มกอช.สอบผ่านฉลุย องค์กรรับรองระบบงานสากล สร้างความเชื่อมั่นประเทศคู่ค้า

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ผ่านการตรวจติดตามประเมินจากองค์กรระบบงาน (PAC) รักษาความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในเวทีสากลได้อย่างต่อเนื่อง

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการซื้อขายสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างประเทศ นอกเหนือจากการแข่งขันด้านราคาแล้ว ผู้บริโภคยังต้องการความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบและรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับและน่าเชื่อถือ สอดคล้องตามมาตรฐานสากล จากความสำคัญดังกล่าว มกอช. จึงรับหน้าที่ในการสร้างความเชื่อมั่น โดยการตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงานการออกใบรับรองให้ได้ตามข้อกำหนดขององค์กรระบบงานสากลด้านสินค้าเกษตรและอาหารของไทย และต้องรักษาระบบสากลดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยตรวจรับรองเหล่านี้จะมีระบบงานเป็นที่น่าเชื่อถือ ซึ่ง มกอช.ในฐานะหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body : AB) มีหน้าที่ในการสร้างความมั่นใจดังกล่าว โดยการตรวจระบบงานของหน่วยตรวจรับรองเหล่านี้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล ในขณะเดียวกัน มกอช.เองก็ต้องถูกตรวจรับรองการทำงานจากองค์กรรับรองระบบงานสากลเช่นกัน

ทั้งนี้ มกอช.ได้รับการตรวจประเมินจากองค์กรรับรองระบบงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Pacific Accreditation Cooperation: PAC) มาโดยตลอด ตั้งแต่ร่วมเป็นสมาชิก เป็นระยะเวลา 4 ปี และล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์กรรับรองระบบงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้มาตรวจติดตามและประเมินการทำงานของ มกอช. ในด้านการรับรองฟาร์มมาตรฐานการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (GAP) และเกษตรอินทรีย์ (Organic) ผลปรากฏว่าไม่พบข้อบกพร่องของการดำเนินงานแต่อย่างใด ถือเป็นการยืนยันในการดำเนินงานในฐานะหน่วยรับรองระบบงาน (AB) ของหน่วยตรวจรับรอง (IB และ CB) ของ มกอช.ที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นกลาง ปัจจุบันมีหน่วยรับรองที่ได้รับการรับรอง จำนวน 15 ราย หน่วยตรวจที่ได้รับการรับรอง จำนวน 6 ราย (มีจำนวน 3 ราย ได้รับการรับรองทั้งเป็นหน่วยรับรองและหน่วยตรวจ) จำแนกได้เป็น 40 หน่วย-ขอบข่ายย่อย

นางสาวดุจเดือน กล่าวต่อไปว่า มกอช.มีนโยบายผลักดันให้มีหน่วยตรวจรับรองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตรวจรับรองจากภาคเอกชน เพื่อเป็นการสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจการรับรองจากภาครัฐ ทำให้สามารถทราบปริมาณการตรวจรับรองฟาร์มมาตรฐานได้อย่างรวดเร็ว ตามความต้องการ

นางสาวดุจเดือน กล่าวด้วยว่า ในปี 2560 เป็นปีแห่งการยกกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน
มกอช.ได้ขยายการตรวจรับรองหน่วยตรวจรับรองเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบัน มีหน่วยตรวจรับรองใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วย เนื่องจากมีความต้องการในการตรวจรับรองเพิ่มขึ้นมาก ทั้งฟาร์มและโรงงาน และ มกอช.อยู่ระหว่างการเตรียมขยายขอบข่ายการรับรองใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการ เพื่อเปิดให้บริการในปี 2560 และเตรียมความพร้อม
ทั้งระบบงานและบุคลากร ให้เทียบเคียงระบบงานกับประเทศคู่ค้า เช่นความปลอดภัยอาหารตามกฎหมายฉบับใหม่ของสหรัฐอเมริกา

การยืนยันจากการทวนสอบการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้ประเทศไทย ได้รับการยอมรับในระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรและอาหารทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐที่ได้ถ่ายโอนบทบาทภารกิจเรื่องการตรวจสอบและรับรองด้านสินค้าเกษตรและอาหาร ให้หน่วยงานเอกชนที่ผ่านการรับรองระบบงาน จาก มกอช. เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมประมง สำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยา เป็นต้น

Advertisement

“ขณะเดียวกัน การยืนยันจากการทวนสอบการดำเนินงานดังกล่าว ก็เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่จะส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า อย่างในยุโรป อเมริกา หรือในกลุ่มประเทศอาเซียน ให้สามารถดำเนินการไปได้อย่างสะดวกมาก เป็นการลดข้อโต้แย้งทางการค้ามีช่องทางพิเศษที่ช่วยเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยได้มากขึ้น และยังช่วยลดขั้นตอนการตรวจซ้ำที่ประเทศปลายทาง และผู้ผลิต ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการหน่วยรับรอง(CB) ภายในประเทศ ตรวจรับรอง กระบวนการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แทนการใช้หน่วยรับรองของต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนสินค้าจากการลดค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรอง ทำให้สินค้าเกษตรของไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดสากลมากยิ่งขึ้นอีกด้วย” นางสาวดุจเดือน กล่าว