“เซรามิกลำปาง” วูบเหลือพันล้าน ตั้งสหกรณ์ลดต้นทุน-บุกตลาด

อุตฯเซรามิกลำปางยอดร่วงต่อเนื่อง มูลค่าตลาดเหลือเพียงพันกว่าล้าน ตลาดในประเทศหดตัวหนัก 70-80% ผู้ประกอบการดิ้นสู้รุกเปิดตลาด CLMV พร้อมจับมือกันตั้งกลุ่มเซราคลัสเตอร์-สหกรณ์ หวังช่วยแก้ปัญหาการตลาด-ขาดแคลนแรงงานฝีมือ-ลดต้นทุนการผลิต เล็งใช้แขนกลในอนาคต เดินหน้าจัดงานลำปางเซรามิกแฟร์ 1-11 ธ.ค. 60

นายชัยณรงค์ จุมภู นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง จ.ลำปาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันจังหวัดลำปางมีโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ประมาณ 200-300 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรืออุตสาหกรรมครัวเรือน ส่วนโรงงานขนาดใหญ่มีเพียง 20 กว่าโรงเท่านั้น ทั้งนี้เพราะโมเดลของจังหวัดลำปางเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ปิดตัวลง ส่งผลให้บุคลากรที่เคยทำงานภายในออกไปเป็นผู้ประกอบการเองโดยการเปิดโรงงานขนาดเล็ก

โดยจังหวัดลำปางมีผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเกือบ 10 ประเภท ได้แก่ กระเบื้องเซรามิก ของชำร่วย ของที่ระลึก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องประดับ เตาอโรมา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของตกแต่งบ้านและสวน ลูกกรง ลูกถ้วยไฟฟ้า และเครื่องดนตรี

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมเซรามิกของจังหวัดลำปางในปัจจุบัน แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30% ซึ่งขณะนี้การส่งออกไปตลาดต่างประเทศยังคงเท่า ๆ เดิม เพิ่งกลับมา

ปรับตัว – ปัจจุบันอุตสาหกรรมเซรามิก จ.ลำปาง ยอดจำหน่ายเหลือเพียง 1,000 กว่าล้าน ล่าสุดสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง จ.ลำปาง ได้จัดตั้งสหกรณ์เซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมลำปาง จำกัด ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าขาย ช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิตให้ถูกลง และทำการตลาดให้กว้างขึ้น

นายชัยณรงค์กล่าวต่อว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์เซรามิกปี 2559 หายไปกว่าครึ่ง ลดลงมาเหลือเพียง 1,000 กว่าล้านบาท จากเดิมที่เคยทำได้สูงสุด 3,000 กว่าล้านบาทต่อปี ขณะนี้จึงพยายามทำตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) มากขึ้น เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้มีความสนใจผลิตภัณฑ์เซรามิกของลำปางอย่างมาก เช่น มีเอเย่นต์จากเมียนมาเข้ามารับซื้อที่ลำปางจำนวนมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ขนาดเล็ก อาทิ ลูกกรงเซรามิก ดังนั้นจึงต้องพยายามสร้างการรับรู้ให้กลุ่ม CLMV มารับซื้อสินค้าโดยตรงจากผู้ประกอบการไทยให้มากขึ้น โดยที่ผ่านมาทางสมาคมได้พาผู้ประกอบการไปดูตลาดประเทศเพื่อนบ้านมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ในจังหวัดลำปางจะมีแรงงานราว 3 หมื่นคน แต่ยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ ซึ่งสมาคมก็พยายามช่วยเหลือตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงมหาวิทยาลัย โดยให้ทุนการศึกษา และช่วยเหลือด้านวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการศึกษาดูงาน อีกทั้งยังได้ทำเอ็มโอยูกับเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกทุกสาขากับสถาบันการศึกษาในภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏต่าง ๆ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายเล็กยังประสบปัญหาการจัดการและต้นทุนการผลิต จึงได้จัดหลักสูตรต่าง ๆ ให้สมาชิก เช่น การเงิน/บัญชี และต้นทุนการผลิต รวมถึงในอนาคตจะมีการอบรมการค้าขายออนไลน์ เช่น การสร้างเพจ เว็บไซต์ ขณะเดียวกันได้รวมกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กจัดตั้งกลุ่มเซราคลัสเตอร์ขึ้น เพื่อให้สมาชิกได้รู้จักกัน สร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาการเลียนแบบและตัดราคาซึ่งกันและกัน รวมถึงเพื่อรวมตัวกันซื้อวัตถุดิบเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง และเมื่อไปออกงานแสดงสินค้าหรือโรดโชว์จะได้ไปเป็นกลุ่มและดูยิ่งใหญ่

“อุตสาหกรรมเซรามิกมีปัญหาเยอะตั้งแต่ต้นทาง เช่น ตอนนี้สัมปทานแร่ของลำปางหลายรายหมดไปแล้ว และไม่สามารถต่อได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และหากดินขาว ซึ่งเป็นวัสดุหลักในการผลิตเซรามิกลำปาง ได้หมดไป เราจะใช้อะไร จึงต้องหานวัตกรรมหรือคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดพลังงาน”

นายชัยณรงค์กล่าวอีกว่า สมาคมยังได้จัดตั้งสหกรณ์เซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมลำปาง จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 โดยเกิดจากการรวมตัวของ 5 องค์กรหลักในจังหวัดลำปาง ได้แก่ สมาคมเครื่องปั้นดินเผา สมาคมไม้ สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (AT SMEs) สมาคมเหมืองแร่ และกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าขาย การช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิตให้ถูกลง และทำการตลาดให้กว้างขึ้น

ในเบื้องต้นจำกัดสมาชิกแค่ 30 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมทุน โดยปี 2560 นี้ จะเริ่มจากด้านการตลาด ส่วนปีต่อ ๆ ไปจะดำเนินการในเรื่องวัตถุดิบ แรงงาน และพลังงาน รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เช่น แขนกล หรือมีโรงเตากลาง หรือมีแหล่งดินกลางให้สมาชิกใช้ร่วมกัน โดยจะเน้นการผลิตให้น้อยลง แต่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น

ทั้งนี้ มองว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเซรามิกของลำปางจะทรง ๆ ไปจนถึงกลางปี 2561 ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเซรามิกให้มากกว่านี้ เช่น เงินกู้พิเศษผ่านสหกรณ์เซรามิกและหัตถอุตสาหกรรมลำปาง จำกัด เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ รวมทั้งให้สัมปทานเหมืองแร่ต้นน้ำ

สำหรับการจัดงานลำปางเซรามิกแฟร์ จะมีขึ้นในวันที่ 1-11 ธันวาคม 2560 ที่ห้างเซ็นทรัล ลำปาง โดยภายในงานสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เซรามิกมากกว่า 200 บูท และมีการแมตชิ่งธุรกิจกับผู้ประกอบการอีกด้วย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์