สศก.เผย ปีนี้ลิ้นจี่ภาคเหนือมีเพียง 4 หมื่นตัน ขณะที่ลำไยเตรียมอออกสู่ตลาดกว่า 6.5 แสนตัน

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลไม้ผลเอกภาพ ลำไย และ ลิ้นจี่ ของภาคเหนือในปี 2561 พบว่า  พื้นที่ปลูกลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน เชียงราย ลำปาง และตาก  มีเนื้อที่ยืนต้น 862,220 ไร่  เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.49% เนื่องจากการปลูกใหม่แทนลิ้นจี่ โดยมีเนื้อที่ให้ผล 839,985 ไร่ เพิ่มขึ้น 1.33%  จากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2558 ซึ่งปลูกเพิ่มแทนต้นลำไยที่อายุมากให้ผลผลิตต่ำ  ผลผลิตรวม 659,173 ตัน แบ่งเป็นลำไยในฤดู 386,342 ตัน ลำไยนอกฤดู 272,831 ตัน คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 7.46%

จากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการออกดอกติดผล และเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น  ทั้งนี้ ผลผลิตต่อไร่ 785 กก. เพิ่มขึ้น 6.08%  เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ต้นลำไยออกดอกติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าในบางพื้นที่ของ จ.พะเยาและตาก จะประสบปัญหาพายุฤดูร้อนทำให้พื้นที่เสียหายไปบ้าง แต่ในภาพรวมผลผลิตยังคงเพิ่มขึ้น และจะออกสู่ตลาดมากสุดในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

ส่วนลิ้นจี่ พื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และ น่าน มีเนื้อที่ยืนต้น 93,453 ไร่ ลดลง 9.07% เนื้อที่ให้ผล 92,812 ไร่ ลดลง 9.12% เกิดจากลิ้นจี่ให้ผลผลิตน้อยติดต่อกันหลายปี เกษตรกรจึงโค่นต้นทิ้งและปรับเปลี่ยนไปปลูกลำไยและไม้ผลอื่น เช่น เงาะ ส้ม มะม่วง กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า เป็นต้น

ทำให้ปีนี้มีผลผลิตลิ้นจี่รวม 41,661 ตัน ลดลง 3.43% แต่ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 449 กก. เพิ่มขึ้น 6.40%  เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ต้นลิ้นจี่ออกดอกติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีฝนตกในช่วงที่ติดผลอ่อนในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศดี และมีโครงการสนับสนุนจากภาครัฐในการทำลิ้นจี่คุณภาพให้ได้ราคาดี มีการขยายการตลาดโดยการขายผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น จึงจูงใจให้เกษตรกรดูแลต้นลิ้นจี่ดีกว่าปีที่ผ่านมา  โดยผลผลิตจะออกมากสุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้จัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ปี 2561 ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยมีหลักคือ มีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน จัดการผลผลิตให้สมดุลกับความต้องการของตลาด เชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้อได้อย่างเหมาะสม เน้นให้จังหวัดบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลัก เช่น การส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน (GAP) ส่งเสริมการห่อช่อลิ้นจี่ก่อนการเก็บเกี่ยว การจัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตผลไม้คุณภาพตามความเหมาะสมของพื้นที่ และการให้คำแนะนำเพื่อเตรียมพร้อมในฤดูกาล ตลอดจนการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ไม้ผลคุณภาพดี ส่งเสริมซื้อขายแบบออนไลน์ การแปรูป และผลักดันการส่งออกอย่างต่อเนื่อง