ช่อดอกไม้ ใบเตยหอม งานดี สร้างรายได้ ที่พังงา

ใบเตยเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ชอบอยู่ตามที่ชื้นหรือเฉอะแฉะ คนไทยรู้จักดีเนื่องจากถูกนำมาทำเป็นส่วนหนึ่งของอาหารหวานเพื่อปรุงกลิ่นให้หอมซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยมาก ไม่ว่าของหวานที่เป็นน้ำหรือไม่น้ำก็นิยมนำใบเตยมาเป็นส่วนประกอบ คนไทยคุ้นกับกลิ่นของใบเตย ขนมหวานหลายอย่างหากขาดใบเตยแล้วจะรู้สึกว่าไม่อร่อย สำหรับอาหารคาวใบเตยก็ใช้ในน้ำมันที่ทอด พอน้ำมันร้อนๆ ก็เอาใบเตยใส่สักพักพอใบเตยลอยก็ช้อนออก เพื่อดับกลิ่นคาวสำหรับเนื้อสัตว์ที่ทอด

นอกจากนำใบเตยมาแต่งกลิ่นแล้ว ยังมีการนำใบเตยมาแต่งสีอีกด้วย เช่น ในสังขยาใบเตย ขนมชั้น สองสิ่งนี้จะขาดใบเตยไม่ได้เพราะขนมจะเป็นสีเขียวซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้สีผสมอาหาร กลิ่นของใบเตยคล้ายกับกลิ่นข้าวหอมมะลิ และดอกชมนาด ต้นเตยที่ปลูกกันในปัจจุบันมีทั้งเตยไม่หอมซึ่งนำไปกำกับดอกไม้ไหว้พระกับเตยหอมซึ่งดูด้วยตาไม่มีความแตกต่างกัน ถ้าต้องการต้นเตยหอมมาปลูกจำเป็นต้องขยี้ใบดมก่อน เพราะเตยธรรมดาจะไม่มีกลิ่นหอม หนำซ้ำยังมีกลิ่นเหม็นเขียวอีกด้วย

ต้นเตยหอมเป็นไม้ล้มลุกพุ่มเล็กมีอายุหลายปี สมัยก่อนนิยมปลูกเลี้ยงไว้ใกล้ที่ล้างจาน หรือข้างบ่อน้ำ เพราะต้นเตยชอบแดดพอๆ กับน้ำ ยิ่งตัดไปใช้ประโยชน์ ต้นเตยยิ่งแตกหน่อออกกอให้เรามากขึ้น หมั่นตัดอยู่เรื่อยๆ ต้นเตยก็จะไม่โทรมเหมือนทิ้งไว้ไม่ตัด การขยายพันธุ์ก็เพียงขุดต้นเล็กๆ ที่แตกออกข้างให้ติดรากนำมาจิ้มลงดินที่ชื้นๆ พรางแสงบ้าง ไม่นานต้นเตยหอมก็ผลิใบจนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

เมื่อไม่กี่ปีมานี้มีการนำใบเตยเป็นต้นมาใส่ในรถโดยเฉพาะรถแท็กซี่ ต่อมาวิวัฒนาการพับเป็นดอกกุหลาบ แต่ผู้โดยสารบางคนไม่ค่อยชอบกลิ่น ตอนหลังก็ชักซาๆ ไป การนำใบเตยหอมมาประดิษฐ์ประดอยเป็นเรื่องไม่ยากสำหรับคนไทยที่มีพรสวรรค์ทางด้านนี้ ไปตะกั่วป่าคราวนี้มีโอกาสเจอ คุณณัฐจงรัตน์ สมศักดิ์ หรือ คุณนงค์ เบอร์โทรศัพท์ (093) 582-5847 ที่ร้านโกเสริฐขายเสื้อผ้า ติดกับวัดนิกรวราราม (วัดย่านยาว) ตรงข้ามปั๊ม ปตท.ตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เจ้าของไอเดียนำใบเตยหอมมาทำเป็นช่อดอกไม้

คุณนงค์เดิมขายเสื้อผ้ารองเท้าตามตลาดนัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เขาหลัก จังหวัดพังงา มาหลายสิบปี ตอนเศรษฐกิจรุ่งเรือง วันหนึ่งๆ มีรายได้วันละหลายหมื่น ต่อมาเจอพิษเศรษฐกิจฟองสบู่แตกตอนต้มยำกุ้ง ทำให้สิ้นเนื้อประดาตัว จึงต้องเริ่มฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ แต่ก็ยังเจออุปสรรคอีกมาก ทำให้ต้องเปลี่ยนเป็นขายอยู่กับที่ ซึ่งไม่เหนื่อยมาก ประกอบกับอายุเริ่มมากขึ้นแล้ว ในช่วงระหว่างนี้ มีความเครียดเรื่องการทำงานมาก เพราะต้องรับภาระเรื่องครอบครัว

 

อาชีพเกษตรแน่นอนกว่า

การประสบปัญหาเรื่องการค้าที่ล้มลุกคลุกคลานทำให้คุณนงค์เห็นความจริงว่า อาชีพการค้านี้ไม่ยั่งยืนนักเพราะขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ จึงหันมาดูอาชีพเกษตรซึ่งน่าจะมีความสุขมากกว่า ได้ปรึกษากับครอบครัว มีโอกาสได้เป็นเจ้าของที่ดิน 5 ไร่ ที่หมู่ที่ 6 ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า ซึ่งห่างจากร้านที่ขายของไม่ไกลนัก เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ด้วยความที่ไม่มีความรู้ทางเกษตรเป็นพื้นฐานเลย จึงปลูกต้นไม้แบบสะเปะสะปะ ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้เพื่อนที่จบทางเกษตรมาช่วยดูแล จึงค่อยเป็นเรื่องเป็นราว ตอนนั้นได้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมไว้ และได้รับการแนะนำว่าถ้าจะให้มะพร้าวหอมจะต้องปลูกต้นเตยหอมไว้ที่โคนต้นด้วย จึงเริ่มปลูกต้นเตยหอมไว้ที่โคนต้นมะพร้าวทุกต้น แต่วิธีนี้คุณนงค์ไม่กล้ายืนยันว่าใช่หรือไม่ เพราะบางต้นก็หอมบางต้นก็ไม่หอม เรื่องสายพันธุ์น่าจะมีผลมากกว่าเรื่องอื่น ซึ่งมะพร้าวทั้งหมดซื้อพันธุ์มาจากอำเภอบ้านแพ้ว แต่ก็หลายวาระ เลยไม่รู้สวนไหนเป็นสวนไหน

ปัจจุบันที่หน้าร้านขายเสื้อผ้า จึงมีมะพร้าวอ่อน น้ำมะพร้าว และวุ้นในลูกมะพร้าวอ่อนจำหน่ายด้วย วันหนึ่งๆ จำหน่ายประมาณ 50 ผล ในช่วงที่มะพร้าวที่สวนไม่พอก็ไปปันจากสวนข้างเคียงที่ทำสวนในระบบธรรมชาติที่ไม่ใช้สารเคมีมาเหมือนกันแต่ก็ส่วนน้อย เพราะมะพร้าวน้ำหอมที่สวนปลูกไว้ 147 ต้น ให้ผลดีพอสมควร

เมื่อ 3 ปีที่แล้วได้มีโอกาสเห็นดอกกุหลาบที่ทำด้วยใบเตยขายตามสี่แยกจึงซื้อมาเพราะคิดได้ว่าใบเตยที่สวนมีจำนวนมากสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้ หลังจากนั้น ได้นำมาคลี่ดอกออกดู ด้วยความมีใจรักเรื่องนี้อยู่แล้วจึงหัดทำจนประสบผลสำเร็จ แต่ได้จินตนาการไปให้ไกลกว่าดอกกุหลาบใบเตย มีการนำใบไม้สีมาประกอบให้มีสีสันแปลกตายิ่งขึ้น จากแรกๆ ที่ทำกุหลาบใบเตยเหมือนเขา ขายแค่พวงละ 10 บาท ได้พัฒนามาเรื่อยๆ จนเป็นพวงละ 20 บาท และปัจจุบันขายพวงละ 30 บาท

 

ความคิดต้องต่อยอด

ใบเตยหอมที่ใช้จะต้องตัดใบที่เริ่มแก่แล้ว เพราะใบอ่อนจะไม่หอม ตัดให้ชิดต้นจะได้ใบที่มีขนาดยาว นำมาล้างทำความสะอาดแล้วแช่น้ำไว้เพื่อรักษาความสด ไม่จำเป็นต้องแช่ตู้เย็น เมื่อจะใช้ก็นำมาทำเป็นดอกไม้เลย แต่บอกว่าวิธีการทำดอกไม้นี้คุณนงค์ได้อธิบายให้ฟัง แต่ผู้เขียนงงตึ๊บไม่สามารถนำมาเขียนให้อ่านได้ คงต้องอาศัยรูปและถ้าไม่เข้าใจต้องไปเรียนกันต่อหน้าน่าจะเป็นการดีกว่า

ด้วยความที่รูปแบบแปลกใหม่ของช่อดอกไม้เตยหอม ทำให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมจังหวัด ได้จัดให้คุณนงค์ในชุดท้องถิ่น บาบ๋า ย่าหยา ไปสาธิตที่ถนนสายวัฒนธรรมของอำเภอตะกั่วป่า ที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์อยู่เสมอ โดยคุณนงค์ได้สาธิตและหัดให้ผู้ที่สนใจมานั่งทำกันเลย ซึ่งมีผู้สนใจมาทดลองทำดูเป็นจำนวนมากทุกๆ ช่วงอายุ รวมถึงคนต่างชาติที่มาเดินอีกด้วย ส่วนนักเรียนมักจะมาเป็นหมู่คณะ

การเรียนการสอนบนถนนสายวัฒนธรรมของตะกั่วป่าเป็นการสอนฟรี เนื่องจากสำนักงานวัฒนธรรมฯ ได้จ่ายค่าใช้จ่ายให้คุณนงค์แล้ว คุณนงค์บอกว่า มีคนมาเรียนกันจำนวนมาก ส่วนหนึ่งได้นำไปประกอบอาชีพเสริมได้ บางคนที่อยู่ในเมืองใหญ่สามารถตั้งราคาได้ถึงพวงละ 50 บาท อย่างเช่น ที่ขายที่จังหวัดภูเก็ต ในการเรียนการสอนใช้เวลาหัดกันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง แต่ถ้าจะให้ดีควรจะใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงทีเดียว คุณนงค์ก็ตั้งใจถ่ายทอดให้อย่างละเอียดโดยไม่มีการปิดบัง

ใบเตยหอมที่นำมาทำเป็นช่อดอกไม้ ลูกค้ามักจะซื้อนำไปใส่ไว้ในรถหรือบูชาพระ แล้วยังนำไปตั้งไว้ในห้องทำงานซึ่งจะคงอยู่ได้เกือบ 7 วัน แต่ถ้าใส่ไว้ในรถแล้วจอดตากแดดก็จะมีอายุไม่เกิน 2-3 วันก็จะแห้งแต่ก็ยังคงมีกลิ่นอยู่ นอกจากนี้ คุณนงค์ยังนำใบเตยหอมมาทำเป็นกระทงไว้ลอยในงานวันลอยกระทงอีกด้วย ทุกๆ ปีรีสอร์ตต่างๆ ในบริเวณเขาหลักจะมาสั่งให้ทำกระทงเสมอ แต่คุณนงค์ทำได้ในช่วงนั้นไม่เกิน 200 กระทง ซึ่งแค่นี้ก็ไม่ต้องหลับต้องนอนแล้ว นอกจากกระทงแล้วมงกุฎดอกไม้ในงานรับปริญญาก็เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์จากงานใบเตยหอมได้เช่นกัน

คุณนงค์ เล่าให้ฟังว่า หลังจากได้มาทำสวนเกษตรควบคู่กันไปกับการค้า ทำให้ความเครียดที่มีจากการค้าขายผ่อนคลายลง จากการทำงานในสภาวะรีบร้อน ตัดสินใจเร็ว ป่วยบ่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นมีความสุขขึ้น ใจเย็นลง มีสติ ตัดสินใจช้าลงและถูกต้องมากขึ้น ร่างกายก็ไม่ค่อยป่วย และการทำช่อดอกไม้ใบเตยเป็นสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายได้มากที่สุด มีความสุขในการทำงานนี้ แค่มีคนชมว่า ช่อดอกไม้สวยก็มีความสุข โดยลูกค้าไม่ต้องซื้อ นอกจากนี้ สินค้าเกษตรจากสวน เช่น มะพร้าวกับใบเตยสามารถนำมาเป็นรายได้ที่มั่นคงกว่าการขายเสื้อผ้าซึ่งเมื่อก่อนคิดว่าเป็นแค่รายได้เสริม

ในสภาพเศรษฐกิจตอนนี้จากที่ผ่านมาหลายปี ผ่านปี 2560 ซึ่งถือว่า “เผาจริง” ปี 2561 น่าจะเป็นช่วง “เก็บกระดูก” สำหรับมนุษย์เงินเดือนและคนหาเช้ากินค่ำ ส่วนคนในเครื่องแบบที่มีเงินเดือนกินไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร ในการคิดหารายได้เสริมตามความถนัดหรือเหมาะสมแต่ละพื้นที่น่าจะเป็นเรื่องที่ดี การร้องแรกแหกกระเชอก็ไม่น่าจะมีผล เพราะในช่วงรัฐบาลหูดับคงไม่ได้ยินอะไร