แปรรูปผลไม้เพื่อการส่งออก… ผลไม้ในถุงรีทอร์ต บรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุอาหารเพื่อฆ่าเชื้อ

การผลักดันและช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตเข้มแข็ง โดยหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนผลิตภัณฑ์โอท็อป (OTOP), SMEs ในรูปแบบนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะผลผลิตภาคเกษตรที่ประเทศไทยได้ชื่อว่า “ครัวโลก” และ “เมืองผลไม้” หากเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ได้มีการนำผลไม้มาแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นอกจากจะช่วยให้ผลผลิตที่ราคาตกต่ำหรือถูกปล่อยทิ้งให้เน่าเสียได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่ม ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย ที่ผ่านมาเกษตรกรบางกลุ่ม บางราย สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) โดนใจผู้บริโภค มีตลาดรองรับทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ เปลี่ยนและยกระดับสถานะเป็นผู้ประกอบการแถวหน้าของจังหวัดหรือระดับประเทศไปจำนวนมาก ซึ่งการเผยแพร่งานวิจัย “การแปรรูปผลไม้เพื่อการส่งออก” ของอาจารย์วรรณดี มหรรณพกุล กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับกลุ่มเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน ชุมชนที่จังหวัดตราดเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเผยแพร่งานวิจัยที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้จากผลผลิตผลไม้

งานวิจัยการแปรรูป ผลไม้เพื่อการส่งออก… ผลิตภัณฑ์ขายได้

คุณวรรณดี มหรรณพกุล หรือ “อาจารย์วรรณดี” นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นนักวิจัยคนหนึ่งที่มีผลงานสามารถนำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้ ตั้งแต่ปี 2552 จากผลงานวิจัยต้นแบบอาหารไทยสำเร็จรูปคือ ข้าวแกงและขนมไทยสำเร็จรูปบรรจุในถุงรีทอร์ต (Retort Pouches) และนำเสนอในงาน Thailand Research Expo 2009 ต่อมาได้วิจัยพัฒนาต่อยอด คือการผลิตผลไม้ทั่วๆ ไป ในน้ำเชื่อมบรรจุถุงรีทอร์ต เช่น ทุเรียน เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ลองกอง และน้ำกะทิทุเรียนสำเร็จรูป และปี 2557 ได้นำเสนอผลงานวิจัยนี้ ในงาน “แสดงผลงานวิจัยในงานวันนักประดิษฐ์” กระบวนการผลิตนี้เป็นการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพและการบรรจุถุงรีทอร์ตนี้ ช่วยลดปัญหาการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทดีบุกหรือตะกั่วจากการบรรจุผลไม้กระป๋อง สามารถยืดอายุการเก็บโดยธรรมชาติได้ยาวนานเป็นปี เป็นนวัตกรรมใหม่ให้ผู้ประกอบการมองเห็นช่องทางการตลาด พัฒนาแนวทางผลิตสินค้าโอท็อป (OTOP) หรือธุรกิจ SMEs พัฒนาการผลิตเป็นระบบอุตสาหกรรมนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้

คณะทีมงาน อาจารย์วรรณดี มหรรณพกุล

“ประเทศไทย เรามีผลไม้หลากหลายชนิดหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี ช่วงที่ผลผลิตออกมาก ราคาตกต่ำ เกษตรกรขายได้ราคาไม่คุ้มทุน บางครั้งปล่อยทิ้ง การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปจะช่วยเพิ่มมูลค่าเป็นห่วงโซ่มูลค่า (value chain) ทำให้เกษตรกรมีรายได้ สร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง หากนำเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับภาคการผลิตในวิสาหกิจชุมชนเพิ่มขีดความสามารถให้ผลิตภัณฑ์  โอท็อป และ SMEs ซึ่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ทำให้มีรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องผลิตอาหารได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน GMP” อาจารย์วรรณดี กล่าวถึงการต่อยอดผลงานวิจัย

คุณชัยวัฒน์ ปริ่มผล-อาจารย์วรรณดี มหรรณพกุล

ผลิตภัณฑ์ผลไม้ในน้ำเชื่อม บรรจุถุงรีทอร์ต… แยมมังคุด แยมเงาะ ซอสสับปะรด

อาจารย์วรรณดี อธิบายถึง “ถุงรีทอร์ต” (Retort Pouches) ว่า เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุอาหารเพื่อฆ่าเชื้อ ประกอบด้วยแผ่นฟิล์ม 3 ชั้น ผนึกแน่น ชั้นนอกเป็นโพลีเอสเตอร์ทนความร้อน แข็งแรง ใช้พิมพ์ข้อความได้ ชั้นกลางเป็นอะลูมิเนียมฟอยล์ มีคุณสมบัติช่วยรักษาคุณภาพอาหารได้ดี ช่วยป้องกันการซึมผ่านของออกซิเจนและความชื้น ชั้นในเป็นแผ่นฟิล์มพลาสติกโพลีเอทิลีน สามารถทนความร้อนได้ไม่ต่ำกว่า 121 องศาเซลเซียส สูงถึง 132 องศาเซลเซียส การส่งผ่านความร้อนเข้าไปในอาหารในขั้นตอนการให้ความร้อนเพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์ ความร้อนจะกระจายได้ทั่วถึงและเร็วกว่าการบรรจุกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ผลไม้ หรืออาหาร จึงมีคุณภาพดีทั้งในด้าน สี กลิ่น รส การนำถุงรีทอร์ตมาใช้แทนกระป๋องดีบุกมีสมรรถนะทนความร้อนเช่นเดียวกับกระป๋อง ฆ่าเชื้อและเก็บไว้ได้นานโดยไม่เปลี่ยนสีเป็นสีดำ หรือสีน้ำตาล และสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิปกตินานถึง 1 ปี ที่สำคัญยังช่วยการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะย่อยสลายง่ายกว่ากระป๋อง และคุณภาพของผลไม้ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารดีบุก สารตะกั่ว จากกระป๋อง ด้วยคุณสมบัติของถุง รีทอร์ตจึงสามารถใช้ทดแทนการบรรจุกระป๋องและเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

“ปี 2559 ได้เผยแพร่งานวิจัยนี้ไปแล้วหลายแห่ง เช่น ที่เพชรบูรณ์ ทำมะขามบรรจุถุงรีทอร์ต ทางภาคใต้ จังหวัดชุมพรเป็นผลไม้เช่นเดียวกับภาคตะวันออก และปี 2560 มีแผนเผยแพร่ในภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี และตราด ที่จันทบุรีได้อบรม DurianSnack ค. คูปองวิทย์ฯ ให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเขาบายศรี (ป้าแกลบ) การอบรมเผยแพร่งานวิจัยเทคโนโลยีแปรรูปผลไม้ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก การอบรมฝึกปฏิบัติทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลายประเภท นอกจากผลไม้เงาะ สะละ ทุเรียน ในน้ำเชื่อมบรรจุถุงรีทอร์ตแล้ว มีการทำน้ำกะทิทุเรียนสำเร็จรูปที่สามารถบริโภคเป็นน้ำกะทิข้าวเหนียวทุเรียน การทำแยมมังคุด แยมเงาะ การทำซอสพริกผสมผลไม้ (สับปะรด  มะม่วง กระท้อน)” อาจารย์วรรณดี กล่าว

 

กลุ่มผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์โอท็อป แม่บ้านภาคเอกชนขานรับ…

คุณชัยวัฒน์ ปริ่มผล เจ้าของสวนผลไม้ผลอำไพ และผู้จัดการ บริษัท ผลอำไพ ฟรุตตี้ไทย จำกัด อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด กล่าวว่า การเผยแพร่องค์ความรู้ของงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์ เป็นประโยชน์กับเกษตรกรและผู้ประกอบการโอท็อป กลุ่ม SMEs หรือแม้แต่กลุ่มสตาร์ทอัพ ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพราะได้เรียนรู้ ฝึกกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีในท้องถิ่นจำนวนมาก มองเห็นโอกาสช่องทางการตลาด จากเดิม เงาะ ทุเรียน มังคุด สับปะรด ที่บางครั้งต้องปล่อยสุกงอมเน่าเสียทิ้ง ขายได้ราคาถูกๆ หากนำมาแปรรูปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า และยังพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์เป็นทางเลือกให้เกษตรกรอีกด้วย

ทุเรียนลวกเตรียมใส่น้ำเชื่อม

“ปัจจุบัน มีสวนผลไม้ มังคุด ทุเรียน สับปะรด ส่วน บริษัท ผลอำไพ ฟรุตตี้ไทย จำกัด ทำผลิตภัณฑ์โอท็อปแปรรูปผลไม้อบแห้ง ทุเรียน สับปะรด ขนุน และทำแกงส้มสำเร็จรูปบรรจุในซองสุญญากาศ เห็นว่าผลิตภัณฑ์แปรรูปทุกชนิดที่อาจารย์วรรณดี มาให้ความรู้น่าสนใจและช่วยเพิ่มมูลค่าได้ทั้งหมด เช่น เงาะในน้ำเชื่อมบรรจุในถุงรีทอร์ต น้ำหนักเงาะ 180-190 กรัม น่าจะจำหน่ายตลาดในประเทศ ได้ถุงละ 40-50 บาท หากส่งออก น่าจะได้ถุงละ 140-150 บาท จากราคาต้นทุนเงาะ กิโลกรัมละ 15 บาท ต้นทุนถุงละประมาณ 10 บาท แต่ทั้งนี้ต้องมีมาตรฐาน GMP รับรอง ระยะแรกคิดว่าจะทำแยมมังคุด แยมเงาะก่อน เพราะมีวัตถุดิบจำนวนมากและคาดว่าตลาดจะให้การตอบรับดี และอาจจะจัดเป็นกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวมาได้เรียนรู้ หรือซื้อเป็นของฝาก เนื่องจากสวนผลอำไพเป็นสวนผลไม้ ที่สำนักงาน ททท. ตราด ได้ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย” คุณชัยวัฒน์ กล่าว

ทุเรียนสุกห่าม
มีดกว้าน

ทางด้านกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จำนวน 15-20 คน ที่เข้ารับการอบรม ส่วนใหญ่มีสวนผลไม้ ทุเรียน เงาะ มังคุด กล่าวในทำนองเดียวกันว่า สนใจการแปรรูปผลไม้ เพื่อจะทำเป็นผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว กลุ่มที่ทำแปรรูปผลไม้อยู่แล้ว เช่น สะละลอยแก้ว ทุเรียนกวน มะม่วงกวน ทุเรียนเชื่อม เมื่อได้มาอบรมได้เทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ๆ มีแนวทางที่จะพัฒนาคุณภาพสู่มาตรฐาน GMP และมุ่งหวังที่จะสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง…น่ายินดีที่อาจารย์วรรณดี มหรรณพกุล ได้นำงานวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ มาเผยแพร่ให้เกษตรกรได้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง…เพื่อสร้างโอกาสในเชิงพาณิชย์

สนใจสอบถามรายละเอียดขอรับคำแนะนำ อาจารย์วรรณดี มหรรณพกุล โทร. (089) 203-8950