ตลาดขนมแปลก ชุมชนบ้านหนองบัว มีขายเกือบ 100 ชนิด ที่เมืองจันท์

ตลาด “ขนมแปลกชุมชนบ้านหนองบัว” ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เริ่มเปิดตลาดนัดวันเสาร์-อาทิตย์ มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 เพียงระยะเวลาเกือบ 1 ปี ตลาดนัดได้เติบโตและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพราะเสน่ห์ของตลาดที่มีอัตลักษณ์โดนใจทั้งขนม อาหารอร่อย ของดีหายาก ราคาถูก แหล่งชุมชนโบราณมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และกิจกรรมนั่งเรือชมธรรมชาติ

เริ่มจากสารพัดขนมหวาน อาหารพื้นเมืองโบราณ หารับประทานยาก อาคารบ้านเรือนแบบโบราณในชุมชนที่สะอาดตา ยังคงอนุรักษ์ความสวยงามสภาพเดิมๆ โดยเฉพาะบ้านเลขที่ 38 สร้างเมื่อประมาณ ปี 2447 สมัยรัชกาลที่ 5 อายุราว 113 ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2557 ประเภทเคหสถานและบ้านเรือนเอกชน ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม รวมทั้งความมีอัธยาศัยไมตรีของชาวบ้าน และยามเย็นหากไม่รีบกลับยังมีบริการล่องเรือชมธรรมชาติป่าชายเลน นกเหยี่ยวแดง ให้รื่นรมย์อีกด้วย

บริเวณที่จัดตลาด “ขนมแปลกชุมชนบ้านหนองบัว” ใช้พื้นที่ตลาดชุมชนเดิมที่มีถนน 4 สาย ตัดมาเชื่อมกันเป็นศูนย์กลางบริเวณสี่แยก สองฟากถนนที่เป็นพื้นที่ขายของระยะทางรวมประมาณ 800-1,000 เมตร ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นขนมไทยพื้นบ้านโบราณที่หารับประทานยาก น่าจะเกือบ 100 ชนิด เช่น ข้าวเหนียวเหลือง ข้าวเหนียวหัวหงอก ขนมถ้วย ขนมเปียกปูน ทองม้วนสด ขนมล่าเตียง ที่ขึ้นชื่อ ขนมควยลิง ขนมต้ม นั่งทำไปขายไป ให้เห็นขั้นตอนกันชัดๆ อาหารพื้นบ้าน แกงเป็ดกะลา แกงหมูป่ากะลา แกงหมูชะมวง ห่อหมกย่าง ก๋วยเตี๋ยวผัดปู แม้กระทั่งร้านก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่ทำเอง

ผลไม้ตามฤดูกาล มังคุด เงาะ กระท้อน ทุเรียนกวน และมีของพื้นเมือง น้ำตาลอ้อย กุ้งแห้ง 3 แดด ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์ หรือแม้แต่อาหาร ขนมโบราณที่นำมาประยุกต์เพิ่มความสวยงาม อย่างเช่น หมี่กรอบรูปตุ๊กตา ความคึกคักของตลาดแห่งนี้เริ่มกันทุกเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 9 โมงเช้า จรด 5 โมงเย็น ผู้มาเยือนจะเพลิดเพลินกับร้านรวงของชาวบ้านตั้งขายเต็มสองฟากถนนเกือบ 100 ราย เฉลี่ยมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยววันละ 2,000 คน มีเงินหมุนเวียนวันละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท สร้างรายได้ให้ชาวบ้านที่ทำการค้าขายกันคนละตั้งแต่ 1,000-6,000 บาท ต่อวัน

 

ขนมพื้นบ้านของแปลก มากกว่า 100 ชนิด

คุณทองทศ มหามนตรี ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 จันทบุรี และที่ปรึกษาร้านวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองบัว เล่าถึงที่มาของตลาด “ชุมชนขนมแปลก ริมคลอง หนองบัว” ว่า บ้านหนองบัวเดิมเคยเป็นชุมชนมากว่า 100 ปีแล้ว ชาวบ้านดั้งเดิมมีอาชีพทำประมงพื้นบ้านและทำพลอย ต่อมารัฐบาลมีกฎหมายห้ามทำการประมงเครื่องมือบางประเภท เช่น โพงพาง ชาวบ้านไม่รู้จะทำอาชีพอะไรดี เมื่อ คุณอภิรดี ศิริวิจิตรกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจันทบุรีในขณะนั้น เป็นคนในท้องถิ่นเห็นว่า ชุมชนบ้านหนองบัวเป็นแหล่งรวมขนมโบราณอร่อยเกือบ 100 ชนิด สภาพดั้งเดิมของชาวบ้านยังคงสภาพเดิม ทั้งวิถีชีวิต อาคารบ้านเรือน สภาพพื้นที่ติดป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ มีฝูงนกเหยี่ยวแดง หากเปิดเป็นตลาดท่องเที่ยวชุมชนให้นักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยว น่าจะสร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้ รวมทั้งชาวประมงสามารถปรับเปลี่ยนอาชีพประมง เป็นการบริการนักท่องเที่ยวชมป่าชายเลน ดูฝูงนกเหยี่ยวแดง

(จากซ้ายไปขวา) คุณรัตนธร คุณทองทศ และคุณฐานิตา

“เริ่มต้นจากการพูดคุยกับผู้นำในชุมชนในภูมิลำเนาดั้งเดิม อาทิ คุณฐานิตา สรรพคุณ หรือ เจ๊นุช เจ้าตำรับขนมอร่อย ข้าวเหนียวเหลือง ห่อหมก และ คุณรัตนธร เขาหนองบัว หรือ “คุณตุ๊” นักสื่อสารมวลชนคนในท้องถิ่น ครั้งแรกของบประมาณจากอำเภอ 300,000 บาท จัดงานครั้งแรกเดือนสิงหาคม 2559 ใช้ชื่องาน ชุมชนขนมแปลก ริมคลองหนองบัว มีน้องๆ จิตอาสา สำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 จันทบุรี สำนักงานการท่องเที่ยวจังหวัด จังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี มาช่วยกัน”

“ตอนนั้นมีร้านค้ามาร่วม 15 ร้าน ขนมมาขาย 10 กว่าอย่าง เพราะกลัวว่าจะขายไม่ได้ จากนั้นเดือนกันยายน เราจัดเป็นงานใหญ่ 3 วัน มีคนมาเดินเที่ยวนับ 10,000 คน จึงเห็นว่าตลาดนี้สามารถเติบโตได้ จึงทำประชาสัมพันธ์ด้วยโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก เพจ รายการวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และเริ่มจัดเป็นตลาดนัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นประจำเรื่อยมา ปัจจุบันเกือบครบ 1 ปีแล้ว นักท่องเที่ยวมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางคนมาซ้ำ เพราะชาวบ้านที่นี่มีอัธยาศัยดี รวมทั้งอาหาร ขนมโบราณที่หารับประทานยาก รสชาติอร่อย ราคาไม่แพง มีกิจกรรมท่องเที่ยวหลากหลาย นั่งเรือชมธรรมชาติป่าชายเลน นกเหยี่ยวแดง หากชื่นชมประวัติศาสตร์มีบ้านเลขที่ 38 เป็นบ้านเก่าในอดีตอายุกว่า 100 ปีที่ยังคงอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเดิมๆ ไว้อย่างสมบูรณ์”

 

สร้างแบรนด์ วิสาหกิจชุมชนบ้านหนองบัว ของดี ราคาถูก

คุณทองทศ เล่าถึงการบริหารจัดการร้านค้าในตลาดว่า เป้าหมายคือการสร้างแบรนด์ “ร้านวิสาหกิจชุมชนบ้านหนองบัว” ให้เป็นแบรนด์ที่มีคุณภาพ ร้านค้าที่จะเข้ามาขายของมีกติกาง่ายๆ คือ

  1. ลงทะเบียนเป็นสมาชิก วิสาหกิจชุมชนขนมแปลก ริมคลองหนองบัว โดยเสียค่าธรรมเนียมเสาร์-อาทิตย์ละ 20 บาท เพื่อเป็นกองทุนในการบริหารจัดการ เช่น ค่าเครื่องที่ใช้ประชาสัมพันธ์ในงาน ค่าเก็บขยะ ค่าบริการร่ม และการบริการจราจร รวมทั้งจัดเป็นกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกด้วย
  2. อาหาร ขนมที่นำมาขาย ต้องเป็นของดี ของอร่อยในท้องถิ่น สะอาด ราคาไม่แพง ถ้าเป็นชนิดเดียวกันห้ามเกิน 2 ร้าน และ
  3. มีการันตีแบรนด์คุณภาพ หากเป็นขนม อาหารที่มีกะทิ หากรสชาติบูดเสีย ร้านค้าต้องรับคืน หรือถ้าเป็นนักท่องเที่ยวแจ้งชื่อที่อยู่มาจะโอนเงินคืนให้

การรวมตัวกันเป็นร้านวิสาหกิจชุมชน เหนือสิ่งใดคือความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การบริหารจะมีคณะกรรมการดำเนินงานมาจากผู้แทนในชุมชน คุณรัตนธร เป็นประธาน ส่วนคุณฐานิตา เป็นรองประธาน และช่วยขับเคลื่อนสอนสมาชิกในชุมชนทำอาหารและขนม คณะกรรมการแกนนำจะประชุมกันหลังมีตลาดนัดทุกครั้ง ส่วนสมาชิกแม่ค้าในตลาดประชุมกันเดือนละครั้งเพื่อรับฟังปัญหา

“ส่วนเทศบาลตำบลหนองบัว หน่วยราชการจะเป็นที่ปรึกษาและเข้ามาช่วยสิ่งที่ชุมชนต้องการ ตลาดที่เติบโตมาได้ทุกวันนี้เพราะเกิดจากความต้องการของชุมชนและการบริหารจัดการโดยชุมชนและเพื่อชุมชน ทุกคนยอมรับกติกาเงื่อนไข สมาชิกร้านวิสาหกิจชุมชนตอนนี้เรามีเกือบ 100 ราย แผนงานที่จะทำต่อไปตั้งเป้าหมายให้ชุมชนมีสติ๊กเกอร์แบรนด์สินค้าของตัวเองเพื่อรับรองคุณภาพให้ลูกค้าคืนได้ ที่สำคัญคือการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมให้แม่ค้าในตลาดใช้ภาชนะบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย” คุณทองทศ กล่าว

 

ถนนคนเดิน ชุมชนอนุรักษ์บ้านเก่า ชมบ้านเก่า อายุ 113 ปี

ตามประวัติบ้านเลขที่ 38 บันทึกไว้สรุปได้ว่า เป็นบ้านไม้โบราณ 2 ชั้น สร้างประมาณ พ.ศ. 2447 สมัยรัชกาลที่ 5 โดย นายตั้ง ชิวไหล เชื้อชาติ สัญชาติจีน สมรสกับ นางใจ๋ หรือ จ๋าย บัวเผื่อน ชาวสวนจันทบูร

บ้านหลังนี้ เป็นที่พักอาศัยและที่ทำการค้าขายของครอบครัว ชื่อ ร้านจิวหลี แปลว่า รุ่งเรืองพานิช มีสินค้าอุปโภค บริโภคจำหน่ายจำนวนมาก หลายชนิด ทั้งข้าวสาร กะปิ น้ำปลา น้ำอ้อย เสื่อจันทบูร ชามตราไก่ กระเพาะปลา รังนก หวีไม้ และอื่นๆ ในอดีตตลาดหนองบัวเป็นตลาดใหญ่

ลักษณะบ้านหลังคาหน้าจั่ว ปลูกติดกับแนวขนานกับถนน โครงสร้างบ้านเป็นไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงกระเบื้องว่าว ช่องลมมีลายฉลุ ชั้นล่างแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ที่ตั้งรูป ป้ายบูชาบรรพบุรุษ และห้องนอน 2 ห้อง ชั้นสองเป็นพื้นโล่งๆ ใช้เก็บสินค้า มีช่องทะลุระหว่างชั้นบนชั้นล่างเพื่อส่งถ่ายสินค้า และมีประตูบานเฟี้ยมเปิดออกไปที่ระเบียงด้านนอก โครงสร้างใช้เทคนิคชั้นสูง ใช้เดือยไม้ยึดเสา ใช้คานไม้สอดระหว่างเสา ไม้พื้นกว้างอย่างน้อยขนาด 12 นิ้ว ใช้เดือยไม้ยึดแทนตะปู และใช้สลักในการยึดการปิด-เปิดประตู ภายในบ้านมีตู้โบราณใช้เก็บสินค้าจำหน่าย ปัจจุบันคงสภาพเดิมตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของวัสดุมุงหลังคาเท่านั้น

คุณพรพิมล สืบวงษ์รุ่ง หรือ ป้าอุ๋ย ผู้ดูแลบ้านเลขที่ 38 เล่าว่า ปัจจุบันบ้านหลังนี้เจ้าของเป็นทายาทรุ่นที่ 4 คือ คุณลัญจกร หิโตปกรณ์ อายุ 55 ปี ทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จะกลับมาเยี่ยมบ้านทุกเดือน ได้ดูแลอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ทางสมาคมสถาปนิกสยามได้เสนอให้รับรางวัล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2557 ประเภทเคหสถานและบ้านเรือนเอกชน

เจ้าของบ้านยินดีที่จะเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวชื่นชมความสวยงามทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ภายในบ้านมีตู้โบราณใส่สิ่งของสภาพยังคงเดิม จะเปลี่ยนเฉพาะหลังคากระเบื้องว่าวที่ผุพังไป ต้องเปลี่ยนมาใช้กระเบื้องลอนแทน และที่เปลี่ยนแปลงไปมากคือ เมื่อมีการสร้างถนนใหม่ระดับประตูบ้านจะอยู่ต่ำกว่าถนน บานประตูหน้าบ้านส่วนหนึ่งจะเปิดไม่ได้

ท้ายสุดแนะนำนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาตลาด “ขนมแปลกชุมชนบ้านหนองบัว” หากเพลิดเพลินกับตลาดอาหาร ขนมพื้นบ้าน และใช้เวลาซึบซับกับบ้านเลขที่ 38 อาจจะลืมไปว่าได้เวลาแดดร่มลมตกประมาณ 4 โมงเย็น มีโปรแกรมที่ไม่ควรพลาด ล่องเรือชมป่าชายเลนและดูนกเหยี่ยวแดงมาโฉบเฉี่ยวหาอาหาร ราคาท่านละ 40 บาท ใช้เวลา 20-25 นาที หรือท่านอาจจะเลือกกลับมาเที่ยวอีกหลายครั้ง ชุมชนบ้านหนองบัวยินดีต้อนรับ

สนใจสอบถาม คุณทองทศ มหามนตรี โทรศัพท์ (081) 830-3336 หรือ คุณรัตนธร เขาหนองบัว โทรศัพท์ (081) 761-6034

ขนมควยลิง และขนมต้ม ของยายลิ
น้องหญิง นักศึกษา ปวช. วิทยาลัยเทคนิคตราด แม่ค้าวัยรุ่น
ล่าเตียง
ของดี ของหายาก
ขนมโบราณหายาก
คุณสังวรณ์ น้อยมี เจ้าของสูตรแกงเป็ดกะลา
ห่อหมกปู