ต่อยอดงานวิจัยไหมอีรี่ด้วยเทคโนโลยีสะอาด ผู้ประกอบการชี้ ตลาดโลกอ้าแขนรับ

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ  ผอ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  และ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์  รักษาการแทนอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์  ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ  “ศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านไหม ระยะที่ 3” ณ อาคารสารนิเทศ ม.เกษตรศาสตร์  เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนางานวิจัย ขับเคลื่อนไหมอีรี่สู่อุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรมและเต็มรูปแบบ รวมถึงเพิ่มมูลค่าสินค้าจากไหมอีรี่สู่สากลมากขึ้น

ผศ.ดร.อุไรวรรณ นิลเพ็ชร์  ผอ.ศูนย์วิทยาการและเทคโนโลยีด้านไหม ม.เกษตรศาสตร์  กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการในระยะที่ 1 เรื่อยมาจนถึงระยะที่ 2 (2546 – 2558) ที่มีต่อภาคเกษตรกรรมว่า ทางศูนย์ได้ดำเนินการวิจัย พัฒนาระบบฟาร์มเลี้ยงไหมอีรี่โดยใช้เทคโนโลยีสะอาด พัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากไหมอีรี่และการสร้างแบรนด์ จัดกิจกรรมอบรมถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกร ผลิตนักวิจัย และบุคากรที่เชี่ยวชาญด้านไหมอีรี่ โดยผลจากการพัฒนากระบวนการผลิตไหมอีรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้มีการผลักดันไปสู่การปฏิบัติจริงของกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็งกว่า 44 เครือข่าย 450 ครัวเรือน ครอบคลุม  28 จังหวัดในทุกภูมิภาค เกษตรกรสามารถผลิตรังไหมและดักแด้ส่งขายโรงงาน จนมีรายได้ประมาณ 6,000 บาทต่อรุ่นการเลี้ยง มีรายได้จากการปั่นเส้นด้ายไหมอีรี่ขาย  7,800 บาทต่อรุ่นการเลี้ยง  และมีรายได้จากการทอผ้าอีกขายประมาณ 17,000 บาทต่อรุ่นการเลี้ยง เกิดการสร้างงานสิ่งทอทั้งในเชิงหัตถกรรมและหัตถกรรมอุตสาหกรรมในระดับชุมชน

โดยที่ผ่านมาทางศูนย์ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านไหมอีรี่ ผลักดันการเลี้ยงไหมอีรี่ให้เป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะชาวไร่มันสำปะหลัง ที่มีประมาณ 4 – 5 แสนครัวเรือนทั่วประเทศที่ประสบปัญหาราคามันตกต่ำ โดยให้มารับไข่ของไหมอีรี่ ไปเลี้ยงและไม่มีค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนค่าอาหาร เพราะหนอนไหมกินใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียวจากไหมอีรี่ตามมาตรฐานสิ่งทอสากลและประสานงานกับภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อขับเคลื่อนไหมอีรี่สู่อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน (ฝ้ายแกมไหม) ม.เชียงใหม่ และ บริษัทสปัน ซิลค์ เวิลด์ จำกัด  สำหรับความร่วมมือในระยะที่ 3  (ปี 2559 – 2561) จะมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กำลังมีผลกระทบต่อพืชอาหารและการเจริญเติบโตของไหมอีรี่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียวที่สะอาด หรือ กรีนแอนด์คลีนโพรดักส์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด ตลอดจนการเชื่อมโยงการผลิตสู่ผู้ใช้ในระดับต่างๆและการขยายเครือข่ายผู้เลี้ยงไหมอีรี่ในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้และเผยแพร่งานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์แก้ประเทศในเชิงของการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืนเพื่อการแข่งขันของประเทศ

ด้าน ดร.ปาจรีย์ คิวเจริญวงษ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัทสปัน ซิลค์ เวิลด์ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการด้านสิ่งทอของเมืองไทยชี้ว่า ปัจจุบันตลาดโลกกำลังให้ความสนใจกับสินค้าสิ่งทอกรีน ที่มีการใช้นวัตกรรมการผลิตเข้ามาช่วย  โดยเฉพาะออสเตรเลีย และอเมริกา อย่างบริษัทสิ่งทอชั้นนำของญี่ปุ่นก็ให้ความสนใจตลาดของสินค้าสิ่งทอที่ทำมาจากเส้นใยออร์แกนิคส์มากขึ้น  “ไหมอีรี่” จึงเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่จะไม่ประสบปัญหาการไร้ตลาดรองรับอย่างแน่