หอมกลิ่นกาแฟอินทรีย์ 9ภูสูงเชียงราย เกี่ยวก้อยโกอินเตอร์

กลิ่นหอมของกาแฟบนภูสูงจากจังหวัดเชียงรายตลบอบอวลไปทั่ว ดึงดูดให้ผู้ที่ผ่านไปมาแวะเข้าไปเยี่ยมชมบูธจัดแสดงกาแฟและชาอินทรีย์ ณ บริเวณลานน้ำตก ด้านหน้าศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์

ไม่เพียงงาน “อาเซียน คอฟฟี่ & ที 2017” ที่นำพาให้ลูกค้าขาจรได้รู้จักกับเสน่ห์ของกาแฟอาราบิก้าที่หอมแรง รสชาติเข้มข้นเต็มอิ่ม งานนี้ยังพาผู้ประกอบการกาแฟทั้งในและต่างประเทศได้เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งการลงนามความร่วมมือทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการด้านกาแฟ และเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอินทรีย์บน 9 ดอยในจังหวัดเชียงราย

ไม่แปลกที่เมื่อเอ่ยถึง “กาแฟ” นัยน์ตาของเกษตรกรบนพื้นที่ภูสูงเหล่านั้นจะเป็นประกาย เพราะนั่นหมายความว่าผลผลิตจากดอยสูง จากหยาดเหงื่อแรงงานที่พวกเขาพากเพียรดูแลเอาใจใส่มาตลอดกว่า 3 ปี มีตลาดรับซื้อแน่นอน ด้วยราคาที่เป็นธรรม

ที่สำคัญคือ การหมายถึงสภาพแวดล้อมทั้งดิน-น้ำ-อากาศที่ดีขึ้น ป่าฟื้นคืนกลับมาทีละน้อย ไม่มีสารเคมีจากยาฆ่าแมลงปนเปื้อนลงในน้ำที่ถูกฝนชะไหลลงสู่แหล่งน้ำพื้นราบ เพราะเป็นกาแฟอินทรีย์ที่เติบโตขึ้นท่ามกลางธรรมชาติของป่าบนดอยสูง

“ป่าดีขึ้นมาก จากที่เคยเป็นเขาหัวโล้นเพราะการถางพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว วันนี้เราได้พื้นที่ป่าคืนกลับมาพอสมควร” พ.ต.ท.กิตติคุณ ช่างเขียน ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ในจังหวัดเชียงราย บอกและว่า

“โดยเฉพาะที่ อำเภอเชียงของ โดยบ้านกิ่วกาญจน์กิ่วดอยหลวง บ้านม่วงกาญจน์ บ้านพนาสวรรค์ ลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปเกือบ 80% ตอนนี้เหลือปลูกเพียงนิดหน่อยสำหรับเป็นอาหารหมูอาหารไก่ที่ตนเองเลี้ยง

ส่วนที่ภูชมเดือน ดอยผาตั้ง อำเภอเวียงแก่น ก็สามารถลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปประมาณ 60-70%”

สานต่องานที่ “พ่อ” สร้าง

ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศยังสั่นไหวราวกับระลอกคลื่น จำนวนผู้มีรายได้น้อยทะลุ 14 ล้านคน และการมีใบปริญญาอยู่ในมือไม่ได้เป็นสิ่งรับรองว่าจะทำให้มีรายได้สูงเสมอไป

แม้กระทั่งแม่ค้าส้มตำ-อาหารขวัญใจของคนทุกระดับชั้น ยังปาดเหงื่อบ่นว่าลูกค้าน้อยลงไปถนัดตา

แต่ที่จังหวัดเชียงราย เมืองที่มีกาแฟเป็นยุทธศาสตร์ ชาวภูสูงดวงตาเป็นประกายด้วยผลผลิตของพวกเขาวันนี้ก้าวมาจนถึงระดับที่มีตลาดรับซื้ออย่างแน่นอน

พ่อเล่ากั๋ว-พ.ต.ท.กิตติคุณ ช่างเขียน

เบื้องหลังของความสำเร็จอีกก้าวของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอินทรีย์ จังหวัดเชียงราย พ.ต.ท.กิตติคุณ ซึ่งหมวกอีกใบเป็นผู้อยู่เบื้องหลังส่งเสริมชนกลุ่มน้อยในการผลิตกาแฟ “ภูชมเดือน” หนึ่งในแบรนด์กาแฟที่มีฐานการผลิตที่ภูชมเดือน เล่าว่า ได้รับเชิญจากทางเกษตรจังหวัดเชียงรายให้นำกาแฟมาจัดแสดงที่เอ็มควอเทียร์ งานเปิดตัวกาแฟของจังหวัดเชียงราย

“ส่วนใหญ่ที่มาเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไม่ว่าจะเป็นดอยช้าง บ้านปางขอน บ้านร่มเย็น บ้านใหม่พัฒนา ฯลฯ มาทั้งหมด 9 ดอย ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 1,000 เมตรขึ้นไป เป็นกลุ่มผู้ปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่า” และเล่าย้อนกลับไปว่า

ที่จังหวัดเชียงรายเริ่มต้นปลูกกาแฟเมื่อประมาณกว่า 30 ปีก่อน ตั้งแต่ พ.ศ.2528 ที่ดอยช้าง เนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแนวคิดกับกลุ่มเกษตรให้ปลูกกาแฟแทนฝิ่น และต่อมามีขยายการปลูกกาแฟไปยังดอยตุงในปี 2532 เมื่อคราวสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จมาประทับอยู่ที่จังหวัดเชียงราย

ปัจจุบันกาแฟจากเชียงรายได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานวันนี้เป็นการ “สานต่องานที่พ่อสร้าง”

ไม่เพียงเป็นการแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น ยังแก้ปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งส่งผลต่อพี่น้องบนที่สูง และที่ราบด้วย เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงมีการตัดไม้ทำลายป่า ขณะที่กาแฟเป็นพืชที่ต้องการร่มเงา

ฉะนั้นในพื้นที่ที่เป็นเขาหัวโล้นเมื่อจะปลูกกาแฟจึงต้องเริ่มจากการปลูกพืชให้ร่มเงาเสียก่อน ซึ่ง พ.ต.ท.กิตติคุณบอกว่า การส่งเสริมให้ปลูกไม้ผล จะแนะนำให้ปลูกพืชหลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน อย่างน้อยก็ 4-5 ชนิด เพื่อป้องกันการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง

“เราจะส่งเสริมการปลูกไม้ผลตามที่เกษตรกรอยากจะปลูก เช่น บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200-1,300 เมตร จะเป็นอะโวคาโด พลับ ฯลฯ ถ้าต่ำลงมาเป็นมะม่วงโชคอนันต์ เงาะ เป็นต้น โดยประสานกับเกษตรในพื้นที่หรือโครงการหลวง เพื่อหากล้าไปส่งเสริมชาวบ้าน รวมทั้งให้ความรู้ในการปลูก”

เมื่อพอมีร่มเงาจึงปลูกกาแฟแซมเข้าไปได้ เช่น ที่ดอยภูชมเดือน ซึ่งอยู่ระหว่างดอยผาตั้งและภูชี้ฟ้า เหมาะแก่การปลูกกาแฟอินทรีย์มาก เนื่องจากในอดีตที่นี่เป็นพื้นที่สีชมพู มีหมู่บ้านชาวเขา มีการตัดไม้ทำลายป่า หลังจากที่มีการเข้าไปส่งเสริมด้านการเกษตร ทำให้ปัจจุบันสีเขียวของป่าคืนกลับมา มีชาวเขาเข้าไปปลูกต้นไม้และช่วยกันดูแลพื้นที่ไม่ให้มีการตัดต้นไม้อีก

อนาคต “ชาวเขา” อนาคต “ชาวเรา”

พ.ต.ท.กิตติคุณบอกอีกว่า นอกจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์กาแฟอินทรีย์เชียงราย งานนี้ยังมีการเซ็นสัญญาระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟกับเกษตรกรจาก 9 ดอยในจังหวัดเชียงราย รับซื้อผลผลิตจากดอยทั้ง 9 ฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าผลผลิตจะล้นตลาด เพราะเรามีคู่ค้า ไม่ว่าจะแบล็กแคนยอน ดอยช้าง ฯลฯ ซึ่งดอยช้างเองก็มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นที่ต้องการของยุโรปและเอเชียด้วย โดยเฉพาะในประเทศเกาหลี

เชียงรายจึงเป็นเมืองที่มีกาแฟเป็นยุทธศาสตร์ ซึ่งไม่เพียงผู้ประกอบการภายในประเทศ ตลอด 3 วันของการจัดงานยังมีผู้ค้าจากต่างประเทศให้ความสนใจมีเข้ามาติดต่อ ทั้งจากดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เกาหลี และทางยุโรปด้วย เราเป็นการรวมกลุ่มกัน เฉพาะที่ภูชมเดือนเรามีกำลังการผลิต 50 ตันต่อปี (กะลา) ซึ่งผู้ค้าบางรายก็ต้องการไม่มาก เดือนละ 200-300 กิโลกรัม

“ตอนนี้เป็นความหวังของพี่น้องชาวดอย กาแฟเป็นชีวิตและความหวังของเขา เชื่อว่าจะทำให้เขาทุ่มเทกับกาแฟของเขา เท่ากับว่าลดปัญหาเรื่องยาเสพติด และยังเป็นการประกันรายได้กาแฟของพี่น้องชาวเขาว่า 1,000 ต้น ต่อ 100,000 บาทต่อปี”

ฉะนั้น ถ้าครอบครัวไหนอยากมีรายได้ 500,000 บาทต่อปี ก็ปลูกกาแฟ ไม่ต้องมาก แค่ 5,000 ต้น

กาแฟเก็บผลผลิตได้ปีละครั้ง แต่เก็บได้นาน จากเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เพราะกาแฟค่อยๆ สุก จึงมีรายได้ทุกวันตลอดครึ่งปี ต่างจากการปลูกข้าวโพด ซึ่งชาวบ้านปลูก 3 เดือนจะมีรายได้แค่วันเดียววันที่เอาข้าวโพดไปขาย

ในแง่ของการส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกรนั้น ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่า ในจังหวัดเชียงราย บอกว่า เราทำกันเป็นเครือข่ายทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเกษตรที่ราบสูง จังหวัดเชียงราย มูลนิธิสายใยแผ่นดิน รวมทั้งผมก็ประสานงานกันตลอด ไปอบรมให้กับเกษตรกรที่เป็นแกนนำทุกปี มีปัญหาอะไรก็จะเข้าไปช่วยเหลือแก้ไข

เพราะเราอยากให้ยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเอง ประการสำคัญคือเราได้ธรรมชาติกลับคืนมา

ความสุขที่คืนมาพร้อมกับสีเขียวของป่า

เดินสำรวจพื้นที่จัดแสดงงานโดยรอบสักพัก สังเกตเห็นม้งร่างเล็กผู้หนึ่ง ยืนหลบมุมเฝ้ามองกิจกรรมภายในงานอย่างเงียบๆ

พ่อเล่ากั๋ว (หว่ากั๋ว) หรือ วัฒนา ปรีดีพจนา อายุ 77 ปี ปราชญ์ชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร เป็นประธานกลุ่มสมุนไพรที่ใช้บ้านตนเอง ที่บ้านห้วยหาญ เป็นศูนย์ให้ข้อมูลความรู้ รวมทั้งรักษาโรคด้วยสมุนไพร

ขณะเดียวกันพ่อก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เข้ารับการอบรมเกษตรอินทรีย์รักษาป่าและนำความรู้ที่ได้มาปลูกกาแฟอินทรีย์ บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ที่ภูชมเดือน

“ผมมีกลุ่มสมุนไพร อยู่ 30 กว่าคนที่เป็นสมาชิก และผมมีตู้อบสมุนไพรไล่สารพิษ เพราะชาวบ้านเมื่อก่อนไม่มีความรู้ ปลูกข้าวโพดก็ใช้สารพิษ พอไปตรวจร่างกายก็พบว่ามีสารพิษในกระแสเลือด ปู่ของผมจึงค้นหาสมุนไพรมาให้อบเพื่อขับไล่สารพิษออกจากร่างกาย ผมเองก็ได้เรียนสมุนไพรต่อจากพ่อแม่ เลยเอามาถ่ายทอดความรู้กับคนอื่น”

ถามถึงสภาพของพื้นที่ พ่อเล่ากั๋วบอกว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ชาวบ้านยังปลูกข้าวโพด นอกจากจะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาแล้ว การที่ต้องใช้พื้นที่มาก แต่รายได้กลับได้น้อย ซ้ำบางปีผลผลิตเสียหายเพราะหนูกินบ้าง อุทกภัยบ้าง

“ผมไปอบรมการปลูกกาแฟมาตั้งแต่ยังเป็นอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ปลูกมาปีนี้ปีที่ 4 แล้ว ตรงนี้เป็นภูมิลำเนา พ่อแม่ก็อยู่ที่นี่ ผมคิดว่าผมต้องกลับมาแนะนำชาวบ้านให้เลิกปลูกข้าวโพด เพราะเป็นห่วงสมุนไพรด้วย เมื่อก่อนที่ดอยมีสมุนไพรเยอะแยะ แต่ถ้าเราไม่หวงไว้ ต่อไปลูกหลานจะไม่รู้จักแล้วจะหายไป จึงตั้งใจปลูกเป็นตัวอย่าง และแนะนำให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟแทน ผมเชื่อว่าต่อไปกาแฟนี่ทั่วโลกต้องยอมรับ”

ลัทธพล เลอเชกู่ เกษตรกรชาวอาข่าอธิบายเรื่องของกาแฟให้ผู้ชมงานฟัง

ทางด้าน ลัทธพล เลอเชกู่ เกษตรกรชาวอาข่า เล่าว่า ปลูกกาแฟมากว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่ถนนบนดอยยังไม่มี ต้องใช้ม้าบรรทุกผลผลิตทางการเกษตร ครั้งนั้นเนื่องจากยังไม่มีการส่งเสริมด้านการตลาดควบคู่กันไป ทำให้ผลผลิตของเขาไม่ได้ราคา และถูกกำหนดโดยพ่อค้าคนกลาง

“ผมปลูกบนห้วยแม่เรียบ ปัจจุบันเรียกว่า บ้านร่มเย็น ปลูก 20 ไร่ ถ้าปลูกเยอะเกินก็ดูแลไม่ไหว” ลัทธพลบอก

“ครั้งแรกมีคนมารับซื้อบ้างแต่ราคาต่ำ จำได้ว่ามาจากอุตรดิตถ์เอารถมาซื้อ เราก็ไม่รู้ว่ามันมีค่าขนาดนี้

“จากที่เคยขายกาแฟเชอรี่ได้กิโลกรัมละ 2-5 บาท ตอนนี้กิโลกรัมละ 20 บาท ผมเองก็เคยไปทำงานที่อื่น เพิ่งจะกลับมาไม่นาน” ลัทธพลบอก และว่า

ทุกวันนี้จึงรวมกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกกาแฟอินทรีย์รักษาป่า เฉพาะที่บ้านร่มเย็นปลูกกาแฟ 1,000 ไร่ เป็นรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตให้กับชาวบ้านราว 40 ครัวเรือน

ที่มา : มติชนออนไลน์