“ปลาดุกร้า” พัทลุง แต่งตัวขึ้น GI เงินหมุนสะพัด กว่า 230 ล้านบาท

บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพัทลุง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด จับมือกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ดันปลาดุกร้า สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ระบุเงินสะพัดกว่า 230 ล้านบาท ต่อปี วางจำหน่ายทั่วประเทศ และสามารถบริโภคในห้องแอร์ คอนโดมีเนียมได้ เพราะมีการบรรจุแพ็กสุญญากาศ ชี้การตลาดยังดีอยู่

ดร.นาที รัชกิจประการ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพัทลุง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เล่าว่า ปลาดุกร้า เป็นสินค้าพื้นบ้านของจังหวัดพัทลุง ที่ใช้ปลาดุกจากธรรมชาตินำมาแปรรูปเป็นปลาดุกร้า จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มมากขึ้น

เพื่อเป็นการดำเนินงานการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น บริษัท ประชารัฐรักษาสามัคคีพัทลุง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด จึงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (BEDO) วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทำการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของปลาดุกร้าขึ้น

ทางสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO สังกัดกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดส่งคณะเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง เพื่อสำรวจข้อมูลชุมชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ สินค้าเกษตรกรรม และหัตถกรรม ที่มีความเป็นไปได้ในการขอรับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ของปลาดุกร้าต่อไป

“มั่นใจว่าปลาดุกร้าพัทลุง จะผ่านการรับรองจาก BEDO ให้เป็นสินค้า GI อย่างแน่นอน อันจะส่งผลให้สินค้าสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวพัทลุงในขั้นที่น่าพอใจ”

สำหรับจังหวัดพัทลุงนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ขึ้นทะเบียนให้ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2549 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI จนทำให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของจังหวัดพัทลุงมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศจนถึงขณะนี้

Advertisement

ทางด้าน คุณวีระ เพ็ญจำรัส นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพัทลุง (พช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเลี้ยงปลาดุก จังหวัดพัทลุง มีกว่า 50 กลุ่ม และยังสามารถผลิตแปรรูปปลาดุกร้า ได้ประมาณวันละ 2 ตัน ประมาณ 60 ตัน ต่อเดือน โดยราคาประมาณ 400 บาท ต่อกิโลกรัม มีมูลค่ากว่า 19 ล้านบาท ต่อเดือน กว่า 230 ล้านบาท ต่อปี

 

Advertisement

“สำหรับการตลาดนั้น ขณะนี้มีวางขายทั่วประเทศ และต่างประเทศอีกด้วย สำหรับตรงนี้จะเป็นการซื้อฝากส่งให้กับกลุ่มคนที่อยู่ต่างประเทศ ส่วนตลาดหลักๆ ยังไม่ปรากฏชัดเจน”

คุณวีระ บอกด้วยว่า ยังมีการผลิตแปรรูปปลาดุกร้าสุกรับประทานได้ทันทีไม่ต้องทอด โดยบรรจุแพ็กสุญญากาศ เหมาะกับห้องแอร์และผู้อยู่อาศัยคอนโดมีเนียม เป็นต้น จะไม่ส่งกลิ่น ปลาดุกร้าสำหรับที่จำหน่ายเป็นแพ็ก 50 บาท และแพ็กละ 100 บาท ขนาด 2 ตัว 3 ตัว และ 4 ตัว แล้วแต่ขนาดของปลา แต่ที่บรรจุแพ็กสุญญากาศราคาจะเพิ่มขึ้น

สำหรับการตลาดนั้นยังมีทิศทางที่ดี ยังมีความต้องการ สามารถพิสูจน์การผลิตได้ว่า มีผู้ประกอบอาชีพปลาดุกร้ามานาน โดยอายุผู้ประกอบการ มีตั้งแต่ 70 ปี และ 80 ปี เป็นต้น