“วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองพันธุ์ไม้บ้านจำปาดง” สกลนคร ขายต้นพันธุ์ไผ่เลี้ยง-กิมซุ่ง มีรายได้ดีขนาดออกรถปิกอัพป้ายแดง

เทคโนโลยีและความก้าวหน้าทางวิทยาการมีส่วนสำคัญในการพัฒนาไผ่ให้มีมากกว่าการนำหน่อมา บริโภคหรือใช้ลำในด้านการก่อสร้างเท่านั้น

การสัมมนาไผ่ที่จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้านเมื่อหลายปีก่อน ตอบคำถามได้มากมายว่าคุณประโยชน์จากไผ่มีศักยภาพสูงพอที่จะนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม ใช้ผลิตเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หรือใช้เทคโนโลยีชั้นสูงผลิตเป็นอุปกรณ์วางของในรถ หรือยังมีอีกมากมายที่กำลังอยู่ระหว่างงานวิจัย ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงคุณสมบัติของต้นไผ่ที่ช่วยดูดซับของเสียแล้วปรับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้สมบูรณ์หากปลูกกันมากๆ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าไผ่มีคุณค่าในตัวเองสูงมาก ฉะนั้น จึงมีการปลูกไผ่เพิ่มขึ้นในหลายระดับ ทั้งชาวบ้านครัวเรือน กลุ่มชุมชน หรือระดับธุรกิจใหญ่

ตลาดสินค้าเกษตรก้าวหน้าเล่มนี้จะพาไปพบกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหนึ่งที่จังหวัดสกลนคร ชาวบ้านมีการรวมพลังกันเพาะ-เลี้ยงต้นไผ่เป็นอาชีพ มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจน ตั้งแต่การผลิต การดูแล รวมถึงการตลาด พัฒนาคุณภาพต้นพันธุ์ไผ่ให้มีความสมบูรณ์เป็นที่เชื่อถือของลูกค้า จนทำให้มีรายได้ดีขนาดออกรถปิกอัพป้ายแดงกันเลย

คุณองอาจ ประจันทะศรี อยู่บ้านเลขที่ 76 หมู่ที่ 7 บ้านโนนสำราญ ตำบลอินทร์แปลง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ที่ได้มีบทบาทแล้วมีส่วนช่วยให้ชาวบ้านประสบความสำเร็จจากการผลิตและขายต้นไผ่

คุณองอาจ เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอินทร์แปลง สู่เจ้าของไร่น้ำหนึ่งกมลภพ ที่ประสบความสำเร็จจากการทำสวนเกษตรผสมผสาน ขณะเดียวกัน ได้นำต้นพันธุ์ไผ่ของตัวเองและเพื่อนสมาชิก ได้แก่ ไผ่เลี้ยงกับไผ่กิมซุ่ง ที่ผ่านการดูแลแล้วไปขายยังสถานที่ต่างๆ ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน โดยถือหลักรวมกันเพื่อให้ได้จำนวนมากตามยอดที่ลูกค้าต้องการจะขายง่ายกว่าขายกันเอง

แต่เดิมชาวบ้านในพื้นที่ยึดอาชีพเกษตรกรรมแบบต่างคนต่างทำจึงประสบปัญหาการขายสินค้าทางการเกษตร กระทั่งเมื่อมีการรวมตัวกันได้แบ่งหน้าที่พร้อมกับมีรายได้เกิดขึ้นจากความรับผิดชอบในแต่ละงาน ตั้งแต่เจ้าของสวนไผ่ สมาชิกที่รับจ้างตัดไผ่และดูแล ไปจนถึงสมาชิกที่รับไปขาย ซึ่งแนวทางนี้ ก่อให้เกิดระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เป็นการกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน

คุณองอาจ จะรับผิดชอบด้านการตลาดของกลุ่ม ด้วยการรับซื้อต้นพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์พร้อมขายจากชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ในราคาต้นละ 16.50 บาท นำไปส่งขายตามร้านขายต้นไม้ทั่วเขตภาคอีสานในราคาต้นละ 20 บาท อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ส่วน (เจ้าของสวน, คนตัด/ดูแลและคนรับซื้อ) จะทำงานกันแบบช่วยเหลือกัน

สมาชิกกลุ่มช่วยกันเตรียมถุงดำเพาะต้นกล้า

คุณองอาจ บอกถึงที่มาของพันธุ์ไผ่ว่า จะเริ่มจากการไปสำรวจความสมบูรณ์ของต้นไผ่ตามสวนของชาวบ้านที่ปลูกไว้ก่อนว่ามีพันธุ์อะไรที่น่าสนใจของตลาดบ้าง รวมถึงยังต้องตรวจดูความสมบูรณ์ของต้นไผ่ควบคู่ไปด้วย เมื่อเห็นว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนจึงมีการเจรจาต่อรองราคากับเจ้าของสวนจนเป็นที่พอใจแล้วจึงให้สมาชิกกลุ่มมาลงมือตัดต้นกล้า แล้วนำไปส่งยังสมาชิกกลุ่มอีกชุดหนึ่งเพื่อจัดการเพาะเลี้ยง-ดูแล จนเมื่อถึงเวลาที่ต้นพันธุ์มีความสมบูรณ์แล้วจึงส่งขายตามยอดที่ลูกค้าต้องการ

“การพัฒนาคุณสมบัติต้นพันธุ์ไผ่ที่จะซื้อมาทำต้นพันธุ์จะต้องดูจากสายพันธุ์ที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงประสิทธิภาพในการให้หน่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบว่าสายพันธุ์ใดที่สามารถเกิดหน่อได้ในช่วงนอกฤดูเพราะมีความต้องการมากทางภาคอีสานก็จะนำมาเพาะ-เลี้ยงเป็นจำนวนมาก”

ขั้นตอนการตัด-แยกต้นกล้าจากต้นแม่จะใช้เหล็กชะแลงที่มีความคมมากตัดลำต้นไผ่ให้เหลือเสมอหน้าผาก แล้วใช้ชะแลงแซะตัดที่กอออก จากนั้นใช้มือโยกให้ต้นแยกออกจากกอแล้วใช้เลื่อยตัดให้ขาดจากระดับหน้าผากเหลือแค่ระดับเข่าเพื่อสะดวกในการนำใส่ถุงดำ แล้วจึงขนย้ายนำไปแยกเพาะอนุบาลตามบ้านของสมาชิกแต่ละราย

ท่อนต้นกล้าที่เพิ่งตัดมาปักชำ

การดูแลต้นพันธุ์จะใส่ถุงดำที่มีส่วนผสมของแกลบดำกับดิน โดยต้นทุนค่าซื้อถุงและแกลบดำทางคุณองอาจจะลงทุนเป็นหุ้นกลางให้ก่อน อย่างไรก็ตาม เทคนิคการดูแลต้นพันธุ์ไผ่ ชาวบ้านทุกคนจะได้รับการแนะนำวิธีที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ จนเมื่อต้นพันธุ์ที่เพาะไว้มีความสมบูรณ์แข็งแรงเพียงพอ ทางคุณองอาจจึงนำไปส่งตามชนิด/จำนวนที่ลูกค้าได้สั่งไว้ล่วงหน้า

หลังจากนำต้นกล้าลงเพาะในถุงดำที่มีแกลบดำและดินเป็นส่วนผสมแล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยอะไร จนเริ่มแตกใบอ่อนมาระยะหนึ่งจึงใส่อาหารเสริมทางใบอย่างเดียว ขณะที่ชาวบ้านบางรายจะใช้ต้นกล้วยที่ปลูกไว้มาผสมทำเป็นน้ำหมักเพื่อใช้ฉีดใบอ่อนไผ่ ส่วนน้ำให้บ้างแต่ไม่มาก โดยช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ 40-45 วัน

ต้นกล้าเริ่มแตกใบอ่อน

คุณองอาจ ขายส่งตามร้านต้นละ 20 บาท (ไผ่เลี้ยง/กิมซุ่งราคาเท่ากัน) ราคานี้กำหนดส่งในพื้นที่ไม่ไกลจากจังหวัดสกลนคร แต่ถ้าไกลกว่านี้อาจมีราคาเพิ่มขึ้นตามระยะทาง ซึ่งจะต้องมีการตกลงความพอใจกันก่อน ทั้งนี้ ตลาดหลักอยู่แถวอุบลราชธานี ศรีสะเกษ รวมไปถึงจังหวัดที่ตั้งอยู่ตามชายแดน พร้อมกับมีกลุ่มพ่อค้าส่งไปขายยัง สปป.ลาว เวียดนาม กันเป็นจำนวนมากด้วย โดยการผลิตต้นพันธุ์ไผ่จะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีจำนวนต้นพันธุ์ที่ส่งขายเฉลี่ย 4-5 หมื่นต้น

คุณองอาจ บอกว่า อาชีพนี้ทำกันมาเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ชาวบ้านที่ร่วมงานทุกคนล้วนมีความพอใจกับรายรับที่ได้ รวมถึงยังไม่ต้องกังวลเรื่องแหล่งขายเพราะมีตลาดรองรับแน่นอน จึงทำให้รายได้ที่ชาวบ้านได้รับในแต่ละปีกำหนดเป็นตัวเลขได้ชัด ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านหลายรายจึงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าในอดีต อีกทั้งหลายรายจากเดิมที่ใช้รถซาเล้ง แต่ในปัจจุบันขับปิกอัพใหม่ป้ายแดงกันแล้ว

“ไม่ว่าจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมอะไร ขอให้ตรวจสอบตลาดที่นำไปขายก่อนว่ามีความชัดเจนเพียงใด เชื่อถือได้มาก-น้อยเพียงใด ขณะเดียวกัน การทำการค้าควรจะต้องให้ตลาดนำการผลิต หมายถึงควรหายอดสั่งซื้อ รวมถึงความมั่นคงทางการเงินให้แน่เสียก่อน แล้วจึงเริ่มผลิต มิเช่นนั้นจะเสี่ยงต่อความเสียหาย” คุณองอาจ กล่าว

สอบถามรายละเอียดสั่งต้นพันธุ์ไผ่ได้ที่ คุณองอาจ ประจันทะศรี โทรศัพท์ 084-418-9436 หรือติดตามข่าวสารได้ที่ fb : ไร่น้ำหนึ่งกมลภพ