“เกษตรแปลงใหญ่” จุดเปลี่ยนสู่ความเข้มแข็งของชาวนาไทย

จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่มุ่งปรับเปลี่ยนระบบการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรรายย่อย มาสู่การรวมกลุ่มที่สามารถใช้เครื่องมือ เครื่องจักรกลมาช่วยในการผลิต เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น มีความสามารถในการจัดการการผลิตผลผลิตอย่างมืออาชีพ ทำให้คุณภาพสินค้าได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน สามารถเข้าถึงการตลาดและมีอำนาจต่อรองทางการตลาดสูงขึ้น

ทั้งนี้ คุณอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวถึงการส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ ภายใต้โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต ที่กรมการข้าวดำเนินการว่า การส่งเสริมนาแปลงใหญ่ของกรมการข้าว ได้เน้นดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการผลิตข้าวของชุมชนแบบครบวงจร และการเชื่อมโยงตลาดระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ สหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ชาวนาจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เป็นธรรม

1

“ในด้านการลดต้นทุน กรมการข้าวเน้นให้มีการลดปัจจัยการผลิตและเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้เหมาะสม โดยเฉพาะลดการใช้เมล็ดพันธุ์ และการส่งเสริมให้ปรับมาทำนาแบบประณีตมากขึ้น เช่น การใช้เครื่องหยอดข้าวงอก ที่สามารถช่วยลดการใช้เมล็ดพันธุ์จากเดิมใช้อยู่ที่ 25-30 กิโลกรัม ต่อไร่ เหลือเพียง 8-10 กิโลกรัม ต่อไร่ ช่วยลดต้นทุนลงประมาณร้อยละ 30 อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการตั้งกลุ่มผลิตปัจจัยการผลิต เช่น กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ กลุ่มบริหารจัดการศัตรูข้าว กลุ่มผู้ใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงอย่างเด่นชัด”

เมื่อเกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพ ทำนาแบบประณีตมากขึ้น ช่วยนำไปสู่การได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าการตั้งกลุ่มบริหารจัดการปัจจัยการผลิต มีการบริหารเครื่องจักรกลการเกษตรร่วมกัน วางแผนการผลิตร่วมกัน ไม่ว่าการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี การวางแผนการผลิตข้าวคุณภาพดีภายใต้ระบบ GAP  รวมถึงการปลูกข้าว GI และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าว ทำให้สามารถจำหน่ายได้ตรงกับความต้องการของตลาด

“อีกสิ่งที่ตามมาคือ ทำให้เกิดการประชุมวางแผนร่วมกันก่อนการผลิตเกิดการเชื่อมโยงตลาด ที่ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการในรูปแบบของการบูรณาการภายใต้แนวทางประชารัฐ มีการนำสมาคมโรงสีข้าว ผู้ประกอบการเข้ามาสู่นาแปลงใหญ่ ทำให้ภาคการผลิตได้มีพบปะกับภาคการตลาดโดยตรง เกิดการวางแผนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี”

คุณอนันต์ กล่าวอีกว่า ในปี 2559 กรมการข้าวสามารถดำเนินการส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ ได้ครบตาม เป้าหมายในพื้นที่ 58 จังหวัด 301 แปลง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 53,473 ราย พื้นที่ 780,265 ไร่ ช่วยทำให้เกิดการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีได้มาตรฐานไว้ใช้เองและไว้กระจายพันธุ์ จำนวน 15,000 ตัน และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ดีตันละ 1,500 บาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่ม 22.5 ล้านบาท ต่อปี ขณะที่กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวคุณภาพ สามารถผลิตข้าวเปลือกคุณภาพดีได้ 271,000 ตันข้าวเปลือก ที่สำคัญคือลดต้นทุนการผลิตได้ไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท คิดเป็นมูลค่าปีแรก 271 ล้านบาท และปีต่อไป 542 ล้านบาท จากการดำเนินงานของกรมการข้าวภายใต้การส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ ได้ช่วยทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้ง 301 ชุมชน อีกทั้งยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเองได้ต่อไป

ผู้สนใจเยี่ยมชมกิจกรรม
ผู้สนใจเยี่ยมชมกิจกรรม

ด้าน คุณอัษฎางค์ สีหาราช ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลคอรุมและประธานนาแปลงใหญ่ กล่าวว่า นาแปลงใหญ่ของที่นี่เริ่มขึ้นเมื่อปี 2559 ปัจจุบันมีสมาชิก 148 ราย ทำเกษตรแปลงใหญ่บนพื้นที่รวม 3,311 ไร่ แบ่งเป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 1,000 ไร่ ปลูกพันธุ์ กข 41 ปทุมธานี 1 กข 61 สำหรับใช้ในกลุ่มและเพื่อจำหน่ายให้กับชุมชนใกล้เคียง ส่วนอีกกลุ่มจะผลิตข้าวคุณภาพดี พื้นที่ 2,000 กว่าไร่ ปลูกข้าวปทุมธานี 1 กข 41 กข 63 ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งผลิตในระบบมาตรฐาน GAP โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวแพร่ คอยให้คำแนะนำในการผลิตข้าวคุณภาพอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีแปลงปลูกข้าวตลาดเฉพาะ จำนวน 270 ไร่ เน้นปลูกข้าวหอมมะลิ 105 และไรซ์เบอร์รี่ ข้าวตลาดเฉพาะจะมีวิธีปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี หรือแม้แต่เครื่องจักรก็จะไม่ใช้ปะปนกับใครหรือวิธีปลูกข้าวแบบอื่นๆ

นาแปลงใหญ่ของเกษตรกรภายใต้การส่งเสริมของกรมการข้าว
นาแปลงใหญ่ของเกษตรกรภายใต้การส่งเสริมของกรมการข้าว

“นาแปลงใหญ่มีเงื่อนไขที่สมาชิกต้องยอมรับร่วมกัน เคารพกฎกติกาในการปลูกข้าวแต่ละรูปแบบ ซึ่งข้อดีที่ได้จากการรวมกลุ่มเป็นนาแปลงใหญ่คือ ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น การเรียนรู้ร่วมกัน มีอำนาจต่อรองกับคนซื้อ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งทางกลุ่มมีความตั้งใจจะพัฒนาแปลงใหญ่ไปสู่คุณภาพจีเอพีและออร์แกนิกต่อไป และจะเปิดรับสมัครสมาชิกที่สนใจเข้ามาร่วมกลุ่มเพิ่มขึ้นด้วย” คุณอัษฎางค์ กล่าว

“อีกไม่ถึงเดือนต่อจากนี้ ผลผลิตที่ปลูกไปจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ จะได้ทราบคำตอบที่ชัดเจนว่า นาแปลงใหญ่ช่วยลดต้นทุนการผลิตและประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มอำนาจต่อรองตามเป้าหมายอย่างไรบ้าง” คุณอัษฎางค์ กล่าวในที่สุด