การต่อสู้บนฐานอาหาร ตอน กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ปากบารา

“เลี้ยงน้ำชา ชาวปากบาราจะจัดเลี้ยงน้ำชา”

การเลี้ยงน้ำชา เป็นระบบการช่วยเหลือกันของพี่น้องชาวใต้ ใครเดือดร้อนก็จะมีการเลี้ยงน้ำชา บอกต่อๆ กันไปว่าบ้านใครจะเลี้ยงน้ำชา มีความเดือดร้อนเรื่องอะไร เช่น ลูกชายติดทหาร เพราะต้องเดินทางเข้าไปส่งลูกชายในเมืองมีค่าใช้จ่าย หรือใครสักคนหนึ่งป่วย ต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็จะมีการเลี้ยงน้ำชากัน

การเลี้ยงน้ำชาจะทำในตอนเช้า ไปกินน้ำชากันที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้าน กินน้ำชา กาแฟ ข้าวเหนียวสังขยาสักห่อนั่งคุยกันสักพัก ให้เงินกับเจ้าภาพ รวมไว้ในขันใบใหญ่ๆ จะให้เท่าไหร่ก็ได้ คนละเล็กละน้อยไม่ต้องมากให้ใครเดือดร้อน แต่หลายๆ คนรวมกันก็ได้มากพอ ทั้งคนให้คนรับมีความสุข

นี่เป็นเรื่องราววัยเยาว์ของฉัน การเลี้ยงน้ำชามีอยู่เสมอ แต่มาถึงยุคนี้การเลี้ยงน้ำชาไม่ค่อยจะมีแล้ว เดือนที่ผ่านมาได้ข่าวว่าชาวปากบาราจะเลี้ยงน้ำชา…

บอกแล้วว่าการเลี้ยงน้ำชานั่นเป็นสัญญาณความเดือดร้อน และครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องครอบครัวแต่เป็นความเดือดร้อนของชุมชนขนาดต้องเลี้ยงน้ำชากันเลยทีเดียว จึงต้องไป ได้เวลานัดหมายกับเพื่อนเพื่อไปงานเลี้ยงน้ำชา

ด้วยเหตุว่าปากบาราอยู่ที่จังหวัดสตูล ห่างจากเชียงใหม่มาก จากเชียงใหม่เราต้องนั่งเครื่องไปลงที่หาดใหญ่แล้วนั่งรถตู้ไปลงสตูลหรือปากบาราเลยก็ได้

ทะเลที่นี่เป็นแหล่งอาหารที่ดี ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลาจากทะเล และผลไม้จากสวน ระหว่างทางจากสตูลไปปากบารา มีทุเรียน เงาะ มังคุด สองข้างถนน เพื่อนสาวอดใจไม่ได้แวะกินทุเรียนระหว่างทาง แบบว่าหยุดกินทุเรียนตรงนั้นเลย  แม่ค้าฉีกทุเรียนให้กิน มีน้ำดื่ม น้ำล้างมือพร้อม กำจัดกลิ่นเรียบร้อยก่อนเดินทางต่อ

ขนมจากกินกับน้ำชา

สตูล เป็นเมืองอาหารอร่อยแห่งหนึ่ง และหลากหลายมาก เพราะสตูลเป็นเมืองชายแดน ไปมาเลเชียได้โดยผ่านทางด่านพรมแดนวังประจัน ดังนั้น อาหารเมืองสตูลจึงมีหลากหลาย อาหารแบบมาเลเชีย อาหารอิสลาม อาหารจีน หากินของอร่อยๆ ได้อย่างสบายๆ

ยามเช้าเริ่มที่อาหารอิสลามตามคำแนะนำของเจ้าบ้าน

พลาดไม่ได้เลยคือแกงตอแมะ มีแกงตอแมะกุ้ง และแกงตอแมะปลา มีให้เลือก แต่เราไม่เลือกคือกินทั้งสองอย่างเลย   ตามมาด้วยข้าวเหนียวกุ้ง ส่วนแบบหวานๆ ก็โรตีซออัย

แกงตอแมะ น้ำแกงมีสีเหลืองแดงข้นปานกลาง กินกับข้าวหุงกะทิ กินเสร็จต้องตามหาสูตรกันเลย ตั้งใจจะทำกินและก็เอามาฝากกันด้วยเผื่อใครอยากทำกินเอง

เริ่มจากทำพริกแกงก่อน มีลูกผักชี ยี่หร่า อบเชยผง เอามาคั่วให้หอม แล้วตำรวมกับพริกแห้งเม็ดใหญ่ กระเทียม หัวหอมแดง หัวหอมแดงใช้มากหน่อยประมาณกว่าครึ่งของกระเทียม ขมิ้น และเกลือ ตำให้ละเอียดแล้วเติมกะปิ เอาละคราวนี้ได้น้ำพริกแกงตอแมะมาแล้ว

ข้าวเหนียหน้ากุ้ง

เริ่มแกงกันเลย ใช้หางกะทิ ผัดกับน้ำพริกแกงให้หอม เติมน้ำตาล มะขามเปียก แล้วใส่ปลาลงไป พอเดือดก็เติมหัวกะทิ รอเดือดอีกครั้งก็เป็นอันว่าใช้ได้ ปลา กุ้ง สุกง่ายไม่ต้องตั้งไฟนาน แต่ถ้าเป็นไก่ต้องตั้งไฟนานหน่อย

ส่วนโรตีซออัยนั้น ทำแป้งโรตีแบบข้น ใช้กรวยใบตองเจาะรูส่ายลงในกระทะทำเป็นตาข่าย ดึงขึ้นมาเป็นแผ่นๆ กินกับน้ำกะทิทุเรียน ถามว่าในช่วงไม่มีทุเรียนโรตีซออัยจะกินกับอะไร เขาว่ากินกับอย่างอื่นได้ แบบทำไปตามฤดูกาลแต่ตอนนี้ฤดูทุเรียนก็กินกับน้ำกะทิทุเรียน

หมะคนขาย บอกว่า “โรตีซออัยหากินยาก ที่ไหนก็ไม่ค่อยมี ต้องมากินที่สตูล”

โรตีซออัย เป็นอาหารอิสลามที่มาจากมาเลเชีย จากโรตีซออัย เราก็ไปกินข้าวเหนียวหน้ากุ้งต่อ ข้าวเหนียวหน้ากุ้งความอร่อยอยู่ที่หัวเหนียว ต้องผัดหัวเหนียวให้อร่อย อันประกอบด้วย พริกแห้ง หัวหอมแดง กะปิ ตำให้ละเอียดผัดกับกุ้งสับ ปรุงรสให้กลมกล่อม ไม่หวาน ไม่เค็ม

ร่ายยาวอยู่นานยังไปไม่ถึงงานเลี้ยงน้ำชาสักที เอาละไปกันต่อ ครั้งนี้เขาเลี้ยงน้ำชากันตอนเย็นที่ริมทะเลปากบารา

แกงตอแมะปลา

มีขนมหลายอย่าง แต่ฉันชอบขนมจาก ขนมจากไม่ใช่จากพราก แต่ทำด้วยใบจาก ผู้หญิงทั้งแม่บ้านและที่ยังไม่ได้เป็นแม่บ้านคือยังเยาว์อยู่ต่างมานั่งล้อมวงทำขนมจาก คลี่ใบจากออก เอาแป้งที่ผสมกับน้ำตาลและมะพร้าวทึนทึก ใส่ลงไปตามทางยาวของใบจาก พับและกลัดไม้กลัด เอาไปย่างบนถ่านไฟที่ร้อนกำลังดีจนใบจากเปลี่ยนสีเกือบกรอบไหม้นั่นแหละ

ขนมจากร้อนๆ เหมาะสำหรับกินกับน้ำชามาก และแน่นอนการจะทำขนมจากได้นั้นเราต้องมีต้นจากก่อน ต้นจากจะอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าชายเลน ถ้าไม่มีพื้นที่ป่าชายเลนก็ไม่มีต้นจาก ไม่มีใบไว้ทำขนมจาก นี่แหละเราจึงต้องดูแลพื้นที่ริมฝั่งป่าชายเลนไว้

ขนมโค

ท้ายสุดคือขนมโค ขนมโคนี้ต้องใช้ความร่วมมือกันเหมือนกัน ทำกันหลายคน ทำไปคุยกันไป ยิ้มหัวกัน เอาแป้งมานวดให้นุ่ม ห่อด้วยน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลมะพร้าวที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเอาไปใส่ลงไปในน้ำที่เดือด พอสุกขนมจะลอยขึ้นมา จากนั้นเอามาคลุกมะพร้าว อร่อยตรงหวาน มัน กัดลงไปจะเจอน้ำตาลแตกผสมกับแป้งและมะพร้าวอยู่ในปากของเรา

ทำโรตีซออัยด้วยกรวยใบตอง

ที่หน้างานมีโต๊ะสำหรับรับเงิน ตามแต่ใครจะให้ ลืมบอกไปว่า ชาวปากบาราเขาเดือดร้อนอะไรถึงต้องเลี้ยงน้ำชา เรื่องมีอยู่ว่า จะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งไม่ใช่แค่ชาวสตูล หรือชาวปากบาราเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ คนทั่วไปเกือบทั้งประเทศก็ไม่เห็นด้วย ทำลายธรรมชาติ ทำลายแหล่งอาหาร ทำลายแหล่งท่องเที่ยว แต่ไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไปด้วย

จึงมีการคัดค้านโครงการนี้และประชาชนที่ออกมาคัดค้านปกป้องทรัพยากรธรรมชาติก็โดนจับถูกดำเนินคดี นี่แหละที่มาของการเลี้ยงน้ำชาเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดี และในขณะเดียวกันก็เป็นการพบปะปรึกษาหารือ และบอกกล่าวถึงเรื่องราวเหล่านี้ให้ในวงกว้างมากขึ้น

ฉันเห็นอาหารมากมายของชาวบ้านปากบาราที่เอามาเลี้ยงกัน และคิดว่า นี่เป็นการต่อสู้บนพื้นฐานของอาหารเช่นเดียวกับหลายๆ ที่