ตามติดธุรกิจ Startup แอปพลิเคชั่น ผักสดขายส่ง

ทีมงาน “แพลนฟอร์ฟิต” ของ คุณธงชัย ธรรมสาลี

คุณพงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ หรือ เบลล์ หนึ่งในสตาร์ทอัพ (Startup) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม “เฟรชเก็ต” (Freshket) ที่มีแนวคิดการเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อและผู้ผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย โดยมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรทั่วประเทศ นับเป็นเรื่องราวที่ทีมงาน เทคโนโลยีชาวบ้าน ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้

วันนี้เรื่องราวของ “เฟรชเก็ต” นำมาสู่ความสำเร็จอย่างงดงามอีก เมื่อเธอสามารถนำแพลตฟอร์มที่เธอปั้นมากับมือ คว้ารางวัลแบล็กบ็อกซ์ และ รางวัลกูเกิ้ล ลอนช์ แพด (Google Launch Pad) อีกหนึ่งรางวัลเป็นรางวัลเซอร์ไพรส์ นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งสตาร์ทอัพของไทยคือ ฟาสต์เวิร์ก (FASTWORK) คว้ารางวัล “เว็บ ซัมมิท” ไปครองในงานเวทีการประกวดของ “ดีแทค แอคเซอเรอเลท บาธ 4 เดโม เดย์” (dtac accelerate batch 4 Demo Day) เมื่อเร็วๆ นี้

“เฟรชเก็ต” ผู้ได้รับรางวัล “แบล็กบ็อกซ์” (Blackbox) จะได้ไปซิลิคอน วัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา และ รางวัล “เว็บ ซัมมิท” (Web Summit) ไปกรุงลิสบอน โปรตุเกส ซึ่งงานนี้คัดจากการนำเสนอแผนงานทีมสตาร์ทอัพ 3 กลุ่ม คือ ทีมสตาร์ทอัพที่เก่งที่สุดในประเทศไทย ในระดับซีรีย์เอ (Series A), สตาร์ทอัพระดับเงินทุนเริ่มต้น (Seed Company) และ สตาร์ทอัพดาวรุ่ง (The Best Rookie Startups of 2016)

บรรยากาศบริเวณงานดีแทคฯ เดโม เดย์ เปิดพื้นที่ให้สตาร์ทอัพและนักลงทุน (VC) ได้พบปะกัน
บรรยากาศบริเวณงานดีแทคฯ เดโม เดย์ เปิดพื้นที่ให้สตาร์ทอัพและนักลงทุน (VC) ได้พบปะกัน

ชัยชนะของเฟรชเก็ต และ ฟาสต์เวิร์ก เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ภายใต้ทีมงาน “พี่เลี้ยงมืออาชีพ” อย่าง “ดีแทค” ซึ่งจัดเวที “ดีแทค แอคเซอเรอเลท” ให้ผู้มีไอเดียในธุรกิจใหม่ๆ ที่เรียกตัวเองว่า “สตาร์ทอัพ” ได้มีโอกาสบ่มเพาะตัวเอง และนำมาสู่การเป็นสตาร์ทอัพมืออาชีพ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมาแล้วถึง 4 ปี โดยในกระบวนการบ่มเพาะสตาร์ทอัพของดีแทค สตาร์ทอัพน้องใหม่ในแต่ละปีจะต้องผ่านการอบรมจากสตาร์ทอัพตัวจริง ทั้งจากในไทย และ ซิลิคอน วัลเล่ย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาสู่ก้าวสำคัญ นั่นคือ การขึ้นสู่เวที “พิชชิ่ง” (pitching) หรือการแข่งขันขายไอเดียให้กับกลุ่มนักลงทุน (VC : Venture Capital) ได้ฟังนั่นเอง โดยสตาร์ทอัพแต่ละทีมมีเวลาในการขายไอเดียบนเวทีตามเวลาที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งเฉลี่ยไม่เกินทีมละ 5 นาที

งานดีแทคฯ บาธ 4 เดโม เดย์ นับเป็นเวทีการประกวดที่ทำให้สตาร์ทอัพของไทยมีโอกาสพิชชิ่งกันอย่างเต็มกำลังความสามารถและก้าวสู่ความเป็นสากลเต็มตัว เพราะมีนักลงทุน หรือ VC ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกเข้าร่วมฟังและร่วมตัดสิน อาทิ คุณลาร์ส นอร์ลิ่ง ซีอีโอ ดีแทค, คุณแอนดริว กวาลเซ็ท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกลยุทธ์และนวัตกรรม ดีแทค, คุณกระทิง เรืองโรจน์พูนผล หุ้นส่วนผู้จัดการ (Managing Partner) และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊กส์, คุณโคอิชิ ไซโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และ ผู้ก่อตั้งเคเคฟันด์ (KK Fund), คุณเจฟฟรี เพนย์ หุ้นส่วนผู้จัดการ (Managing Partner) ของโกลด์เด้น เกท เวนเจอร์ (Golden Gate Venture), คุณธนฉัตร ตั้งศรีวงศ์ จากไซเบอร์เอเย่นต์ (Cyber Agent Venture), คุณอัลเบิร์ต ชาย จากพรินซิเพิล-กรีน เวนเจอร์ (Principle-Gree Venture), คุณไซกิต เหงียน ผู้อำนวยการบริหาร (Executive Director) จากแคปตติ เวนเจอร์ (Captti Venture) และ คุณอากุง เบซฮารี จากอีสต์ เวนเจอร์ (East Venture)

กลุ่มวีซี สนใจแพลนฟอร์ฟิต
กลุ่มวีซี สนใจแพลนฟอร์ฟิต

นอกจากบรรยากาศบนเวทีที่สตาร์ทอัพจะได้พิสูจน์ฝีมือแล้ว ในพื้นที่โดยรอบของงานครั้งนี้ ดีแทคจัดพื้นที่ให้สตาร์ทอัพแต่ละรายได้มีโอกาสพบปะกับกลุ่มผู้ลงทุน หรือ วีซี กันแบบตัวต่อตัว เรียกว่า วีซีท่านใดสนใจสามารถไปจีบสตาร์ทอัพรายนั้นๆ ได้ทันที ซึ่งแพลตฟอร์มหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากวีซี คือ “แพลนฟอร์ฟิต” (PlanforFIT : we fit you right) ของ คุณธงชัย ธรรมสาลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และ ผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-founder)

แพลตฟอร์มของ “แพลนฟอร์ฟิต” เน้นข้อมูลวิจัยที่ให้ความรู้เรื่องการลดน้ำหนัก พร้อมกับการได้รับคำแนะนำจากทีมเทรนเนอร์มืออาชีพอย่างใกล้ชิด หลังจากทำตลาดมาแล้ว 1 ปี ปัจจุบันมีฐานลูกค้า 1,500 คน และกลุ่มลูกค้าที่เป็นร้านฟิตเนสอีก 50 ราย โดยตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 คน โดยมีแผนจะขยายธุรกิจไปยังฮ่องกงและสิงคโปร์ ส่วนวิธีคิดค่าบริการนั้น ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการจะจ่ายที่ราคา 3,290 บาท ต่ออายุการให้บริการ 60 วัน

“ผลตอบรับจากงานนี้คือ มีวีซีหลายท่านเข้ามาติดต่อ เพราะจุดแข็งของแพลตฟอร์มนี้อยู่ที่นำงานวิจัยมาทดลองเป็นสูตรสำเร็จในการช่วยคน โดยใช้เวลามากกว่า 1 ปี และมากกว่า 300 งานวิจัย ในการคัดสรรข้อมูลจาก คุณศิโรจน์ จิตประสูติวิทย์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแพลนฟอร์ฟิต มาเป็นข้อมูลหลักในการทำให้ผู้ใช้บริการได้เข้าใจถึงหลักในการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ ไอเดียเริ่มต้นของการสร้างแพลนฟอร์ฟิต มาจากในเมืองไทยมีข้อมูลความเชื่อผิดๆ เยอะมาก เช่น กินน้ำผึ้งผสมมะนาวเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งจริงๆ มันไม่ช่วยเลย หรือการให้ข้อมูลที่ดี เช่น การกินทุเรียนตอนเช้าจะไม่อ้วน เราเอาข้อมูลตรงนี้ใส่ลงไปพร้อมงานวิจัย และใส่รูปแบบอินโฟร์ กราฟฟิกที่สวยงาม ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมา” คุณธงชัย อธิบายให้ฟังถึงจุดเด่นของแพลนฟอร์ฟิตที่ทำให้มีวีซีติดต่อเข้ามาทันทีหลังจากได้มีโอกาสขึ้นพิชชิ่งบนเวที

กลุ่มสตาร์ทอัพจากเมียนมา และกลุ่มวีซี สนใจแพลตฟอร์ม “เมียนเซ็น”
กลุ่มสตาร์ทอัพจากเมียนมา และกลุ่มวีซี สนใจแพลตฟอร์ม “เมียนเซ็น”

คุณธงชัย ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตัวเลขการออกกำลังกายในไทยตามหลังสหรัฐอเมริกาถึง 10 เท่า แสดงว่าตลาดในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีก เพราะฉะนั้น จึงตั้งเป้าต้องการเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจนี้ เพราะเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ และไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มที่เน้นบริการหรืออำนวยความสะดวก แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยชีวิตผู้คนให้ออกจากภาวะโรคอ้วน ซึ่งปัจจุบันมีสถิติจากทั่วโลกว่า มีคนอ้วนถึง 2 ล้าน 8 แสนคน และมีคนไทยอยู่ในสัดส่วนนี้ถึง 1 ใน 3

“ผมเคยมีน้ำหนักเกือบ 100 กิโลกรัม ขณะที่ความสูง 170 เซนติเมตร ตอนนี้น้ำหนักเหลือ 88 กิโลกรัม เพราะฉะนั้น ผมลองผิดลองถูกมาเยอะมากเกี่ยวกับข้อมูลการลดน้ำหนัก จึงเข้าใจและมั่นใจว่าแพลนฟอร์ฟิตจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยชีวิตคนในเรื่องสุขภาพ” คุณธงชัย เล่าประสบการณ์ตรงที่จะนำมาพัฒนาแพลตฟอร์มของทีม

แม้ว่าการพิชชิ่งครั้งนี้คุณธงชัยจะไม่ได้รางวัล แต่สิ่งที่ทีมงานแพลนฟอร์ฟิตได้รับคือ การเปิดตัวเองสู่สายตานักลงทุนอย่างเต็มตัวมากขึ้น หลังจากได้ทดลองตลาดและมีฐานลูกค้าจนน่าพอใจแล้ว

เช่นเดียวกับ แพลตฟอร์มที่ชื่อ “เมียนเซ็น” (MyanZen) เป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพจากเมียนมาที่ขึ้นเวทีพิชชิ่งครั้งนี้ด้วย โดยใช้แนวคิดการสร้างประสบการณ์ทางการขายใหม่ๆ ผ่านแพลตฟอร์ม “เมียนเซ็น” (concept :- Rebuilding Selling Experience) โดย คุณเปน เฮน เต็ต (Paing Hein Htet) ซึ่งเป็น COO ของแพลตฟอร์มเมียนเซ็น บอกว่า ได้นำแพลตฟอร์มนี้ทดลองตลาดแล้วในมาเลเซีย และไทย เป็นเวลา 6 เดือน โดยสิ่งที่ทำให้แพลตฟอร์มนี้ได้รับความสนใจเพราะการดูแลและผลตอบแทนที่ให้กับลูกค้า

เพราะฉะนั้น หากท่านผู้อ่านสนใจอยากเป็น “สตาร์ทอัพ” ลองนั่งคิดไอเดียและทดลองทำตลาด เป็นการปูทางสู่การเป็นสตาร์ทอัพด้วยตัวเอง เพื่อเข้าสู่อ้อมอกของพี่เลี้ยงมืออาชีพอย่างดีแทคในปีหน้า ซึ่งแน่นอนว่า ประเทศไทยกำลังเป็นที่จับตามอง และเป็นดาวรุ่งอีกดวงในภูมิภาคเอเชียที่ผลักดันให้ “สตาร์ทอัพ” มีส่วนสำคัญในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจของไทย โดยมีตัวอย่างชัดเจนจากสตาร์ทอัพที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่ออุตสาหกรรมเกษตรของไทย และประสบความสำเร็จอย่างเต็มตัวจากการบ่มเพาะของดีแทคผ่านเวที “ดีแทค แอคเซอเรอเลท บาธ 4 เดโม เดย์” ในปีนี้