พลังช่วย “ชาวนา” ฝ่าวิกฤตราคาข้าว เปิดตลาดซื้อขาย-ลดต้นทุนการผลิต

ความทุกข์ยากของเหล่ากระดูกสันหลังของชาติกว่า 3.7 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 17 ล้านคน ที่กำลังประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำอย่างหนักคลี่คลายลงในระดับหนึ่ง หลังจากเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน คือ เกษตรกรได้ลุกขึ้นมาจำหน่ายข้าวถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ไม่ง้อพ่อค้าคนกลาง

รวมทั้งการแสดงพลังของโลกโซเชียล ผู้บริโภค ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่ต่างหยิบยื่นน้ำใจ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อให้เกษตรกรผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้

รัฐ-เอกชนเปิดพื้นที่ขายข้าวฟรี

สิ่งเห็นได้ชัดเจนคือเกือบทุกจังหวัดทั้งภาครัฐและเอกชนต่างยินดีเปิดพื้นที่เพื่อเป็นตลาดให้เกษตรกรสามารถนำผลผลิตมาจำหน่ายด้วยตนเองโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเช่นจังหวัดอุดรธานีที่“วิทวัส ภักดีสันติกุล” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอุดรธานี เปิดให้ชาวนานำข้าวมาวางจำหน่ายในสนามบินในโครงการ “ข้าวจากชาวนาสู่มือผู้บริโภค” โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานีเป็นแม่งานใหญ่อีกแรง

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีตัวแทนเกษตรกรจาก อ.กุดจับ และ อ.เมือง จ.อุดรธานี หมุนเวียนจัดข้าวสารมาจำหน่าย โดยทางสนามบินยังได้ช่วยประชาสัมพันธ์เชื้อเชิญผู้บริโภคผ่านเสียงตามสาย ทำให้สามารถขายข้าวได้มากถึง 1.3 ตัน ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

ส่วน “เสน่ห์ นนทะโชติ” ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ลงมาบัญชาการเอง เตรียมจัดงาน “ตลาดข้าวประชารัฐ” หมุนเวียนตามอำเภอต่าง ๆ ในแหล่งปลูกข้าว ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2559 ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม โดยมีทั้งกิจกรรม ข้าวของพ่อ ตลาดคนสารคาม กินข้าวสารคาม ตลาดข้าวประชารัฐ ตลาดธงฟ้า ลดราคาค่าครองชีพ และตลาดข้าวสุก

ขณะที่เมืองชุมพร ห้างสรรพสินค้าโอเชี่ยน เตรียมเปิดจุดจำหน่ายข้าวให้เกษตรกรโดยตรง โดยขอให้ข้าวสารที่จะส่งมาให้ห้างช่วยจำหน่ายต้องเป็นข้าวที่มีคุณภาพ ผ่านการรับรอง และมีแหล่งที่มาชัดเจนว่ามาจากเกษตรกรกลุ่มใด จังหวัดใด โดยคิดค่าบริหารจัดการให้น้อยที่สุด

หนุนบริโภคข้าวในจังหวัด

ด้าน “ชาญนะ เอี่ยมแสง” พ่อเมืองตราดก็ได้ผุดไอเดียให้วิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวชาวนาตราด ผลิตข้าวสารขายให้คนตราดบริโภคกันภายในจังหวัด ภายใต้แคมเปญ “คนตราด กินข้าวตราด” เนื่องจากปริมาณข้าวที่ผลิตได้ในจังหวัดตราด ปีละ 5,000-6,000 ตันนั้น ไม่เพียงพอต่อการบริโภคทั้งปีอยู่แล้ว

“ปรีดา วรรณรัตน์”
ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชน โรงสีข้าวชาวนาตราด กล่าวว่า ขณะนี้แม้จะมีหน่วยงานภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลตราดมาซื้อต่อเนื่องครั้งละ 1.5 ตัน/ต่อรอบ 20 วัน หรือปีละ 27 ตัน และหน่วยงานในสังกัดของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินช่วยรับซื้อในขณะนี้อีก 1 ตัน ก็ยังระบายข้าวจากโรงสีได้ไม่หมด ทางจังหวัดจึงขอความร่วมมือภายใต้แคมเปญดังกล่าวให้เพิ่มจุดจำหน่ายอีก 3-4 แห่ง คือ สหกรณ์ร้านค้าจังหวัดตราด 2 สาขา สถานีบริการปั๊มน้ำมัน ปตท. 1 แห่ง และศาลากลางจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.เป็นต้นไป

“จุดเด่นของข้าวตราด คือ เป็นข้าวหอมมะลิ 100% ไม่ผสม ไม่รมยากันมอดกันราที่มีสารเคมี จึงเก็บได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงเคยชินบริโภคข้าวถุงจากโรงสีใหญ่ ๆ จากต่างจังหวัด เพราะหาซื้อได้ง่าย เก็บได้นาน 2-3 เดือน ขณะที่ข้าวตราดหาซื้อไม่สะดวก มีขายในจังหวัดเพียง 2-3 แห่ง อีกทั้งค่านิยมชาวตราดเองไม่นิยมกินข้าวตราด เพราะคิดว่าหอม นิ่ม สู้ข้าวหอมมะลิทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ได้” ปรีดากล่าว

ส่วนจังหวัดตรัง ซึ่งปกติต้องนำเข้าข้าวสารจากจังหวัดอื่น ๆ ปีละกว่า 93,000 ตันอยู่แล้ว ทางสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง จึงได้สั่งซื้อข้าวหอมมะลิจากสหกรณ์การเกษตรเมืองบุรีรัมย์มาจำหน่ายให้ชาวตรังในราคาต้นทุน โดย “นิด จันทร์พุ่ม” ประธานกรรมการดำเนินการ สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด กล่าวว่า ถือว่าเป็นการสั่งเข้ามาจำหน่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งสหกรณ์ฯเป็นผู้สั่งเข้ามาผ่านทางพาณิชย์ของทั้งสองจังหวัด จำนวน 16 ตัน และกระจายไปยังสหกรณ์การการเกษตรเครือข่ายในจังหวัดตรังอีก 7 แห่ง โดยแพ็กเป็นข้าวถุง ถุงละ 5 กก. จำหน่ายถุงละ 145-150 บาท

“ได้รับความนิยมจากประชาชนชาวตรังเป็นจำนวนมาก จำหน่ายเพียงเดือนเศษ ๆ ก็หมดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสั่งเพิ่มอีก 16 ตัน และจะสั่งมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาให้ขายข้าวได้ราคาที่ดีขึ้นโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งชาวตรังก็จะได้รับประทานข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ราคาถูก จากแหล่งผลิตที่ดีที่สุดในประเทศไทยด้วย”

ช่วยลดต้นทุนการผลิต

ขณะที่ จ.หนองคาย เน้นไปที่การช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร โดยหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 35 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้นำรถเกี่ยวข้าว 2 คัน ไปเกี่ยวข้าวให้ชาวนา ในราคาไร่ละ 300 บาท และให้โรงสีชุมชน 6 แห่ง รับสีข้าวให้ชาวนาฟรี รวมทั้งแนะนำให้มีการรวมตัวและจัดหาสถานที่ตากข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่ามากกว่าข้าวสดที่ราคาต่ำกว่า ส่วนระยะยาวนั้นจะหนุนให้เกิดการรวมตัวของเกษตรกร การทำบรรจุภัณฑ์ และนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ส่งเสริมการปลูกพืชที่หลากหลาย ไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยวอีกต่อไป

เช่นเดียวกับ “ด่วน โคตะนนท์” เจ้าของรถรับจ้างเกี่ยวข้าว บ้านวังยาง ต.วัดธาตุ อ.เมือง จ.หนองคาย 5 ปีที่ลดราคาค่าเกี่ยวข้าวลง จากเดิมอยู่ที่ไร่ละ 600-700 บาท ปีนี้ราคาอยู่ที่ 350-600 บาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 500 บาทเท่านั้น โดยพิจารณาจากปริมาณข้าวต่อไร่ที่เกี่ยวได้

ความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายในเวลานี้ น่าจะช่วยบรรเทาความทุกข์เข็ญของชาวนาลงไปได้บ้าง แต่ทำอย่างไรจึงจะให้กระแสที่ถูกปลุกขึ้นนี้ไม่เลือนหายไป และพัฒนาไปสู่ระบบที่ยั่งยืนทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้วงการข้าวไทยไม่ล่มสลายไปในอนาคต