บริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่นจี้รัฐใช้ยางพารา ชูนวัตกรรม “แผ่นรองรางรถไฟ” เจาะเมกะโปรเจ็กต์

ผู้ผลิตยางชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ IRC หนุนรัฐบาลใช้ยางพาราธรรมชาติ สร้างนวัตกรรมใหม่ ต่อยอดธุรกิจ โกยรายได้ 6,000 ล้านบาท คลอดแผ่นยางรองรางรถไฟรายแรกในประเทศไทย ปูพรมรถไฟทางคู่สายอีสาน ขยายไลน์สินค้าเจาะตลาดโครงการที่อยู่อาศัย แลนด์สเคป เครื่องจักรกลการเกษตร ช่วยชาวสวนยางแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ปีหน้าบุกเออีซี ตั้งเป้าโต 6%

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC บริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น ผู้ผลิตยางอีลาสโตเมอร์ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เปิดเผยว่า ทิศทางดำเนินธุรกิจของบริษัทในปัจจุบันไม่มุ่งอุตสาหกรรมรถยนต์เพียงอย่างเดียว ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ตรงตามความต้องการของลูกค้ามากขึ้น โดยขยายตลาดผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ใช้สำหรับผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทั้งยางนอกและยางใน ไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร (รถไถคูโบต้า) โครงการที่อยู่อาศัยภูมิสถาปัตย์ แลนด์สเคป และโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เพื่อให้ครอบคลุมตลาดทุกเซ็กเมนต์

ปี”61 เพิ่มปริมาณการใช้

อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางที่ประสบปัญหาราคาสินค้าในประเทศตกต่ำ โดยที่ผ่านมาบริษัทใช้ยางพาราธรรมชาติในการผลิตประมาณ 4,800 ตันต่อปี ตั้งเป้าในปี 2561 จะเพิ่มปริมาณการใช้อีก จากการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ

“เราลงทุนร่วมกับญี่ปุ่น 700 ล้านบาท ตั้งบริษัท ไออาร์ซี (เอเชีย) รีเสิร์ช จำกัด หรือ IAR คิดค้น วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากยางพาราและยางสังเคราะห์ อยู่ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และรังสิต ก่อตั้งมาได้ 17 ปีแล้ว เป็นองค์ความรู้ที่จะสามารถคิดค้นการผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราเพื่อเกษตรกรไทยของชาติ”

 

ปูพรมยางรองรถไฟสายอีสาน

ทั้งนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาเทคโนโลยีผลิตแผ่นยางรองรางรถไฟที่ผลิตจากยางพาราธรรมชาติ 100% ไม่ผสมเม็ดพลาสติกและยางสังเคราะห์ เป็นรายแรกของประเทศไทย ขณะนี้ได้นำออกสู่ตลาดแล้ว โดยมีผู้รับเหมานำไปใช้ก่อสร้างรถไฟสายอีสานช่วงทางโค้งแถว จ.นครราชสีมา ระยะทาง 30 กม. ซึ่งการทำตลาดจะผลิตตามออร์เดอร์ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้รับเหมา แต่คาดว่าตลาดจะมีการเติบโต เนื่องจากรัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายโครงการนับจากนี้ อีกทั้งเป็นการทดแทนการนำเข้าเม็ดพลาสติกและยางสังเคราะห์พิเศษราคาแพงจากต่างประเทศ เพื่อแปรรูปเป็นแผ่นรองรางรถไฟด้วย

“แผ่นรองรางรถไฟ เป็นก้าวสำคัญของบริษัทในการตอบสนองนโยบายรัฐ เพื่อช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ เพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ ส่วนขนาดของตลาดคงจะเปรียบเทียบกับตลาดรถยนต์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทได้ยาก เพราะเราผลิตตามออร์เดอร์ ขณะที่ต้นทุนก็เทียบกับการก่อสร้างถนนยากเช่นกัน ปัจจุบันรัฐอยากให้นำยางพารามาใช้ในการผลิตมากขึ้น บริษัทก็ตอบสนอง จริง ๆ เราเป็นผู้ใช้ยางพาราธรรมชาติในการผลิตยางในรถอยู่แล้ว และเลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพดีที่สุด กำหนดโควตาการใช้กับเกษตรกรสวนยางโดยตรง และควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ” นางพิมพ์ใจกล่าวและว่า

เจาะที่อยู่อาศัย-โรงเรียน

ขณะเดียวกัน บริษัทได้พัฒนานวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้แบรนด์ “Vi-pafe” รองรับการพัฒนาด้านภูมิสถาปัตย์และแลนด์สเคป ซึ่งสามารถนำไปปูพื้นตามลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ใช้สอย และใช้เป็นแผ่นปูพื้นสำเร็จรูปที่สามารถออกแบบได้ตามความต้องการ ที่ผ่านมาได้นำไปปูพื้นสนามกีฬาโรงเรียนบางยี่ขัน และอนาคตจะขยายไปยังโรงเรียนอื่น ๆ อีก 5-6 แห่ง และในโครงการสนามกีฬาทั่วประเทศ

พร้อมกับจะขยายกลุ่มลูกค้าไปยังตลาดโครงการที่อยู่อาศัย บ้าน คอนโดมิเนียม สำนักงาน เช่นยางรองขอบกระจกประตู หน้าต่าง ซึ่งเจาะตลาดลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศในแถบประเทศอาเซียน ที่จะมีการก่อสร้างใหม่เกิดขึ้นอีกมาก เช่น ประเทศกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา อินโดนีเซีย สปป.ลาว คาดว่าตลาดจะมีการเติบโตอีกมาก

“ผลิตภัณฑ์ Vi-pafe ผลิตด้วยยางคุณภาพสูงจากเม็ดยางและยางสีดำจากการรีไซเคิลยางที่เหลือจากการผลิต ช่วยลดแรงกระแทก ไม่ลื่น ดูแลรักษาง่าย สวยงาม ตอบโจทย์การใช้งานในหลายรูปแบบ เช่น ปูพื้นโรงยิม สถานที่ออกกำลังกาย ทางเดินในสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น พื้นที่รอบสระว่ายน้ำ สนามหญ้าเทียม เป็นต้น”

ดันยอดขายปีหน้าโต 6%

“ปีหน้าจะลงทุน 400-500 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตชิ้นส่วนยางนอกและยางในให้เต็ม 100% เพราะความต้องการสูง โดยเฉพาะตลาดส่งออกยอดขายเป็น 1 ใน 3 จากยอดขายรวมที่โตเฉลี่ยปีละ 5-6% ปีนี้คาดว่าจะโตก้าวกระโดดเป็น 6,000 ล้านบาท จากปีที่แล้ว 5,500 ล้านบาท ไตรมาส 3 ที่ผ่านมามียอดขายแล้ว 3,900 ล้านบาท ขณะที่ส่วนแบ่งตลาด ปัจจุบันเรามีส่วนแบ่งอยู่ที่ 30% ติด 1 ใน 5 ”

ร.ฟ.ท.-ก.ท่องเที่ยวฯ ชี้ต้นทุนแพง

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า รถไฟนำยางพารามาใช้กับการก่อสร้างเฉพาะส่วนงาน เช่น บริเวณจุดตัด ทางโค้ง เนื่องจากต้นทุนสูงและไม่สามารถนำมาใช้ก่อสร้างโดยตรงได้เหมือนงานถนน

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ที่ผ่านมาให้หน่วยงานในสังกัดนำยางพารามาผสมกับการก่อสร้างลู่วิ่งในสนามกีฬาบ้างแล้ว แต่มีต้นทุนสูงถึง 30% ทำให้การนำมาใช้งานจึงมีปริมาณไม่มากนัก แต่ในปี 2561 จะให้เพิ่มปริมาณการใช้งานมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรด้วย

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์