“เฟรชเก็ต” สตาร์ท อัพ ดาวรุ่ง ตัวกลางขายแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตร กำลังคว้า “ใจ” เกษตรกรในอนาคต

บรรยากาศที่ “ฮังก้า โค เวิร์กกิ้ง สเปซ” จามจุรีสแควร์ พื้นที่สร้างพลังของสตาร์ท อัพ

คุณพงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ หรือ เบลล์ ได้เปิดตัวให้คนไทยทั้งประเทศได้รู้จักในฐานะ “สตาร์ท อัพ” (Start Up)” หนึ่งในผู้ชนะการประกวดโครงการ “ดีแทค แอคเซอเลอเรท บาธ 4” (dtac accerelerate batch 4) สนับสนุนโดย บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)

คุณพงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอแพลตฟอร์ม “FreshKet”
คุณพงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอแพลตฟอร์ม “FreshKet”

ปัจจุบันคุณพงษ์ลดา มีตำแหน่งเป็นผู้ก่อตั้ง (Founder) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของแพลตฟอร์ม ที่ชื่อว่า “เฟรชเก็ต” (Freshket) ที่ดำเนินการภายใต้แนวคิด (concept) ที่ว่า ต้องการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อ (buyer) และผู้ผลิต (supplier) ในอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย

เฟรชเก็ตได้ใช้พื้นที่ของ “ฮังก้า โค เวิร์กกิ้ง สเปซ” (Hangar Co working space) บนอาคารจามจุรี สแควร์ พื้นที่ในโลกดิจิตอลของกลุ่มสตาร์ท อัพ เป็นพื้นที่ทำงานในแต่ละวัน

ความทุ่มเทและความพยายามของคุณพงษ์ลดาน่าสนใจตรงที่ความสำเร็จก้าวแรกในฐานะผู้ชนะนั้น ไม่ได้เป็นก้าวแรกอย่างที่เห็นในเบื้องหน้า เพราะเบื้องหลังของเธอผ่านความยากลำบาก ลองผิด ลองถูก มาไม่รู้เท่าไร ที่ต้องลงพื้นที่เพื่อวิจัยตลาดมาอย่างเข้มข้นและคลุกฝุ่น รวมทั้งต้องใช้ชีวิตอย่าง “นกฮูก” มาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ชนะอย่างงดงามบนเวที “ดีแทค แอคเซอเลอเรท บาธ 4”

“กว่าจะมาเป็นแพลตฟอร์ม “เฟรชเก็ต” เคยลองทำอาชีพเป็นคนกลาง (supplier) ในการส่งผักสด จัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีรายละเอียดมาก เช่น ต้องลงไปหาลูกค้า, ตัดแต่งผัก, คุมคนงาน, ซื้อของ และทำบิล กว่าจะปิดร้าน 4 ทุ่ม กว่าจะเช็กสต๊อก 5 ทุ่ม ถึง ตี 1 เบลล์ต้องลงรายชื่อลูกค้าทั้งหมด เวลาร้านอาหารสั่งมา สั่งผ่านทางไลน์ ผ่านทางอีเมล จากนั้นก็ลงออเดอร์ภายใน 3 นาที แล้วมาเขียน เพื่อจะดูว่า มะเขือเทศเท่าไร ฟักทองเท่าไร ผักกาดเท่าไร เราก็ให้เด็กไปซื้อ หรือไปซื้อเองที่ตลาด”

“ยากมากเลย จึงมาคิดว่า ทำไมมันไม่รวมกันเป็นที่ที่เดียวล่ะ ทุกอย่างต้องทำเองหมด ต้องเขียนเบอร์ ทำบิลอีก ทีละร้าน ใช้เอ็กซ์เซลล์ บ้าง แต่ก็คือ ต้อง in put เข้าไปใหม่หมด” คุณพงษ์ลดา เล่าให้ฟังถึงอดีตเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว พร้อมกับเล่ารายละเอียดประสบการณ์ที่คลุกฝุ่นว่า

“จากประสบการณ์ที่ยากลำบากของเบลล์ ในการลงพื้นที่สำรวจตลาด ขับรถไปในซอยอารีย์ ใช้คอนเน็กชั่นทั้งหมดของเราที่เป็นร้านอาหาร ลงพื้นที่ไปสอบถามตามร้านอาหาร ตอนแรกก็เจอแบบเจ้าของร้านไม่อยู่ค่ะ เดี๋ยวมาใหม่นะคะ ไปอีกร้านหนึ่ง เด็กในร้านบอกว่าต้องเจอผู้จัดการ ผมตัดสินใจไม่ได้ครับ รอก่อน ผ่านไป 3-4 ชั่วโมง ได้มา 1-2 ร้าน เขาจะเอาเราหรือเปล่า ก็ไม่รู้ รู้ว่ายาก รู้สึกเสียเวลา”

“ขั้นตอนการทำงานแบบนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ตอนนั้นก็ท้อเหมือนกัน ถ้าเราเจอเจ้าของร้าน เขาจะใช้บริการเรา เพราะเชื่อว่าโปรดักต์เราดี จะไม่ยาก แต่ที่ยากก็คือ ไม่เจอเจ้าของร้านอาหาร ไม่เจอผู้ที่ตัดสินใจได้ ตรงนี้เราเลยต้องเป็นผู้ทำโปรดักชั่นเอง ตั้งแต่รับออเดอร์ รวมของ ไปซื้อของ เปิดบิล ลองคิดดูซิ เวลาทำงานของเบลล์ คือ ตี 1 ถึง ตี 4 เป็นรูปแบบการทำงานที่มีขั้นตอนเยอะแยะไปหมดเลย เราก็มาคิดว่า เฮ้ย! ทำงานอย่างนี้ ไม่มีประสิทธิภาพแล้ว และรู้สึกว่า เอ๊ะ! ทำไมเด็กรุ่นใหม่จัดระบบการทำงานได้” คุณพงษ์ลดา เล่าให้ฟัง

หลังจากพบความยุ่งยากอย่างมากในการประกอบธุรกิจ และต้องตื่นพร้อมตลาดสดเปิด เพื่อจับจ่ายสินค้าให้ทันกับร้านอาหารที่สั่งซื้อเข้ามาผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้คุณพงษ์ลดาคิดสูตรการทำธุรกิจใหม่เพื่อแก้โจทย์ที่เจอ นั่นคือ การเดินเข้าสู่เส้นทางสตาร์ท อัพ อย่างเต็มตัว

“ถ้าเรารวบรวมซัพพลายเออร์มาได้จากหลายๆ แหล่ง จะเป็นตัวเลือกให้กับคนกลางที่รับซื้อ แต่ที่ผ่านมา อย่างที่เบลล์ทำคือ ซัพพลายเออร์ ฟู้ด เซอร์วิส (supplier food service) ไปหาผลผลิตมา จากนั้นนำไปทำให้สะอาด ตัดแต่ง ส่งให้กับร้านอาหาร ตรงนี้จึงมานั่งคิดว่า ถ้าเรามีผลผลิตเยอะ มีตัวเลือกเยอะ ผู้ซื้อจะตัดสินใจได้เอง ไม่ต้องผ่านหลายต่อจนเกินไป”

“เมื่อมีความต้องการผลผลิตสามารถเข้ามาในระบบของเฟรชเก็ตได้เลย ทางเราพร้อมบริการ หลายแห่งที่เป็นร้านอาหารเดิมใช้วิธีซื้อตรงกับเกษตรกร แต่เมื่อเรามีบริการ เขาก็ใช้บริการของเบลล์ ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นได้เลยว่า สามารถสร้างตลาดได้เร็วขึ้นด้วยเฟรชเก็ต และตอบโจทย์ด้วยมาร์เก็ต เพลส เพราะเมื่อคน 2 ฝ่าย หากันไม่เจอ ด้วยพลังของมาร์เก็ต เพลส จะเป็นการรวม 2 คนนี้ คือ ผู้ซื้อ ผู้ขาย ให้มาอยู่ใน มาร์เก็ต เพลส ได้ง่ายๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะฉะนั้น เบลล์ก็เลยทำเฟรชเก็ตขึ้นมา เพื่อเป็นทั้งตลาดสำหรับของสดและเป็นร้านอาหารไปพร้อมๆ กัน” คุณพงษ์ลดา เล่าถึงต้นกำเนิดไอเดียที่นำมาสู่ความเป็นเจ้าของเฟรชเก็ต

มาถึงวันนี้ คุณพงษ์ลดาก้าวเข้าสู่เส้นทางสตาร์ท อัพ มาเป็นเวลา 5 เดือน แต่ชีวิตจริงอยู่กับวัฏจักรของเกษตรกรมาตั้งแต่เด็ก เพราะครอบครัวมีอาชีพเป็นผู้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตร (trading local) ทำให้เธอคลุกคลีกับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีตั้งแต่อายุน้อย และมีโอกาสไปสัมผัสตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง มาตลอด จนกระทั่งเรียนจบ นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบที่เธอเห็นภาพกว้างของธุรกิจซื้อขายผักสด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้เป็นที่มาของคำพูดหนึ่งซึ่งคุณพงษ์ลดาพูดไว้อย่างกินใจว่า การเข้ามาเป็นสตาร์ท อัพ ด้วยแพลตฟอร์มของ “เฟรชเก็ต” มาจากใจที่เธอต้องการทำให้ “ราคาสินค้าเกษตร” เกิดความเป็นธรรม เกษตรกรควรได้ราคาขายที่สมเหตุสมผล และไม่ถูกกดราคาเหมือนในอดีต

“เบลล์รู้สึกว่า เกษตรกรได้เงินน้อย และไม่ได้รับความยุติธรรม อย่างบางทีของล้น มีคนกดราคาหน้าสวน จากกิโลกรัมละ 5 บาท เหลือกิโลกรัมละ 1-2 บาท เรารู้สึกว่า อุตสาหกรรมนี้ควรมีความยุติธรรม เบลล์เติบโตมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ เห็นตั้งแต่เกษตรกร ไปจนถึงร้านอาหาร เห็นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เบลล์เข้าใจในระดับหนึ่ง และอยากจะค่อยๆ แก้ไป ทีนี้เราแก้ในฝั่งของซัพพลายเออร์ก่อน ต่อไปซัพพลายเออร์ จะมีวิถีทางของซัพพลายเออร์ แล้วเราจะทำให้เขาเจอเกษตรกร ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบ ส่วนเฟรชเก็ต มีตลาดให้จัดจำหน่าย ซึ่งเราอยากจะมีช่องทางให้เกษตรกร ให้มีผู้ผลิต มีผู้ขาย เป็นช่องทางหนึ่ง” คุณพงษ์ลดา เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง

คำว่า “สตาร์ท อัพ” ไม่ใช่จุดเริ่มต้น แต่เป็นความหมายที่มาพร้อมกับคำว่า เริ่มเมื่อยังไม่พร้อม และคุณพงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ ได้ทิ้งท้ายบทสนทนาด้วยการแนะนำหนังสือ “สร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ต้องเริ่มตอนที่ไม่พร้อม” (THE LEAN STARTUP) เขียนโดย อีริค ไรส์ (ERIC RIES) อ่านแล้วมี 2 อย่าง คือ เข้าใจสตาร์ท อัพ มากขึ้น กับอยากเป็นสตาร์ท อัพ