ผลิตภัณฑ์จากเหงือกปลาหมอ อนุบาลวัดคลองใหญ่ ตราด คว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2

ทีมเยาวชน จากโรงเรียนอนุบาลวัดคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ตัวแทนทีมเยาวชนของจังหวัดตราด นำโครงงานอาชีพ “เหงือกปลาหมอมหัศจรรย์” เข้าประกวดโครงการ โอท็อป จูเนียร์ (OTOP Junior Contest) สร้างผลิตภัณฑ์ของใช้ 22 ชนิด คว้ารางวัลระดับประเทศ รองชนะเลิศ อันดับ 2 ที่จัดโดยกรมพัฒนาชุมชน ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จากงาน OTOP CITY 2017 เมื่อวันที่ 17-25 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี รับโล่เกียรติยศและรางวัลเงินสด 40,000 บาท

โครงงานอาชีพ “เหงือกปลาหมอมหัศจรรย์” เป็นผลงานที่นำเสนอโดยทีมนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียนอนุบาลวัดคลองใหญ่ 3 คน คือ เด็กหญิงศันสนีย์ แสงทอง “น้องฮุ๊น” เด็กหญิงนัฐณิชา เดชสุภา “น้องเปา” เด็กหญิงสุนิสา สุขเสริม “น้องเฟิร์น” ทีมอาจารย์ที่ปรึกษา ประกอบด้วย อาจารย์เสาวนีย์ รอดพิเศษ อาจารย์เกียรติพร รำไพ อาจารย์หัสดาพร ศิลาชัย และ อาจารย์สุพจน์ นามโคตร

คนเก่ง และที่ปรึกษา

 ภูมิปัญญาสมุนไพรรักษา เหา กลาก เกลื้อน

สู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเหงือกปลาหมอ

อาจารย์เสาวนีย์ รอดพิเศษ หนึ่งในที่ปรึกษาโครงงานอาชีพเหงือกปลาหมอมหัศจรรย์ เล่าว่า โครงงานนี้ทำในรูปแบบกิจกรรมของนักเรียนเป็นกลุ่มสหกรณ์การเกษตรมา ต่อเนื่องมานาน 8-9 ปีแล้ว เนื่องจากอำเภอคลองใหญ่อยู่ติดชายแดนกัมพูชา ชาวกัมพูชาอพยพเข้ามาทำงาน มีลูกหลานมาเรียนที่โรงเรียนอนุบาลวัดคลองใหญ่ สภาพของเด็กๆ ขาดคุณภาพชีวิต มีโรคคัน กลาก เกลื้อน และเหา ตอนนั้นมีโครงงานสุขภาพ ปี 2552 ได้นำใบน้อยหน่ามาผสมกับลูกมะกรูดเผามาทาผิวหนัง ทำแชมพูสระผม รักษาโรคคันและเหาของนักเรียนหายได้ภายใน 1 ปี ปีต่อมาจึงนำมาต่อยอดเป็นโครงงานอาชีพ และคิดนำเหงือกปลาหมอสมุนไพรในท้องถิ่นมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งประกวดงานศิลปหัตถรรมของจังหวัดตราดและได้เป็นตัวแทนระดับภาค จากนั้นมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจาก 10 ผลิตภัณฑ์ เป็น 22 ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน

ผลิตภัณฑ์

“โครงงานอาชีพเริ่มจากนำใบเหงือกปลาหมอที่มีอยู่ในท้องถิ่นจำนวนมากมาเป็นตัวยาสมุนไพร เพราะมีสรรพคุณช่วยรักษาเม็ดผดผื่นคัน แผลพุพอง ระบบน้ำเหลืองในร่างกาย จึงใช้เป็นตัวยาหลักในการทำโครงงานอาชีพ เหงือกปลาหมอมหัศจรรย์ ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เริ่มจาก สบู่ โลชั่น สเปรย์กันยุง จากแรกๆ ทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 10 ชนิด เพิ่มเป็น 22 ชนิด ถึงปัจจุบันใช้เวลา 8-9 ปี เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายขายได้ในหน่วยราชการ บุคคลทั่วไปทั้งภายในและต่างจังหวัด โดยมีหน่วยงาน บุคลากร ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เป็นเครือข่ายช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ แพ็กเกจจิ้ง และได้รับการรับรองจากโรงพยาบาลคลองใหญ่ เมื่อมีการประกวดโครงการ โอท็อป จูเนียร์ จึงนำโครงการอาชีพเหงือกปลาหมอทำต่อเนื่องอยู่แล้วเข้าประกวด ใช้เวลาเตรียมตัวเพียง 2 เดือน เพราะผลิตภัณฑ์ทำอยู่ตลอด” อาจารย์เสาวนีย์ กล่าว

ใช้รูปแบบสหกรณ์

Advertisement

หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สร้างโครงงานอาชีพ

Advertisement

อาจารย์เกียรติพร รำไพ หัวหน้าทีมอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำโครงงานอาชีพของนักเรียนในระดับประถมศึกษา ป.1-ป.6 เป็นกิจกรรมในรูปแบบของกลุ่มสหกรณ์การเกษตร ใช้เวลาคาบกิจกรรมในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการทำงานเป็นทีม มีการนำเครือข่ายในชุมชน ภูมิปัญญาพื้นบ้าน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วม และสอนให้นักเรียนเรียนรู้ทักษะอาชีพด้วยการปฏิบัติจริง รู้จักการทำบัญชีรายรับรายจ่าย การกำหนดราคาขาย การสรุปต้นทุนกำไร สมาชิกสหกรณ์จะแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแกนนำที่จะช่วยบริหารขับเคลื่อนการทำงาน และสมาชิกสหกรณ์ผู้ถือหุ้นที่มีส่วนร่วมในกิจกรรม จากนั้นจะแบ่งผลกำไรการดำเนินงานทุกๆ 3 เดือน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และ ดร.ประธาน สุรกิจบวร และคณะร่วมแสดงความยินดี

“สมาชิกสหกรณ์การเกษตรปี 2560 มีประมาณ 650 คน เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 จะแบ่งเป็นกลุ่มแกนนำ 10 คนที่เป็นคณะบริหาร ที่เหลือเป็นสมาชิกทั่วไป ทุกคนจะถือหุ้น หุ้นละ 10 บาท มีตั้งแต่ 1-50 หุ้น จากนั้นรายได้สุทธิจะมีแบ่งเป็นทุนดำเนินงาน 20% และมีเงินปันผล ผลิตภัณฑ์ที่นักเรียนทำขายดีทั้งในกลุ่มผู้ปกครอง การออกบู๊ธในงานระดับจังหวัดหลายๆ ครั้ง และมีการสั่งซื้อ กลุ่มแกนนำที่ทำผลิตภัณฑ์ มียอดเงินปันผล สามารถเก็บสะสมไว้ใช้เป็นทุนการศึกษาและทำให้นักเรียนมีกำลังใจมาก เช่น ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2560 ได้ปันผลคนละ 1,300 บาทเศษ” อาจารย์เกียรติพร กล่าว

 เหงือกปลาหมอมหัศจรรย์

หลากหลายผลิตภัณฑ์จัดให้ 3 เซ็ต

อาจารย์หัสดาพร ศิลาชัย หรือ อาจารย์บลู หนึ่งที่ปรึกษาโครงงานอาชีพเหงือกปลาหมอมหัศจรรย์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นการเข้าสู่การประกวดโครงการ โอท็อป จูเนียร์ (OTOP Junior Contest) เพราะรูปแบบของการดำเนินงานที่กำหนดมาตรงกับการจัดกิจกรรมของสหกรณ์การเกษตรของโรงเรียนที่น้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นรากฐานให้การทำกิจกรรมอยู่แล้ว ทั้งการผลิต การตลาด การสร้างมาตรฐาน การมีส่วนร่วมของเครือข่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสมุนไพรเหงือกปลาหมอมีหลากหลายมากขึ้น เริ่มจากการทำผลิตภัณฑ์ใช้ในครัวเรือน เช่น สบู่ก้อนฟอกหน้า สบู่เหลว แชมพู ครีมนวดผม สเปรย์หอมป้องกันยุง น้ำยาล้างจาน น้ายาล้างมือ น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาถูพื้น และชาเหงือกปลาหมอ

อาจารย์นพรัตน์ รุ่งโรจน์

อาจารย์หัสดาพร กล่าวอีกว่า เมื่อได้รับความนิยมจึงพัฒนาต่อยอดนำมาผสมกับผัก ผลไม้ ธัญพืชที่หาง่ายในท้องถิ่นซึ่งมีประโยชน์ต่อผิวพรรณ เส้นผม ทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ สบู่ก้อนสำหรับผิวกาย แป้งระงับกลิ่นกาย โรลออนระงับกลิ่นกาย แป้งลดผดผื่นคัน โลชั่น สครับผิว โลชั่นป้องกันยุง เจลล้างมือ น้ำหอมฉีดผ้า น้ำยาซักผ้า แชมพูสำหรับสุนัข เข็มกลัดดอกมะลิ และลูกหอมสำหรับใช้กับห้องน้ำ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุด 4-5 อันดับ คือ สเปรย์หอมป้องกันยุง โลชั่น สบู่ก้อนฟอกหน้า สบู่เหลวและลูกหอม

“เพื่อความสะดวกในการใช้หรือมอบเป็นของขวัญ ของฝาก จึงจัดผลิตภัณฑ์เป็น 3 เซ็ต คือ เซ็ตที่ 1 “งามเป็นนิจ” มีสบู่ก้อนสำหรับผิวหน้า-ผิวกาย สบู่เหลว แป้งระงับกลิ่นกาย แป้งลดผดผื่นคัน โรลออนระงับกลิ่นกาย โลชั่น แชมพู และครีมนวดผม เซ็ตที่ 2 “มิตรคู่เรือน” มี สเปรย์ป้องกันยุง โลชั่นป้องกันยุง น้ำหอมฉีดผ้า เจลล้างมือ น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาเช็ดพื้น น้ำยาล้างห้องน้ำ และเครื่องดื่มสมุนไพร และเซ็ตที่ 3 “เพื่อนคู่ใจ” มี แชมพูสำหรับสุนัข และของที่ระลึกสำหรับโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น เข็มกลัดดอกมะลิ ลูกหอมในตู้เสื้อผ้า ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ราคาไม่แพง ชิ้นละ 15-70 บาท ซึ่งได้ผ่านการควบคุมและรับรองการใช้จากโรงพยาบาลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดแล้ว” อาจารย์หัสดาพร กล่าว

 ตลาดเฟซบุ๊ก ออกบู๊ธ ออเดอร์เพียบ

มีส่งเพื่อนบ้าน

อาจารย์เสาวนีย์ (ซ้าย) อาจารย์หัสดาพร (ขวา)

เด็กหญิงณัฐณิชา เดชสุภา หรือ น้องเปา กล่าวถึงตลาดผลิตภัณฑ์เหงือกปลาหมอว่า ผลิตภัณฑ์ของโรงเรียนควบคุมการผลิตโดยโรงพยาบาลคลองใหญ่ และขึ้นทะเบียนสินค้า OTOP (โอท็อป) เป็นของดีของอำเภอคลองใหญ่แล้ว ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากเราจะขายในโรงเรียนสำหรับครู นักเรียน และคณะผู้มาศึกษาดูงานในโรงเรียนแล้ว ยังขายหน้าโรงเรียน ตลาดนัดคลองถม ออกบู๊ธตามงานต่างๆ และโปรโมตสินค้าในเฟซบุ๊กเพจ “สหกรณ์การเกษตรโรงเรียนอนุบาลวัดคลองใหญ่” ทำให้มีลูกค้าสั่งซื้อมาตลอดด้วย

เด็กหญิงศันสนีย์ แสงทอง หรือ น้องหุ๊น กล่าวเสริมว่า คนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา ส่วนใหญ่ติดใจ และกลับมาซื้อใหม่เกือบทุกคน และยังรับผลิตตามออเดอร์และจัดส่งได้ทั่วประเทศ ถ้าจะสั่งตอนนี้ ต้องรอคิว เพราะกำลังผลิตแป้งแก้คันและสบู่เหลวเหงือกปลาหมอรายการละ 200 ชิ้นตามออเดอร์ของโรงพยาบาลคลองใหญ่ที่จะจัดงานประชุมประชาพิจารณ์แผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ ไทย-กัมพูชา ที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2561 นี้ ต่อไปคาดว่าจะฝากขายร้านค้าเครือข่ายผู้ปกครองของโรงเรียน และสหกรณ์ร้านค้าจังหวัดตราด

ออกบู๊ธ งานวัดท่าโสม อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด

เด็กหญิงสุนิสา สุขเสริม หรือ น้องเฟิร์น กล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในความสำเร็จคือ ทีมงานที่เข้มแข็ง มีความใส่ใจในทุกๆ สิ่งที่ทำและการทำงานต้องมีการวางแผนที่ดี ศึกษาข้อมูลการทำโครงงานอาชีพก่อน และวางแผนขั้นตอนการทำงานร่วมกัน แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ หลังจากนั้น ก็จะจัดเตรียมสถานที่เครื่องมือ อุปกรณ์ วัตถุดิบ นัดหมายเวลาทำผลิตภัณฑ์อาจใช้เวลาหลังเลิกเรียนและวันหยุดบ้าง ทีมงานต้องเสียสละเวลา และสุดท้ายจัดหาตลาดขายผลิตภัณฑ์

อาจารย์นพรัตน์ รุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์และคุณภาพเข้าสู่มาตรฐานเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจยุค Thailand 4.0 และสืบสานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต่อไปโรงเรียนจะส่งผลิตภัณฑ์ไปขอเลขกำกับมาตรฐานของสินค้าจากสำนักงานอาหารและยา และจะพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) ในโรงเรียนและชุมชน

สนใจผลิตภัณฑ์เหงือกปลาหมอสอบถาม โรงเรียนอนุบาลวัดคลองใหญ่ โทร. (039) 581-3496 หรือ อาจารย์หัสดาพร ศิลาชัย โทร. (085) 083-9514

เซ็ตมิตรคู่เรือน

การทำสเปรย์หอมกันยุงเหงือกปลาหมอ

อุปกรณ์

  1. 1. มีด/เขียง
  2. ถาด
  3. ทัพพี
  4. ตาชั่ง
  5. กระชอน
  6. ผ้ากรอง
  7. บีกเกอร์
  8. ไม้คนสาร
  9. อ่างผสม
  10. หลอดหยด
  11. 11. บรรจุภัณฑ์

วัสดุที่ใช้

  1. สมุนไพรใบเหงือกปลาหมอตากแห้ง (ตาก 2-3 แดด) 50 กรัม
  2. น้ำสะอาด 500 มิลลิลิตร
  3. การบูร 20 กรัม
  4. หัวน้ำหอมตะไคร้หอม 25 ซีซี
  5. แอลกอฮอล์ 90% 350 มิลลิลิตร

ขั้นตอนการทำ

  1. นำใบเหงือกปลาหมอตากแห้ง จำนวน 50 กรัม ต้มกับน้ำ 500 มิลลิลิตร เทใส่กระชอน เอากากออกแล้วกรองด้วยผ้ากรองอีกครั้ง พักไว้ในอ่างผสมที่ 1
  2. นำการบูร 20 กรัม ใส่ในบีกเกอร์ เทแอลกอฮอล์ 90% 350 มิลลิลิตร คนให้ละลายและใส่หัวน้ำหอมตะไคร้หอม 25 ซีซี กวนให้เข้ากันพักไว้ให้เย็น
  3. ใช้หลอดหยดในขวดบรรจุภัณฑ์ ปิดฉลาก จำหน่ายราคาขวดละ 35 บาท