กุเลาตันหยงเปาว์… ของดีปัตตานี กิโลกรัมละ 1,400 บาท ออร์เดอร์ทะลัก !

เปิดตัวยังไม่ถึงปี แต่สร้างสีสันให้ตลาดปลาเค็มไม่น้อย ด้วยคุณภาพสินค้า บวกกับสตอรี่ (Story) อันน่าทึ่งทำให้วันนี้ผลิตภัณฑ์ “ปลากุเลาเค็ม” ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย บ้านตันหยงเปาว์ ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เริ่มเป็นที่รู้จัก และ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจนผลิตขายแทบไม่ทัน

ส่วนของสตอรี่ความเป็นมา ใครที่ติดตามปัญหาประมงของปัตตานี จะรู้ว่าผลจากการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้างของเรือใหญ่อย่างอวนรุนในอดีต ทำให้อ่าวปัตตานีเสื่อมโทรมลง ชาวบ้านขาดแหล่งทำกิน จึงรวมตัวกันในนามสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน ต่อสู้เรียกร้องอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ท้อแท้ถึงขนาดอพยพไปเป็นแรงงานที่มาเลเซีย จนในที่สุดภาครัฐได้ออกประกาศห้ามใช้เครื่องมืออวนรุน หลังจากนั้นชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจฟื้นฟูจนอ่าวปัตตานีกลับคืนความสมบูรณ์

นำมาสู่การแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจประมงพื้นบ้านของโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

“มูหามะสุกรี มะสะนิง” นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ปัตตานี และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย กล่าวว่า พี่น้องประมงเริ่มเป็นเครือข่ายมาตั้งแต่ปี 2535 จากนั้นได้ต่อยอดทำธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเดือนเมษายน 2560 ชื่อวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย แปลว่า คนชายทะเล มีเป้าหมายสูงสุด คือ เป็นต้นแบบในการผลิตอาหารทะเลแปรรูปที่เป็นสินค้าจากประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี

กุเลาเค็ม 1,400 บาท/กก.

สำหรับการทำงานของที่นี่จะมีการรวมตัวเป็นเครือข่าย 52 หมู่บ้าน ใน 6 อำเภอ ซึ่งในด้านพื้นที่ถือว่าได้เปรียบกว่าที่อื่นมาก เพราะชายฝั่งตลอด 6 อำเภอ ยาวถึง 116 กิโลเมตร โดยแต่ละที่จะมีนิเวศที่แตกต่างกัน ทั้งน้ำลึก น้ำตื้น ส่งผลต่อความหลากหลายของทรัพยากร และความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลายประเภท ได้แก่ ข้าวเกรียบปลา ปลาอินทรีเค็ม กะปิ ปลาหมึกแห้ง กุ้งเคยแห้ง และพระเอกก็คือ กุเลาเค็มทั้งของสด และแปรรูป ทำรายได้ 3 ล้านบาทแล้ว

ออร์เดอร์พรึ่บจีนเล็งซื้อลอตใหญ่

“เจะเดร์ เจ๊ะอูเซง” สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย บอกว่า การทำงานในแต่ละวัน เรือประมงพื้นบ้านจะขับเรือเล็ก ๆ ประมาณ 40 ลำ ออกไปหาปลาตั้งแต่ช่วงเช้า ใช้เครื่องมือที่ไม่ทำลายล้าง สำหรับอวนกุเลาจะดักได้ตัวขนาดย่อมหนัก 7 ขีด-1 กิโลกรัม ส่วนเบ็ดกุเลาจะตกได้ตัวใหญ่หนัก 4-5 กิโลกรัม โดยเรือลำหนึ่งจะหากุเลาได้วันละประมาณ 1-2 ตัว บางคนก็มาส่งขายที่กลุ่ม ซึ่งกลุ่มแม่บ้านจะเป็นคนจัดการตั้งแต่ขอดเกล็ด ล้างให้สะอาด หมักเกลือนำไปล้างและตากด้วยวิธีกางมุ้ง

ถ้าตัวใหญ่ใช้เวลา 45 วัน ตัวเล็กก็เวลาน้อยลง เมื่อได้ผลผลิตก็จะทยอยจำหน่าย ส่วนมากจะมีออร์เดอร์เข้ามาทั้งในปัตตานี และกรุงเทพฯ ซึ่งเรามีเครือข่ายกลุ่มประมงพื้นบ้าน โดยจะส่งไปทางรถทัวร์ ที่กรุงเทพฯต้องการเยอะ ล่าสุดมีจีนติดต่อเข้ามาขอซื้อ 2,000 ตัว ต้องปฏิเสธเพราะกำลังการผลิตไม่พอ

“การแปรรูปช่วยเสริมสร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น เช่น ในกลุ่มมีสมาชิก 15 คน จะได้เป็นค่าแรงวันละ 300 บาท ถ้าทำครึ่งวันได้คนละ 150-200 บาท นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อคนจับปลาด้วย เพราะตั้งแต่เราแปรรูป ก็ทำให้ราคาปลาสดสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 230-250 บาท”

แปลงภูมิปัญญาเป็นทุนเศรษฐกิจ

“สุวิมล พิริยชนาลัย” ผู้ประสานงานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อท้องถิ่นอ่าวปัตตานี กล่าวว่า หลังจากธรรมชาติฟื้นฟู ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านสามารถออกจับได้ แต่รายได้กลับน้อยลง เพราะถูกเบียดบังมูลค่าส่วนเกินจากตลาด เรื่องกลไกตลาด กลไกแพปลา ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถตั้งราคาได้เต็มที่ จึงนำงานวิจัยเข้ามาช่วยจัดระบบ และรื้อฟื้นภูมิปัญญาของชุมชน คือ ภูมิปัญญาการแปรรูปอาหาร

“ความรู้มีอยู่ในชุมชน เรามีหน้าที่ดึงความรู้เหล่านี้ที่เป็นทุนชุมชนของเขาแปรเป็นทุนเศรษฐกิจให้ได้ แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ใช้กระบวนการวิจัยเข้าไปจับเกือบปี ตั้งแต่การจัดระบบ รวบรวม รื้อฟื้น เพราะความรู้อยู่กระจัดกระจายตามบ้านของแต่ละคน บางทีทำเสร็จแล้วมันแข็งโป๊ก เค็มมาก กินไม่ได้ ก็ปรับสูตรไปเรื่อย ๆ จนอยู่ตัว ได้สูตรเค็มปกติมา จุดเด่น คือ ทอดแล้วเนื้อนุ่ม ฟู และหัวใจสำคัญคือไม่ใช้สารเคมี”

ผุดสูตร 2 โซเดียมต่ำ

สุวิมลบอกอีกว่า หลังจากสูตรเค็มปกติได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ออกมา คือ สูตร 2 โลว์โซเดียม หรือเค็มน้อย เริ่มวางจำหน่ายแล้ว ปัจจุบันกำลังการผลิตกุเลาเค็มอยู่ที่ประมาณ 500 ตัว/เดือน ยังไม่เพียงพอต่อตลาด ออร์เดอร์จองคิวขณะนี้ 1 เดือน หลายคนก็ยินดีจะรอ เพราะสั่งครั้งละเป็นร้อยตัว

เมื่อถามว่าประสบความสำเร็จหรือยัง สุวิมลบอกว่า สำหรับครึ่งปีมานี้ เรายังไม่คิดแบบนั้น แต่ในทรรศนะชาวบ้านถือเป็นการสะสมชัยชนะเล็ก ๆ เพราะสำหรับพวกเขา ถ้ารู้สึกล้มเหลวเรื่อย ๆ มันจะกลายเป็นความท้อแท้ โดยเฉพาะพื้นที่แบบนี้

“ประโยชน์ของการแปรรูปกุเลาเค็มนี้ ไม่ได้ประโยชน์แค่เฉพาะกลุ่ม แต่กุเลาสดที่รับซื้อก็ปรับราคาขึ้นด้วย เพราะเมื่อกลุ่มอัพราคาให้กับพี่น้องที่จับมาขายสูงกว่าราคาแพทั่วไป มันก็เป็นเหมือนเป็นกลไกการแทรกแซงราคาแบบธรรมชาติ มีผลให้ที่รับซื้ออื่น ๆ เขาก็จำเป็นต้องขยับตามมาด้วย แล้วนับดูว่าจำนวนเรือที่จับกุเลาสดส่งให้กับที่นี่มาจากกี่หมู่บ้าน กี่ครัวเรือน โดยเฉพาะเป้าหมายสุดท้ายที่จะทำให้เป็นออร์แกนิก 100% จะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอีกเท่าไหร่”

ประมงพื้นบ้าน แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ แต่เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่พร้อมจะผลักดันให้จังหวัดปัตตานีก้าวสู่ความเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในเร็ววัน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์