นวัตกรรมแถบสีบอกความสุก ผลมะม่วงเพื่อการส่งออก ใช้งานง่าย

ในปี 2560 ประเทศไทย มียอดส่งออกมะม่วงสด เป็นเงิน 1,331.7 ล้านบาท โดยยอดส่งออกมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 8.83% สำหรับ 10 ประเทศคู่ค้าสำคัญที่มียอดส่งออกสูงที่สุด ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม มาเลเซีย ลาว สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) ฮ่องกง สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ โดยประเทศเกาหลีใต้ มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 56% และมีอัตราขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” นับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นสายพันธุ์มะม่วงที่มีรูปลักษณ์สวยงาม ผลสุกมีสีเหลืองทองเด่นสะดุดตาและมีรสชาติหวานหอม ทำให้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้รับความนิยมสูงในประเทศจีนและญี่ปุ่น สามารถขายได้ราคาสูงถึงผลละ 200-300 บาท ที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ไม่ต่ำกว่าปีละ 3,300 ตัน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 3,000 ล้านบาท

น้ำดอกไม้สีทอง เป็นสายพันธุ์มะม่วงที่นิยมปลูกเชิงการค้า เพราะปลูกดูแลง่าย สามารถผลิตแบบมะม่วงนอกฤดูได้ แถมขายผลผลิตได้ราคาสูง แต่จุดอ่อนของมะม่วงพันธุ์นี้คือ ผิวบอบบาง แมลงวันผลไม้เข้าทำลายได้ง่าย ชาวสวนส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ถุงห่อผลมะม่วงเป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อป้องกันแมลงและช่วยให้ผิวมะม่วงมีสีเหลืองทอง

มะม่วงสายพันธุ์ทั่วไป ผลดิบจะมีสีเขียว เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มแดง แต่มะม่วงน้ำดอกไม้มีผิวสีเหลืองทองอย่างเดียว เมื่อนำไปวางขายในตลาด ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักดูไม่ออกว่า เป็นผลสุกหรือดิบ จึงนิยมใช้วิธีบีบหรือกดบนผิวมะม่วง ทำให้มะม่วงเกิดรอยช้ำและเน่าเสียได้ง่าย ทำให้ผลผลิตเสียหาย ไม่สามารถวางขายต่อได้ ถึงร้อยละ 30 ของสินค้าทั้งหมด

 

ดัชนีความสุกทางชีวภาพและถุงห่อมะม่วง งานวิจัยเด่น ของ ม. ธรรมศาสตร์

รศ.ดร. วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือเพื่อการวิจัยขั้นสูง สาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร. (02) 564-4488 อีเมล์ [email protected] เล็งเห็นปัญหาการตลาดของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จึงได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ เรียกว่า ดัชนีความสุกทางชีวภาพ (Ripening Bio-indicator) และถุงห่อ แบบ Active สำหรับมะม่วง เพื่อการค้าสมัยใหม่ โดยเฉพาะตลาดพรีเมี่ยม และโมเดิร์นเทรด ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกมะม่วงได้ตามรสชาติที่ต้องการ โดยดูจากแถบสีแทนการกดหรือบีบผลมะม่วง ช่วยลดอัตราความเสียหายจากการวางจำหน่ายได้

รศ.ดร. วรภัทร ลัคนทินวงศ์ โชว์ผลงานวิจัย

รศ.ดร. วรภัทร กล่าวว่า มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ถูกห่อด้วยถุง เพื่อป้องกันแมลงและให้ผิวสวย เมื่อนำไปวางขายในตลาดโมเดิร์นเทรดและส่งออก เมื่อถึงระยะเก็บเกี่ยว ผลมีสีเหลืองทองเหมือนมะม่วงที่สุกแล้ว ผู้บริโภคไม่สามารถแยกได้สุกหรือไม่สุกเพียงไร นับเป็นปัญหาสำคัญอย่างมากที่ประเทศปลายทางหรือแม้แต่ผู้บริโภคคนไทย

“ผมได้พัฒนาถุงห่อแบบ Active และสร้างดัชนีความสุกทางชีวภาพบนผิวมะม่วงทุกผลที่ห่อด้วยถุงชนิดนี้ นวัตกรรมนี้สามารถใช้ได้กับการผลิตมะม่วงที่ใช้สารเคมีและดูแลแบบเกษตรอินทรีย์ ผู้บริโภคสามารถทราบความสุกทุกระยะของมะม่วงได้อย่างแม่นยำ ลดการสูญเสียจากการจับบีบ งานวิจัยชิ้นนี้นับเป็นนวัตกรรมใหม่ครั้งแรกของโลก จึงได้รับรางวัลเหรียญทอง จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์เวทีนานาชาติ ครั้งที่ 46 (46th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสมาพันธรัฐสวิส (Switzerland) ระหว่าง วันที่ 11-15 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา” รศ.ดร. วรภัทร กล่าว

 

นวัตกรรมใหม่ใช้งานง่าย

รศ.ดร. วรภัทร อธิบายเพิ่มเติมว่า นวัตกรรมนี้มีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยประมาณ 2 บาท ต่อ 1 ผลมะม่วง เมื่อนำนวัตกรรมนี้ไปใช้งานในสวนมะม่วง เกษตรกรต้องใช้ส่วนประกอบ 3 อย่าง ควบคู่กันไป ได้แก่

  1. สารละลายกระตุ้นการสร้างสารสีคลอโรฟิลล์ (chlorophyll supplement) ทำหน้าที่สร้างคลอโรฟิลล์ให้มากขึ้น พร้อมกับชะลอการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ในมะม่วง แนะนำให้เกษตรกรฉีดสารดังกล่าวบนผลมะม่วง 1 ครั้ง ก่อนการห่อผล สารชนิดนี้สามารถช่วยชะลอการสุกของมะม่วงได้สูงถึง 30 วัน โดยไม่ทิ้งสารตกค้าง หากเกษตรกรนำไปใช้งานจริงจะมีต้นทุน ประมาณ 20 สตางค์ ต่อการฉีดสารกระตุ้น 1 ครั้ง ต่อทุเรียน 1 ผล
  2. ถุงห่อแบบแอคทีฟ สำหรับใช้ห่อผลก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน ถุงห่อชนิดนี้ถูกออกแบบให้มีรูตรงกลาง เพื่อเปิดเป็นช่องรับแสงให้แสงแดดส่องถึงผลได้ และกระตุ้นการสร้างคลอโรฟิลล์บนผิวมะม่วงอย่างมีประสิทธิภาพ ถุงห่อผลมะม่วงแบบแอคทีฟมีต้นทุนผลิตต่อถุง ประมาณ 1.5-3 บาท แต่มีอายุการใช้งานยาวนานหลายปี คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้มเมื่อเทียบกับถุงห่อผลไม้โดยทั่วไป
  3. แถบฉลากดัชนีความสุก (Indicator) มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5 สตางค์ ต่อชิ้น สามารถวัดผลได้แม่นยำ 100% เต็ม โดยบ่งบอกอัตราการสุกของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ได้ถึง 4 ระยะ โดยมะม่วงผลดิบ จะแสดงแถบสีเขียว เนื้อมะม่วงที่เริ่มสุกแสดงแถบสีเหลืองอ่อน เนื้อมะม่วงผลสุกพร้อมรับประทาน แสดงแถบสีเหลือง ส่วนเนื้อมะม่วงที่สุกเกินมาตรฐาน จะแสดงแถบสีเหลืองเข้ม ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมดังกล่าว ได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เบอร์โทรศัพท์ (02) 564-4488

 

วช. ปลื้ม ทีมนักวิจัยไทย โกยรางวัลมากมายจากเวทีโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงานแถลงข่าว “ความสำเร็จของผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยในเวทีประกวดและจัดแสดงในเวทีนานาชาติ : เวที 46th International Exhibition of Inventions Geneva และเวที 8th International Engineering Invention & Innovation Exhibition 2018 (i-ENVEX 2018)” ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคาร วช.1

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมมอบประกาศนียบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณและแสดงความขอบคุณแก่นักวิจัย ซึ่ง รศ.ดร. วรภัทร ลัคนทินวงศ์ เป็นหนึ่งในนักวิจัยที่ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้ เช่นเดียวกับนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ

การจัดงาน “46th International Exhibition of Inventions Geneva” ระหว่าง วันที่ 11-15 เมษายน 2561 ณ Palexpo นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ผู้บริหาร วช. ได้นำผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวด จำนวน 99 ผลงาน จาก 29 หน่วยงาน ซึ่งภายในงานมีหน่วยงานจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมกว่า 50 ประเทศ และมีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงกว่า 1,000 ผลงาน

ปรากฏว่า นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลสำคัญของงาน ได้แก่ รางวัล Prix De La Ville De Geneva จำนวน 1 รางวัล จากผลงาน เรื่อง “โปรแกรมสำหรับจับคู่การเดินทางร่วมกันแบบอัตโนมัติทางรถยนต์และรถแท็กซี่ ด้วยฐานเวลาปัจจุบัน” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพพร ลีปรีชานนท์ และคณะแห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ คณะนักวิจัย นักประดิษฐ์ไทย ยังได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จำนวน 4 ผลงาน รางวัลเหรียญทอง จำนวน 26 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 32 ผลงาน รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 33 ผลงาน และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่างๆ จำนวน 25 รางวัล

ส่วนงาน “8th International Engineering Invention & Innovation Exhibition 2018 (i-ENVEX 2018)” จัดขึ้นโดย University Malaysia Perlis (UniMAP) และ ENVEX Young Researcher Club (EYRec) UniMAP, MINDS Chapter ระหว่าง วันที่ 13-15 เมษายน 2561 ณ รัฐเปอร์ลิส สหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นเวทีนานาชาติสำหรับเยาวชน โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วโลกมานำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และมีผลงานเข้าร่วม จำนวน 500 ผลงาน จากประเทศต่างๆ จำนวน 17 ประเทศ

ทั้งนี้ วช. ได้นำผลงานของเยาวชนที่ได้รับรางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2561 เข้าร่วมประกวดและนำเสนอ จำนวน 12 ผลงาน ปรากฏว่า เยาวชนไทยได้รับรางวัล International Grand Prize Award จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “ทุ่นผลิตพลังงานไฟฟ้าจากคลื่นทะเลสำหรับอนุรักษ์แนวปะการัง” ของ นายนิติภูมิ แย้มจิตร และคณะแห่งวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

และรางวัล Double Gold Award จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “หมวกพลังงานสุริยะเพื่อป้องกันการเป็นลมแดด” ของ เด็กชายธิปก บวรรัตนารักษ์ และคณะ แห่งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และผลงาน “การพัฒนารูปแบบอักษรเบรลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ด้วยโปรแกรม FontForge” ของ นายวิเชียร ดอนแรม และคณะ แห่งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดชลบุรี นอกจากนี้ ยังมีผลงานของเยาวชนไทยที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 4 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 5 ผลงาน และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากองค์กร/หน่วยงานต่างๆ จำนวน 13 รางวัล