ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตกาตาร์ประจำประเทศไทย ว่า กระทรวงสาธารณสุขกาตาร์ ได้ประกาศยกเลิกมาตรการกำหนดให้บริษัทผู้นำเข้ากาตาร์จะต้องขอหนังสืออนุมัติการนำเข้าเนื้อวัวแช่เย็น แช่แข็ง เนื้อสัตว์แปรรูปทุกประเภท รวมทั้งผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (ไม่ปรุงสุก) จากกระทรวงเทศบาลและสิ่งแวดล้อมของกาตาร์แล้ว ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แต่ผู้ส่งออกไทยหรือบริษัทที่ต้องการนำสินค้าดังกล่าวเข้าไปในกาตาร์ ยังคงต้องนำเอกสารการส่งออก และหนังสือรับรองที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่จะส่งออกไปยังกาตาร์ ไปขอรับการประทับตรารับรองจากสถานเอกอัครราชทูตรัฐกาตาร์ประจำประเทศไทย เพื่อส่งให้ผู้นำสินค้าเข้ากาตาร์ใช้ประกอบการผ่านกระบวนการศุลกากรของกาตาร์ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยสามารถตรวจสอบข้อมูลประกาศรายชื่อตราฮาลาลที่กาตาร์รับรอง ประเทศและสินค้าที่กาตาร์ห้ามนำเข้า ตลอดจนข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขกาตาร์อ้างอิงถึงสถานการณ์ด้านความปลอดภัยของสุขภาพสัตว์ของประเทศต่างๆ ได้จากเว็บไซต์ www.moph.gov.qa/port-health-and-food-control ในหัวข้อ List of Approved Islamic Associations in The Countries Exporting to Qatar for Halal and Halal Slaughterhouse Certificates และ หัวข้อ List of Banned Imported Foodstuff to Qatar ซึ่งกาตาร์จะคอยปรับปรุงข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นระยะๆ ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ดังกล่าวระบุว่า กาตาร์ได้รับรองตราฮาลาลของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยแล้ว
กาตาร์เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 28 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 3 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าประมาณ 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังกาตาร์คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากกาตาร์มูลค่า 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ไทยส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ และเนื้อสัตว์แปรรูปไปยังกาตาร์เป็นมูลค่าไม่มากนัก โดยมีการส่งออกไปในปี 2559 และ 9 เดือนแรกของปี 2560 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8.71 และ 5.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ
การลดขั้นตอนการนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ของกาตาร์ดังกล่าว นับเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยในการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ไปยังกาตาร์ได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเครื่องหมายฮาลาลของไทยได้รับการยอมรับในกาตาร์ จึงเป็นโอกาสที่จะเร่งสร้างความเชื่อมั่น และเอกลักษณ์ของสินค้าอาหารฮาลาลจากไทยให้เป็นที่เชื่อถือในตลาดนี้ และจะช่วยส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญของกาตาร์ต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องดำเนินการด้านกฎระเบียบการนำเข้า และมาตรฐานสินค้าของกาตาร์อย่างเคร่งครัดเพื่อรักษามาตรฐานสินค้าฮาลาลของไทยในตลาดตะวันออกกลาง