ข้าวไรซ์เบอร์รี่ แปรรูปเป็นข้าวกรอบสยาม ขายดีสู่เงินล้าน

30 ปี เทคโนโลยีชาวบ้าน ในงานเกษตรมหัศจรรย์ 2560 “พืชกินได้ ไม้ขายดี” มีการจัดแสดงนิทรรศการด้านวิชาการเกษตรเช่น ผลผลิตใหญ่ที่สุด แพงที่สุด หรืออร่อยที่สุด มีการเสวนาความรู้ด้านการเกษตรเพื่อคนรุ่นใหม่ หรือจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นหนึ่งวิธีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อสารด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจได้เรียนรู้เสริมสร้างประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนวิถี

กิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้ที่มาเที่ยวชมงานจำนวนมาก ถึงกับต้องเข้าแถวยาวรอคือ การได้ชม รอชิม และซื้อ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ แปรรูปเป็นข้าวกรอบสยาม ขายดีสู่เงินล้าน ผู้เขียนมองว่าเป็นอาชีพทางเลือกที่น่าสนใจ จึงได้นำมาบอกเล่าสู่กัน

คุณทัศนีย์ ผุยมาตย์ หรือ คุณมุก ผู้แปรรูปข้าวกรอบสยาม เล่าให้ฟังว่า กระยาสารท เป็นอาหารว่างของโปรดเด็กๆ หรืออีกหลายๆ คน และลูกชายก็เป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบบริโภค จากความชอบจึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างงานเป็นของตนเองบ้าง ด้วยผลิตภัณฑ์ที่จะทำขึ้นมาใหม่นี้จะต้องมีความนุ่ม กรอบ และไม่เหนียวเหมือนอย่างกระยาสารท

คุณทัศนีย์ ผุยมาตย์ หรือ คุณมุก (หมวกเขียว) ผู้แปรรูปข้าวกรอบสยาม

จากการศึกษาเรียนรู้และค้นหาข้อมูลความรู้จากแหล่งวิชาการต่างๆ ที่สุดก็ได้ตัดสินใจร่วมกับทุกคนในครอบครัว ว่าสินค้าที่จะทำขึ้นมานี้ จะเป็นขนมกินเล่นสไตล์จีนโบราณ ที่ต่อยอดสูตรมาจากกระยาสารท ทำให้มีรสชาติกลมกล่อม มีความกรอบ นุ่ม แต่ไม่เหนียวติดมือติดฟัน พร้อมกับวางแนวทางว่าจะทำให้มี 3 รสชาติ ได้แก่ รสข้าวกรอบถั่วลิสง รสข้าวกรอบเม็ดมะม่วงหิมพานต์ และรสข้าวไรซ์เบอร์รี่ งาขาว วัสดุทุกอย่างที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมการผลิตข้าวกรอบได้เน้นเลือกใช้เฉพาะที่มีคุณภาพทั้งหมด และต้องเป็นวัตถุดิบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย

วัสดุที่นำมาแปรรูปเป็นข้าวกรอบสยามมีหลายชนิด ล้วนเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของเกษตรกร เป็นหนึ่งทางเลือกที่ได้สนับสนุนให้เกษตรกรได้ขายผลผลิตเพื่อนำไปสู่การมีรายได้ที่มั่นคง

วัสดุสำคัญที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้อง งาขาว งาดำ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง เกลือไอโอดีน แบะแซ น้ำตาล หรือน้ำมันพืช

การผลิตข้าวกรอบสยาม

การแปรรูป “ข้าวกรอบสยาม” เริ่มจากวางกระทะขนาดใหญ่ตั้งบนไฟ ใส่น้ำมันพืชลงไป เมื่อน้ำมันพืชเริ่มร้อน แล้วใส่เกลือ แบะแซ น้ำตาล ลงไปทำการเคี่ยวและกวนให้เข้าเนื้อกัน นำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสงหรืองาใส่ลงไป ทำการกวนไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าเนื้อกันดีแล้วจึงนำข้าวที่ผ่านการอบกรอบใส่ลงไปคลุกรวมกันและกวนไปเรื่อยๆ ให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน กระทั่งได้เนื้อข้าวกรอบคุณภาพแล้วยกเทลงในกรอบไม้แบบพิมพ์สี่เหลี่ยม

กระทะใหญ่วางบนเตาไฟ ใส่น้ำมันพืชลงไป
นำวัสดุใส่ลงไปคลุกให้เข้าเนื้อเดียวกัน

ขั้นตอนนี้ต้องใช้แรงงานถึง 4 คน คือ 2 คนช่วยกันอัดแน่นเนื้อข้าวกรอบที่อยู่ในไม้แบบพิมพ์สี่เหลี่ยมด้วยลูกกลิ้งไม้เพื่อให้เนื้อข้าวกรอบแน่นที่สุด ควรทำในขณะที่เนื้อข้าวกรอบยังร้อนหรืออุ่น เมื่ออัดแน่นดีแล้วนำไม้วัดวางบนไม้แบบพิมพ์สี่เหลี่ยม ใช้มีดอีโต้ตัดตามแนวยาวและตัดแยกเป็นชิ้นขนาดเล็ก ส่งให้ 2 คนที่เป็นฝ่ายที่จัดการบรรจุใส่ถุงพลาสติกสะอาด ปิดให้แน่น บรรจุลงกล่อง และแสดงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์

กวนไปเรื่อยๆ เพื่อให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
นำลูกกลิ้งไม้กลิ้งอัดข้าวกรอบให้แน่น

การตลาดและผลตอบแทน “ข้าวกรอบสยาม” เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่อยู่ในกลุ่มอาหารเจ ได้รับการรับรองให้ใช้เครื่องหมายฮาลาล ประเทศมาเลเซีย ได้ไปเปิดตัวผลิตภัณฑ์นี้ครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซียเมื่อปี พ.ศ. 2556 สินค้าผลิตภัณฑ์ได้วางขายไปยังร้านค้าที่ขายขนมทั่วๆ ไปหลายสาขา การผลิตในประเทศมาเลเซียจะทำได้ปริมาณ 1,000 กล่อง ต่อวัน ราคาขายที่ประเทศมาเลเซียห่อละ 100 บาท หรือกล่องละ 200 บาท ปรากฏว่าเป็นผลิตภัณฑ์ขายดีมาก มียอดขายถึงหลักแสนบาทต่อเดือน

คุณทัศนีย์ ผู้แปรรูปข้าวกรอบสยาม เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า ในประเทศไทยได้กระจายสินค้าผลิตภัณฑ์ข้าวกรอบสยามนี้วางขายผ่านตัวแทนจำหน่าย ตามร้านขายขนม ขายของฝาก ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ร้านกาแฟ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคชาวไทยที่ชื่นชอบความกรอบอร่อย

ประโยชน์ที่ให้สรรพคุณทางยาและคุณค่าทางอาหารต่อสุขภาพผู้บริโภค เช่น ให้โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินบี วิตามินอี หรือธาตุเหล็ก ที่มีผลช่วยให้ลดคอเลสเตอรอล ป้องกันอาการหลอดเลือดแข็งตัว ป้องกันโรคหัวใจ ทำให้ระบบหัวใจแข็งแรง ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา ลดการเป็นตะคริว ช่วยการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน สร้างเม็ดเลือดแดง มีเส้นใยอาหารช่วยระบบการขับถ่าย หรือป้องกันโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่

นี่ก็คือเรื่องราว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ แปรรูปเป็นข้าวกรอบสยาม ขายดีสู่เงินล้าน ที่เป็นการแปรรูปเป็นข้าวกรอบ 3 รสชาติ เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตร สนับสนุนการใช้ผลผลิตการเกษตรที่ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ รวมถึงให้ผู้บริโภคได้รับคุณค่าทางโภชนาการต่อสุขภาพ สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณทัศนีย์ ผุยมาตย์ หรือ คุณมุก เลขที่ 67/782 หมู่บ้านชวนชื่นบางเขน ถนนแจ้งวัฒนะ 14 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทร. (085) 565-1020 หรือโทร. (081) 832-5151 ก็ได้นะครับ