กรมปศุสัตว์ หนุนปศุสัตว์เขต 4 ขับเคลื่อน “ปศุสัตว์ OK” ผนึกกำลังเถ้าแก่เล็กฯ CP pork shop “11 จังหวัด 119 เถ้าแก่เล็ก” สร้างเครือข่ายอาหารปลอดภัยสู่ภาคอีสานตอนบน

(จ.ขอนแก่น) รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมกับปศุสัตว์เขต 4 มอบป้ายปศุสัตว์ OK ในโครงการ “11 จังหวัด 119 เถ้าแก่เล็ก ก้าวใหม่ จุดจำหน่ายเนื้อสุกร มาตรฐานปศุสัตว์ OK ” แก่ผู้ประกอบการเถ้าแก่เล็กเนื้อหมูตู้เย็นชุมชน (CP Pork shop) ที่จับมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ พัฒนาจุดจำหน่ายเนื้อหมูปลอดภัยจากกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานส่งตรงถึงผู้บริโภคในชุมชน

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะโฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า “ปศุสัตว์ OK” เป็นโครงการที่มุ่งสร้างมาตรฐานการผลิตสัตว์ทั้งระบบ โดยมีจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะเป็นปลายน้ำก่อนไปสู่ผู้บริโภค ร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้รับสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK จะมีการเฝ้าระวังสารตกค้าง ได้แก่ สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมนเร่งโต และตรวจสอบจุลินทรีย์ที่จุดจำหน่ายเป็นประจำ ขณะเดียวกันกรมฯ ยังส่งเสริมให้เก็บเนื้อสัตว์รอจำหน่ายในตู้แช่เย็นเพื่อคงคุณค่าผลิตภัณฑ์จนถึงมือผู้บริโภค จึงช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าสินค้าที่เลือกซื้อมีคุณภาพมาตรฐาน สด สะอาด ปลอดภัย ปลอดสาร สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิต

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์เร่งสร้างมาตรฐานการผลิตสัตว์ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำที่การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มที่ได้มาตรฐานกรมปศุสัตว์ ปีนี้กรมฯตั้งเป้าพัฒนาฟาร์มเลี้ยงสัตว์เข้าสู่มาตรฐานGAP เพิ่มขึ้นทั้งฟาร์มโคนม โคเนื้อ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง เป็ดเนื้อ และสุกร เมื่อได้สัตว์ที่มีสุขภาพดีและผ่านการตรวจรับรองจากสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มว่าปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะและสารตกค้าง จึงจะนำเข้าเชือดชำแหละในโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย ที่ผ่านมากรมฯเร่งปราบปรามโรงฆ่าสัตว์เถื่อน ควบคู่ไปกับการผลักดันโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่เข้าสู่มาตรฐานGMP ภายในปี 2562

“กรมปศุสัตว์ต้องการเร่งส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายที่ทำดีมีมาตรฐานอยู่แล้ว ได้มีโอกาสขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อมาตรฐานปศุสัตว์ OK โดยปีนี้จะมุ่งขยายการรับรองไปยังผู้ประกอบการทั้งร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ในตลาดสด และผู้จำหน่ายในลักษณะตู้หมูชุมชนดังเช่นเถ้าแก่เล็กฯทั้ง 119 ราย โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้เกิดการตื่นตัวในการยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยในเขตภาคอีสานตอนบน ที่เป็นต้นแบบให้เกิดการพัฒนาไปยังภูมิภาคอื่นต่อไป และขณะนี้เถ้าแก่เล็กทุกจังหวัดทั่วไทยได้นำมาตรฐานไปปรับใช้และขอการรับรองอย่างต่อเนื่อง” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว

ด้าน นายสุรัตน์ กีรติหัตถยากร รองกรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมีนโยบายเพื่อยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัย หรือ Food safety ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสายธุรกิจสุกรเดินหน้า 3 โครงการนำร่องตามมาตรฐานปศุสัตว์ OK ในทุกส่วนการผลิตที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการผนึกกำลังระหว่างกรมปศุสัตว์ ซีพีเอฟ เกษตรกรและผู้ประกอบการเถ้าแก่เล็กฯ เพื่อร่วมกัน ยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยทั้งระบบแก่ผู้บริโภคเขตภาคอีสานตอนบน ภายในปี 2560 ประกอบด้วย โครงการยกระดับมาตรฐานการจัดการฟาร์ม สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการคอนแทรคฟาร์มรับฝากเลี้ยงสุกรกับซีพีเอฟ ด้วยมาตรฐานฟาร์ม GAP ของกรมปศุสัตว์, โครงการยกระดับมาตรฐานโรงฆ่าสัตว์ ด้วยระบบการปฏิบัติงานที่ดี GMP โรงชำแหละสุกร และโครงการยกระดับมาตรฐานจุดจำหน่ายเนื้อสุกร ตามมาตรฐานปศุสัตว์OK โดยร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดพัฒนาจุดจำหน่ายทุกจังหวัดในเขตภาคอีสานตอนบน ส่วนกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการอบรมให้ความรู้ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการเถ้าแก่เล็กฯ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโครงการฝากเลี้ยงฯ และพนักงานในโรงชำแหละมาตรฐาน โดยมีรวมผู้ร่วมงานกว่า 200 คน เพื่อให้ทุกคนทราบถึงเป้าหมายที่มีร่วมกันคือการสร้างอาหารปลอดภัยเพื่อผู้บริโภค

“ขอขอบคุณกรมปศุสัตว์และปศุสัตว์จังหวัดทั้ง 11 จังหวัด ที่ได้มอบป้ายมาตรฐานแก่ผู้ประกอบการเถ้าแก่เล็กฯ 119 รายนำร่องพื้นที่ภาคอีสานตอนบนในครั้งนี้ ถือเป็นขวัญและกำลังใจให้ผู้ประกอบการและบริษัทที่จะร่วมกันก้าวสู่มาตรฐานจุดจำหน่ายอย่างยั่งยืน โดยบริษัทตั้งเป้าหมายส่งเสริมให้เถ้าแก่เล็กฯได้รับมาตรฐานปศุสัตว์ OK เพิ่มเป็นมากกว่า 300 จุดภายในปี 2561” นายสุรัตน์ กล่าว

ส่วน นางดวงแข ปราบพาล ตัวแทนเถ้าแก่เล็กฯ กล่าวว่า ก่อนจะมาเป็นเถ้าแก่เล็กฯ ตนเองขายผักและของชำในตลาดชุมชนอยู่แล้วและมีแนวคิดจะทำร้านค้าของชำเป็นหลักแหล่ง และต้องการขายสินค้าให้ครบทั้งของสดของแห้ง เมื่อเห็นโครงการเถ้าแก่เล็กเนื้อหมูตู้เย็นชุมชนของซีพีเอฟก็สนใจ เพราะทราบอยู่แล้วว่าหมูซีพีแตกต่างจากหมูทั่วไป คือมีความสด สะอาด มีตราสัญลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ ผู้บริโภคทั่วไปข้าราชการพนักงานภาครัฐมองเห็นสัญลักษณซีพีก็มีความมั่นใจมากขึ้น

“เมื่อตัดสินใจเป็นเถ้าแก่เล็กเพื่อนบ้านต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับชาวชุมชน ไม่ต้องไปซื้อในตลาดสดในเมืองที่อยู่ไกลจากชุมชนเหมือนเมื่อก่อน และยังสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา การจัดเก็บก็ดีกว่าตลาดสดทั่วไปเพราะเก็บเนื้อหมูไว้ในตู้แช่เย็นตลอดเวลา เมื่อนำไปปรุงอาหารก็มีรสชาติอร่อยและยังคงความสด ยิ่งร้านได้การรับรองปศุสัตว์ OK ก็ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและมียอดขายดีขึ้นไปอีก” นางดวงแข กล่าว./