งออกปลาร้าไปต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา และประเทศที่มีคนเอเชียไปอาศัยอยู่จำนวนมาก ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มตะวันออกลาง มูลค่าการส่งออกปลาร้าของไทยรวมกว่า 20 ล้านบาท/ปี ซึ่งปริมาณและมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไทยยังไม่มีเกณฑ์กำหนดคุณภาพที่เป็นมาตรฐานสำหรับใช้อ้างอิงการซื้อขายปลาร้า  ประกอบกับการรวมตัวเป็นกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการค้าขายอย่างเสรี จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานคุณภาพสินค้าที่เป็นที่ยอมรับ มกอช. จึงร่วมกับกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง “ปลาร้า” ขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตปลาร้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยได้มาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังสามารถใช้มาตรฐานฯ ดังกล่าวเป็นเครื่องมืออ้างอิงในการค้าทั้งในประเทศและการส่งออก ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศส่งผลต่อการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ปลาร้าของไทยให้เติบโตขึ้น

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

นายพิศาลกล่าวอีกว่า ปลาร้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักปลากับเกลือ เติมรำข้าว หรือรำข้าวคั่ว และ/หรือข้าวคั่ว ในอัตราส่วนและระยะเวลาการหมักที่เหมาะสม เพื่อให้ได้กลิ่นรสที่มีลักษณะเฉพาะของปลาร้า ก่อนบรรจุในภาชนะบรรจุ ที่สามารถป้องกันการปนเปื้อนได้ โดยสาระสำคัญของมาตรฐานฯ ดังกล่าว มีข้อกำหนดเกณฑ์คุณภาพ ได้แก่ ลักษณะทั่วไป สี กลิ่น และรสชาติ ทั้งยังกำหนดปริมาณเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) ในปลาร้า ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 โดยน้ำหนัก ซึ่งเป็นปริมาณที่สามารถยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรคได้ นอกจากนั้น ยังต้องไม่พบตัวอ่อนพยาธิตัวจี๊ด และตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับ และต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น เส้นผม ดิน ทราย กรวด  รวมถึงแมลง มอด ชิ้นส่วนของแมลง ขนสัตว์ และสิ่งปฏิกูล เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังได้กำหนดเกี่ยวกับวัตถุเจือปนอาหารในปลาร้า เช่น ห้ามใช้สีและวัตถุกันเสียทุกชนิด ข้อกำหนดสารปนเปื้อน อาทิ  ปริมาณสูงสุดของสารตะกั่ว ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สารหนูในรูปอนินทรีย์ ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสารปรอท ต่ำกว่า 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   ทั้งยังมีข้อกำหนดด้านสุขลักษณะ ปริมาณจุลินทรีย์ ภาชนะบรรจุ  การบรรจุ การแสดงฉลาก รวมถึงการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานด้วย

“ที่ผ่านมา มกอช. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างมาตรฐานฯ ปลาร้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง เพื่อนำข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาปรับปรุงร่างมาตรฐานฯ ให้ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ และอยู่ในแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ พร้อมประชาสัมพันธ์มาตรฐานฯ ปลาร้าให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการรับทราบ เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมและปรับตัวก่อนที่มาตรฐานจะประกาศใช้ต่อไป ซึ่งขณะนี้ มกอช. อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดร่างมาตรฐานฯ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรให้พิจารณาเห็นชอบ คาดว่า จะสามารถประกาศใช้เป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศได้ภายในปลายปี 2560 นี้” นายพิศาล กล่าว