ฮือฮา!! กะลามะพร้าว ทำเป็นแป้งอัดแข็งทาหน้า

เรียบร้อยไปแล้วสำหรับการประกาศผลและพิธีมอบรางวัลนวัตกรรม เนื่องใน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๙” เพื่อเชิดชูเกียรติแก่นวัตกรไทยที่สามารถพัฒนานวัตกรรมจนประสบความสำเร็จ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ในปีนี้แบ่งรางวัลออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ รางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม รางวัล Inspirational Innovator รางวัล Startup of the year รางวัล Total Innovation Management รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย และรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท ดังนี้

รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ

ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม ไข่ออกแบบได้ บริษัท คลีน กรีนเทค จำกัด

ด้านสังคม ได้แก่ ผลงานนวัตกรรม การพัฒนาโพรไบโอติกแลกโตแบซิลลัสพาราเคซิอิเอสดีหนึ่งเพื่อใช้ป้องกันฟันผุ

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม

สาขา Food Design ได้แก่ แป้งเบเกอรี่สำเร็จรูปปราศจากกลูเต็น บริษัท บูรพา พรอสเพอร์ จำกัด

สาขา Green design ได้แก่ “บีช” กระเบื้องผงแก้วรีไซเคิล บริษัท อิมแม็กซ์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

img_9611-560x420

สาขา Medical Product Design ได้แก่ แผ่นรองใต้ก้นพร้อมถุงวัดปริมาตรเลือดภายหลังการคลอดปกติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

สาขา Service Design ได้แก่ บริการรับตู้รับฝากสิ่งของควบคุมระยะไกล บจก. อินโนชิเนติ

รางวัล Inspirational Innovator

องค์กร ได้แก่ “ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์” (Teach for Thailand)…สร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาไทย

บุคคล ได้แก่ นายวิเชียร พงศธร…ผู้ยึดหลักคิดและปฏิบัติสู่สังคมไทยที่มีความสุขอย่างยั่งยืนร่วมกัน

บุคคล ได้แก่ ดร.มีชัย วีระไวทยะ…บิดาแห่งธุรกิจเพื่อสังคม

รางวัล Startup of the year

รางวัล Startup of the year ได้แก่ JITTA

img_9675-560x420

รางวัล Startup Enabler of the year ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ

รางวัล Professional Investor of the year ได้แก่ Invent

รางวัล Total Innovation Management

รางวัลสุดยอดองค์กรนวัตกรรม ได้แก่ “CHO” บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน)

รางวัลองค์กรนวัตกรรมแห่งปีกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ “UREKA” บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ จำกัด (มหาชน)

รางวัลองค์กรนวัตกรรมแห่งปีกลุ่มบริการ ได้แก่ “JUBILE” บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน)

รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย

ระดับอุตสาหกรรม ได้แก่ ขี้เถ้าแกลบเสริมฤทธิ์การชะลอการสุกของผลไม้ บริษัท โรงสีข้าว ต.ประเสริฐ อุตรดิตถ์ จำกัด

ระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ “ไรซ์เบอร์รี่ช็อคโกครัน” อาหารเช้าจากข้าวไทย วิสาหกิจชุมชนบ้านท่าทอง

รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย

สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. ไม่มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ

สาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ ระดับปริญญาตรี หรือ ปวส. ได้แก่ ผลงาน O-Bese-Gone Application ลดน้ำหนักลดโรคด้วยนาฬิกา และแอพพลิเคชันดูแลสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

สาขานวัตกรรมกิจกรรมทางกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ ระดับมัธยมปลาย หรือ ปวช. ได้แก่ ผลงาน ห่วงน้ำ จากวิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี

 ด้านนายสัตวแพทย์กิตติ ทรัพย์ชูกุล  เจ้าของผลงานนวัตกรรม “ไข่ออกแบบได้” (Dezigner 8)  กรรมการผู้จัดการ

บริษัท คลีน กรีนเทค จำกัด  กล่าวว่า นวัตกรรมนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อพัฒนาคุณภาพไข่ไก่ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและเป็นที่ต้องการของตลาด  โดยการใช้นาโนเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการนำส่งสารอาหารเข้าสู่อวัยวะเป้าหมาย เพื่อพัฒนาคุณภาพไข่ไก่ อาทิ การนำส่งน้ำมันโหระพาและน้ำมันออริกาโน่ ซึ่งมีฤทธิ์ในการป้องกันและรักษาโรคบิดในไก่ ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และช่วยกระตุ้นการกินอาหาร เป็นการทำให้ลำไส้ของไก่สะอาด ส่งผลให้ไก่ได้รับสารอาหารได้เต็มที่ อย่างเช่น เพิ่มไอโอดีนหรือสารอาหารอื่นๆที่ต้องการเข้าไป  และมีผลทำให้ไข่ขาวของเป็นวงกลม ผู้บริโภคมีโอกาสได้บริโภคไข่ไก่ที่มีคุณภาพ และปลอดภัยจากการตกค้างของสารเคมีและยาปฏิชีวนะ

“ตอนนี้ทางบริษัทได้ร่วมมือกับบริษัทใหญ่ๆ รวมถึงตัวเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ด้วย ซึ่งในการพัฒนาไข่ไก่รูปแบบนี้ จะทำให้ขายไข่ไก่ได้ราคาดีขึ้น  นอกจากนี้ทางบริษัท คลีน กรีนเทคฯ ก็ยังได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆในอาเซียน อย่างเช่น มาเลเซีย พม่าฯลฯ ในการผลิตไข่ดังกล่าว”

img_9658-728x546

ส่วนรางวัลการออกแบบเชิงนวัตกรรม  สาขาการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green design)          “VOWDA” แป้งอัดแข็งจากกะลามะพร้าว คว้า รางวัลที่ 2  คุณวิลาสินี โฆฆิตชัยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ว้าวด้า จำกัด  กล่าวว่า  ด้วยความที่ครอบครัวและทำธุรกิจอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งปลูกมะพร้าวจำนวนมาก และเห็นการทิ้งกะลามะพร้าวโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า จึงอยากนำมาเพิ่มมูลค่า เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น เพราะเห็นว่าน่าจะมาทำเป็นแป้งทาหน้าได้ หลังจากที่เคยนำข้าวและเม็ดบัวมาทำเป็นแป้งอัดแข็งจำหน่ายก่อนหน้านี้แล้ว

img_9600-728x546

“วิธีการทำแป้งอัดแข็งจากกะลามะพร้าวค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน เพราะต้องผ่านกระบวนการแปรรูป 3 อย่างคือ การแปรรูปให้เป็นถ่านกัมมันต์บดละเอียด การแปรรูปโดยการบดละเอียดให้ได้ขนาด จากนั้นนำมาฆ่าเชื้อโดยใช้วิธีให้คงสี และการใช้หลักการสกัดเซลลูโลสบริสุทธิ์ นำไปผสมในสูตรตำรับแป้งแต่งหน้าแบบแข็ง และนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเครื่องสำอางออแกนิก ซึ่งจะออกจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในราคาตลับละ 900 กว่าบาท ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าทำไมแพงทั้งๆที่ทำจากกะลามะพร้าว  ความจริงต้องผ่านหลายกระบวนการมาก กว่าจะทำออกมาได้ ซึ่งเหมาะกับคนที่ชอบใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติแทนแป้งทัลคัมที่ใช้กันอยู่ทั่วไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แป้งอัดแข็งจากกะลามะพร้าวได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก เพราะหลายคนไม่คิดว่าจะนำมาทำเป็นแป้งทาหน้าได้  เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักจะนำน้ำมันมะพร้าวมาทำเป็นเครื่องสำอางเสียมากกว่า