ตามไปดู ขั้นตอน วิธีการผลิต แปรรูปหมอนยางพารา เพิ่มมูลค่า เมื่อราคาน้ำยางพาราตกต่ำ

ออกจากตู้อบ

“ปัญหายางพาราราคาตกต่ำ” ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ ภาครัฐและเกษตรกรพยายามที่หาทางรอด ด้วยการเปลี่ยนพืชหลักใหม่ๆ เช่น ปาล์ม ทุเรียน หรือพืชชนิดอื่นๆ หรือเปลี่ยนอาชีพไปเลย หรือพยายามต่อสู้ต่อด้วยการเพิ่มมูลค่าน้ำยางพาราด้วยการนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ถ้าโปรเจ็กต์ยักษ์น่าจะเป็นการทำถนนที่ภาคใต้ ที่เห็นค่อนข้างเกร่อเต็มตลาดคือ ทำหมอนยางพารา ด้วยตลาดมีความต้องการทั้งในและต่างประเทศ จึงมีการผลิตตามๆ กัน แข่งขันกันด้วยราคา ไม่คำนึงถึงคุณภาพที่ได้มาตรฐาน การผลิตที่ได้คุณภาพเป็นที่ยอมรับและพยายามมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายผู้ผลิตที่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

 

เริ่มต้นพึ่งตนเอง ไม่กู้ธนาคาร เน้นกระจายรายได้ชุมชน มีรายได้ปันผลทันที

คุณเกรียงไกร เทพินทร์อารักษ์ ประธานสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด จำกัด เล่าว่า เดิมสหกรณ์ของกลุ่มยางพาราเนินดินแดง ตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 ช่วยเหลือเกษตรกรผลิตยางรมควันขาย แต่เห็นว่ายังเป็นการแก้ปัญหาที่กลางน้ำ เพราะไม่สามารถกำหนดราคาได้ จากข้อมูลการผลิตยางพาราวัตถุดิบส่งต่างประเทศ 90% และนำมาแปรรูปในประเทศเพียง 10% เป็นการเสียโอกาสอย่างยิ่ง ดังนั้น ในเดือนตุลาคม 2558 จึงจัดตั้งเป็นสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด จำกัด มีสมาชิก 38 คนถือหุ้น หุ้นละ 100 บาท เงินทุนจดทะเบียน 440,000 บาท ด้วยจุดประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาราคายางพาราที่ถูกลงมาเรื่อยๆ และไม่มีโอกาสที่จะราคาสูงได้เหมือนเดิม จึงคิดหาวิธีเพิ่มรายได้ให้สมาชิกด้วยการแปรรูปน้ำยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราเพื่อที่จะกำหนดราคาเองได้ จากนั้นเดินทางไปศึกษาดูการผลิตทางภาคใต้หลายครั้งใน 1 ปีเศษ เพื่อเรียนรู้และตัดสินใจลงทุนเครื่องจักรและหาตลาดจำหน่าย จนกระทั่งแน่ใจจึงเริ่มผลิตเมื่อเดือนมิถุนายน 2559

คุณเกรียงไกร เทพินทร์อารักษ์
คุณเกรียงไกร เทพินทร์อารักษ์

“แรกๆ ไม่ทราบว่าจะขายให้ใคร ใช้วิธีการทำตลาดอย่างไร จึงใช้โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ไลน์ ตลาดกลับขยายได้กว้าง ตอบรับดีมาก ซื้อ-ขายตรง ทำให้ผลิตไม่ทัน เพราะมีต้นทุนน้อยใช้เครื่องจักรเล็กๆ ทำได้เพียงวันละ 120-160 ใบ คือผลิตวันละ 2 กะ กะละ 12 ชั่วโมง ผลิตได้ 60-80 ใบ จึงทำแบบ 24 ชั่วโมงทีเดียว” คุณเกรียงไกร กล่าวและบอกต่ออีกว่า

“ยอมรับว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นเรื่องที่ยาก เคยลองติดต่อต้องใช้เวลารอนาน และเสียดอกเบี้ยร้อยละ 4-5 นั้น กำไรที่ได้เล็กๆ น้อยๆ จะไม่ได้เป็นของสมาชิก เนื่องจากสหกรณ์เราต้นทุนการผลิตสูง ผลิตภัณฑ์ทำแบบคุณภาพจริงๆ หากกู้เงินธนาคารกำไรน่าจะต้องส่งให้ธนาคารหมด สมาชิกแทบไม่ได้อะไรเลย คิดว่าควรพึ่งตัวเองให้ได้ดีกว่า จึงระดมเงินหุ้นจากสมาชิกเพิ่ม รวมทั้งใช้เงินส่วนตัวสำรองไปก่อน ประมาณ 700,000-800,000 บาท เพื่อให้มีทุนหมุนเวียน หลักการคือจะไม่รอเงินปันผลปลายปี เป็นรูปเงินสวัสดิการ ถ้ามีรายได้เข้ามาจะปันผลให้สมาชิกเป็นรายเดือนทันที เพื่อให้มีรายได้หมุนเวียนใช้จ่ายกัน ผลตอบแทนตัวเงินอาจจะไม่สูงมากแต่คิดว่าเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนสำคัญกว่า เพราะเมื่อฝนตกพ่อบ้านกรีดยางไม่ได้ มาทำงานที่โรงงาน แม่บ้านนำปลอกหมอนไปเย็บที่บ้าน เด็กๆ นำเศษยางไปตัดกิโลกรัมละ 10 บาท จะมีรายได้ ให้เขารู้ค่าของเงิน”

 

ขั้นตอน วิธีการผลิต ไปดูงาน ดูตลาดก่อนทำ มาตรฐานสำคัญ

เมื่อซื้อเครื่องจักรที่ผลิตหมอนยางพารามาติดตั้ง เป็นโรงงานขนาดเล็ก ประกอบด้วย เครื่องกวน เครื่องตีฟอง ตัวแบบที่ทำ ตู้สตรีม ตู้ปั่นถังซักแห้ง ตะแกรงตากแดด และห้องสำหรับตากให้แห้ง รวมทั้งสำนักงานของสหกรณ์ที่ดิน 2 ไร่เศษ คุณชาญ สีสด อดีตประธานสภาตำบลเนินทราย บริจาคให้

ขั้นตอนการผลิต

คุณสายสุณี สีสด สมาชิกสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด จำกัด พาชมโรงงานผลิตเล็กๆ พร้อมอธิบายกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างพิถีพิถันว่า การผลิตมี 6-7 ขั้นตอน ดังนี้

  1. 1. การปั่นน้ำยางข้น ใช้น้ำยาง 60 เปอร์เซ็นต์ ชั่ง 8-10 กิโลกรัม นำไปปั่นกวนในถังสแตนเลส เติมน้ำยาส่วนผสม 3 ชนิด ตามอัตราส่วน เริ่มจาก ผสมฟองสบู่ปั่นประมาณ 30 นาที ให้พองฟู น้ำใส จากนั้นใส่กำมะถันป้องกันเชื้อรา กันบูด กวนให้เข้ากันอีก 2 นาที และใส่สารที่ช่วยให้แข็งตัว คงรูป ไม่ยุบตัว กวนต่ออีก 1.40 นาที

    เทน้ำยาง 60 เปอร์เซ็นต์ ลงในถังปั่น
    เทน้ำยาง 60 เปอร์เซ็นต์ ลงในถังปั่น
  2. 2. การเทใส่บล็อกหรือแบบพิมพ์ นำน้ำยางที่กวนแล้วเทใส่บล็อกรูปหมอน ปาดน้ำยางให้เรียบ ปิดฝาทิ้งไว้ให้ยางแข็งตัว 15 นาที
  3. 3. การอบไอน้ำ นำหมอนออกจากบล็อกใส่ตู้อบ อุณหภูมิ 100 องศาเซียลเซียส ใช้เวลา 30 นาที อบไอน้ำให้แห้ง หมอนจะพองฟู นำไปล้างน้ำ
  4. 4. การล้างทำความสะอาด-ตากลม ล้างน้ำให้สะอาดในถังซีเมนต์ 3-4 ครั้ง และนำไปสลัดให้แห้งด้วยเครื่องปั่นแห้ง (เครื่องซักผ้า) ประมาณ 15 นาที และนำไปผึ่งลมบนแผงตะแกรงเป่าลมด้วยพัดลมขนาดใหญ่ให้แห้ง ใช้เวลา 18 ชั่วโมง
  5. 5. การอบให้แห้งสนิท สร้างโรงอบใส่แผ่นกระเบื้องพลาสติกใสให้มีแสงแดดลอดเข้ามา ทำชั้นวางหมอน ให้โปร่งและใช้พัดลมเป่าช่วยให้แห้งสนิทขึ้นอีก 7 วัน

    ออกจากตู้อบ
    ออกจากตู้อบ
  6. 6. การอบแห้งอีกครั้ง นำหมอนจากโรงอบเข้าตู้อบอุณหภูมิ 60-70 องศาเซียลเซียส ใช้เวลา 6 ชั่วโมงอีกครั้งให้แห้งสนิท และตัดแต่งขอบหมอนให้เรียบสวย เศษยางตัดจากขอบจะนำไปตัดชิ้นเล็กทำหมอนขนาดเล็กได้
  7. 7. การบรรจุแพ็กเกจจิ้ง นำหมอนที่อบแห้งเข้าโกดัง วัดความชื้นและแพ็กใส่ถุงสุญญากาศทันที เพื่อป้องกันเชื้อรา หมอนจะหดตัวบาง สะดวกพกพา จากนั้นนำไปใส่ปลอกตัวหมอน ปลอกหมอนพร้อมใช้งาน
คุณภาพเยี่ยมยอด
คุณภาพเยี่ยมยอด

“หมอนยางพาราที่นี่จะมีความพิถีพิถันให้แห้งสนิท ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ตามขั้นตอนให้ได้คุณภาพมาตรฐาน สูตรนี้ทำหมอนได้ครั้งละ 4 ใบ อัตราสูตรที่ใส่สารเคมีส่วนผสมต่างๆ จะมีมาตรฐานรับรองความปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ จากสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล สูตรอาจจะต้องปรับเล็กน้อยตามความเข้มข้นของน้ำยางและสภาพอากาศ คนทำหน้าที่นี้ต้องประจำ เพราะจะชำนาญและไม่ผิดพลาด เนื้อหมอนทำ 2 อย่าง คือ เนื้อยางที่ขาว และเนื้อยางสีม่วงซึ่งจะใส่ส่วนผสมถ่านชาโคลจากไผ่ลงไปผสมราคาจะแพงกว่า” คุณสายสุณี กล่าว

 

ตลาดแข่งขันสูง  มองหาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ เพิ่มมูลค่า

คุณเกรียงไกร กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมา มี 2-3 ปัจจัยหลักๆ คือ

  1. 1. การแข่งขันกับตลาดใหญ่ที่ผลิตจำนวนมากๆ ทำให้ต้นทุนต่ำ จึงตั้งราคาขายได้ต่ำกว่า และมีบางรายแข่งขันตัดราคากันเอง ทำให้หมอนไม่มีคุณภาพ เสียหายกับผู้ผลิตในภาพรวม
  2. 2. การตลาดระยะยาวยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีการผลิตกันแพร่หลาย ตลาดผู้ซื้อจะไม่ทำสัญญาออเดอร์ระยะยาว ทำให้ไม่มั่นใจที่จะลงทุนขยายการผลิต
  3. 3. ยังไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รับรองสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย ทำให้ทำตลาดต่างประเทศยาก แม้จะมีตลาดยุโรปสนใจ แต่การส่งตลาดต่างประเทศต้องมี มอก. รับรอง และ
  4. 4. สหกรณ์มีเงินทุนหมุนเวียนน้อย เนื่องจากสหกรณ์เองทำธุรกิจตัวแทนนำเข้าปลอกหมอนทั่วประเทศต้องมีเงินทุนสต๊อกผ้า รวมทั้งการจ่ายค่าแรง ทำให้ต้องชะลอเรื่องการขยายการผลิตออกไป

จังหวัดตราด เสียเปรียบที่อากาศชื้น ฝนตกมาก ต้องสร้างห้องอบและเพิ่มตู้อบให้แห้งอีกชั้นหนึ่ง ทำให้เพิ่มต้นทุน และการทำจะใช้เนื้อยางธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ราคาที่ตั้งขายอยู่เป็นราคาที่หักจากต้นทุนแล้ว กำไรเพียงใบละ 100 กว่าบาท ราคาขายส่งอยู่ที่ใบละ 500 บาท ขายปลีก 650 บาท หมอนชาโคล 750 บาท อาจจะแพงแต่รายละเอียดเรามีมากกว่า ตัวหมอน ปลอกหมอนใช้ผ้าเนื้อดีเย็บ จะทำ 2 ชั้น ใช้ผ้าทำปลอกหมอนโดยเฉพาะ มีความยืดหยุ่น นุ่ม นำเข้าจากจีน ตอนนี้หยุดความคิดขยายการผลิต ติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มขึ้น มาเป็นตามเก็บทุนจากเดิม เพื่อให้สมาชิกเห็นรายได้จากเงินลงทุนมาระยะเวลา 5-6 เดือน

“เงินทุนสำรองการสั่งปลอกหมอนครั้งละสูงถึง 200,000-300,000 บาท จึงไม่อยากขยายต้นทุนติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มอีก เมื่อตลาดแข่งขันกันค่อนข้างสูง จึงหันมาทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ที่นอน เบาะอาสน์สงฆ์ และนำเศษยางพาราเล็กๆ ทำหมอนรองคอ หมอนข้างเล็กๆ ออกมาใหม่ๆ จะขายดี แต่ต่อมาตลาดจะเงียบ จึงต้องมองหาโปรดักส์ใหม่ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มเป้าหมายลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และต่างจากคนอื่น เร็วๆ นี้มีแผนการผลิตที่นอน หมอนหลุมของเด็กๆ เพราะมองเห็นว่าใช้วัสดุไม่มาก แต่เพิ่มมูลค่าได้สูง และในอนาคตมีผลิตภัณฑ์ที่รอการรับรองผลการวิจัยก่อน คิดว่าผลิตภัณฑ์ยางพาราไปได้อีกไกล แต่ต้องมองหาสินค้าตัวใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนใครและตอบโจทย์ของตลาดให้ได้มากกว่า” คุณเกรียงไกร กล่าว

ผลงานโดดเด่นของสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด จำกัด ได้คัดเลือกเข้าโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์ และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตราด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) คาดว่าโอกาสที่จะขยายตลาดผลิตภัณฑ์ยางพาราใหม่จะมีมากขึ้น และนั่นคือเป้าหมายการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกจะเพิ่มขึ้น สนใจสอบถามรายละเอียดดูงานได้ที่ สหกรณ์ยางพาราเนินดินแดงตราด จำกัด เลขที่ 159/3 หมู่ที่ 9 ตำบลเนินทราย อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด 23000 หรือ คุณเกรียงไกร เทพินทร์อารักษ์ โทร. (098) 959-2565 

6 5 4