หนาวนี้ไปเที่ยวเพชรบูรณ์ แวะลิ้มรสไก่ย่างวิเชียรบุรี รู้หรือยัง ว่าเขาเริ่มต้นกันอย่างไร

เขตอำเภอวิเชียรบุรี ศรีเทพ หนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ สมัยเก่าก่อน เป็นป่าเปิดใหม่ นักแสวงโชคจากต่างถิ่นมุ่งเข้าไปจับจองที่ดินทำกิน ใครไปทีหลังก็สามารถซื้อหาได้ในราคาไม่แพง บางคนซื้อ 20 ไร่ ที่เหลือบุกเบิกเพิ่มเติมได้ 40-50 ไร่ ปัจจุบันไม่มีอย่างนั้นอีกแล้ว

ในเขตอำเภอวิเชียรบุรี ศรีเทพ จึงเป็นที่รวมเผ่าพันธุ์ของผู้คน ที่ไปจากทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นเหนือ กลางและอิสาน บางส่วนข้ามมาจากฝั่งลาวแท้ๆทางด้านจังหวัดเลย ดูอย่างโคตรเหง้าของเขาทราย-เขาค้อ แกแล็คซี่ มาจากบ้านนากาว เมืองบ่อแตน แขวงไชยบุรี แต่มาสมัยรุ่นพ่อ มาตั้งหลักปักฐานอยู่บ้านเสลียงลับ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์

เดิมทีถนนเชื่อมต่อ จากพุแค สระบุรี ไปหล่มสัก เพชรบูรณ์ ยังไม่ได้สร้าง เป็นเพียงถนนท้องถิ่นเล็กๆพอไปพอมาได้ คุณประเวศ แสงเพชร หรือหมอเกษตร ทองกวาว คอลัมนิสต์ชื่อดังในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็นคนหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มาเรียนที่อำนวยศิลป์ กรุงเทพฯ โดยนั่งรถโบราณที่เหมือนคอกหมู ผ่านเขารัง มาลงตะพานหิน จังหวัดพิจิตร แล้วนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ถนนที่สร้างจากพุแคไปหล่มสัก สร้างเสร็จราวปี 2510-2512

1

เมื่อถนนสายพุแค-หล่มสัก สร้างเสร็จมีชุมชนริมถนนเกิดขึ้นมากมาย ตัวตลาดวิเชียรบุรีอยู่ห่างจากถนนใหญ่เข้าไปไม่ไกลนัก ทางเข้าตลาดมีสามแยก ต่อมาคุ้นเคยกันดีในนาม “สามแยกวิเชียรบุรี” ขึ้นกับตำบลซับประดู่ เนื่องจากอยู่ริมถนน และเป็นสามแยก บริเวณนั้นจึงเป็นชุมทางย่อยๆ ที่ผู้คนมักผ่านทางไปมาเสมอ

ชุมทางสามแยกวิเชียรบุรี มักเป็นที่พักของคนเดินทาง ขณะที่พักก็นำข้าวออกมากิน นำน้ำออกมาดื่ม หลังๆจะเป็นที่รู้กันว่า พักกินข้าวที่สามแยกวิเชียรบุรี

หลังๆ มีคนไทยเชื้อสายจีนคนหนึ่ง เรียกกันแต่ชื่อเล่นๆว่า “ตาแป๊ะ” มองเห็นว่า คนผ่านไปมาไม่น้อย น่าจะทำอะไรขาย เขาคิดอยู่หลายตลบว่าจะทำอะไรขายดี สุดท้ายจึงมาลงเอยที่ไก่ย่าง เนื่องจากว่า คนแถบนั้น ส่วนหนึ่งมาจากอิสาน มีไก่ย่างก็อยู่ได้แล้ว อาจจะนำข้าวเหนียวมาจากบ้าน

คนท้องถิ่น เริ่มย่างไก่ขาย โดยใช้ไก่บ้านที่เลี้ยงไว้ ต่อมา ความต้องการมากขึ้น จนต้องไปกว้านซื้อจากหมู่บ้านที่ห่างไกลออกไป คนเดินทางหิวๆ เจอไก่ย่างร้อนๆ มีข้าวเหนียว ช่วยให้มีพลังเดินทางต่อ เริ่มแรกไก่ย่างมีเพียงเจ้าเดียว แต่เนื่องจากบอกกันปากต่อปาก ว่า ไก่ย่างที่วิเชียรบุรีอร่อย คนกินเพิ่มขึ้น คนท้องถิ่นจึงต้องหันมาประกอบอาชีพย่างไก่ขาย สุดท้ายจึงเป็นที่รู้กันว่า “ไก่ย่างวิเชียรบุรี” เขาอร่อย

ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะไปอำเภอไหนของประเทศไทย มักจะเห็นคนขายไก่ย่างวิเชียร ทำให้สร้างงานทำเงินได้อย่างดี

ลุถึงปัจจุบัน ร้านไก่ย่างวิเชียรที่มีขนาดใหญ่ มีประมาณ 10 ร้าน นอกนั้นเป็นร้านขนาดกลาง และรถเข็น

สิ่งที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับไก่ย่างวิเชียรบุรี คือส้มตำนั่นเอง

ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถิ่นนั้น ผู้คนอยู่รวมกันผสมผสานกลมกลืน วัฒนธรรมการกิน ก็มีการแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม ส้มตำที่มี ถือว่าลงตัว และเป็นที่ยอมรับของผู้เดินทาง ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน

2
คุณนุกูลและคุณกัลยา เขียวมณี

นุกูล และกัลยา เขียวมณี สามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 80 หมู่ 1 ตำบลซับประดู่ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบอาชีพขายไก่ย่าง ส้มตำ ถือว่าเป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้

นุกูลเป็นชาวไร่ ที่สืบทอดอาชีพมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เขามีบ้านอยู่ริมถนนฝั่งทิศตะวันออก หากไปจากกรุงเทพฯอยู่ขวามือ หากกลับจากเพชรบูรณ์อยู่ซ้ายมือ นุกูลแต่งงานกับกัลยา คนบ้านเดียวกัน ปัจจุบันมีบุตร 2 คน

คุณนุกูล ปลูกพืชไร่เลี้ยงตัวเองมานาน จนกระทั่งอยู่มาปีหนึ่ง เขาปรึกษากับภรรยาว่า น่าจะขายส้มตำ ไก่ย่าง เหมือนอย่างที่คนอื่นทำ เพราะบ้านมีทำเลติดถนน เมื่อตัดสินใจว่าขายแน่ แม่ของกัลยา คือคุณระนิด ทัตเศรษฐ สนับสนุนลูกสาวเต็มที่ เดิมคุณระนิดเป็นแม่ค้าส้มตำมือหนึ่งอยู่ที่ร้านตาแป๊ะ แต่เมื่ออายุมากขึ้นจึงหยุดพัก ดังนั้นวิชาส้มตำ จึงถูกถ่ายทอดสู่ลูกสาวคือคุณกัลยา

ร้านคุณนุกูลชื่อ “ไก่ย่างกฤษณา”

“ชื่อร้านเป็นชื่อน้องสาวผม ผมชอบปลูกต้นไม้ เห็นว่ากฤษณาเป็นไม้ดี จึงนำมาตั้ง ผมขายมากว่า 10 ปีแล้ว ของผมเป็นร้านขนาดกลาง ไก่ย่างที่ขาย สูตรได้จากคนท้องถิ่นที่นี่ ผสมผสานกันกับของผมเอง คล้ายๆของคนอื่นแต่ไม่เหมือน”คุณนุกูลบอก

หน้าร้าน
หน้าร้าน

ส่วนมือส้มตำที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากแม่ เล่าให้ฟังว่า ที่ร้านมีส้มตำปู ปู-ปลาร้า ไทย ไข่เค็ม หอยดอง ถั่ว และแตง

เครื่องปรุงส้มตำพื้นๆประกอบด้วย พริกขี้หนู 1-3 ผล กระเทียม 4-5 กลีบ มะนาว 1 ซีก มะเขือเทศ 2 ผล น้ำปลาครึ่งช้อน น้ำตาลปี๊ป น้ำมะขามเปียกจำนวนหนึ่ง และเส้นมะละกอ 1 ขยุ้ม หากลูกค้าสั่งส้มตำประเภทไหนก็เติมสิ่งนั้นเข้าไป สั่งตำปูเติมปู สั่งส้มตำไข่เค็มก็ใส่ไข่เค็มเข้าไป 1 ฟอง

เนื่องจากตำมานาน สิ่งที่ใส่ลงไปในส้มตำบางครั้งอาสัยความเคยชิน วัตถุดิบบางอย่าง ใช้อย่างไรก็ใช้อย่างนั้น เช่นมะนาว ถึงคราวราคาแพง 6-10 บาท ก็ต้องใช้เพราะเกรงว่า หากไม่ใช้แล้วรสชาติจะเปลี่ยน

ถามว่าทางร้านมีจุดเด่นตรงไหน…

คุณนุกูลนิ่งอยู่พักหนึ่งแล้วตอบว่า…ผมเป็นชาวไร่มาขายส้มตำ

เจ้าตัวขยายความว่า ทุกวันนี้ก็ยังทำไร่อยู่ เมื่อมาทำร้าน จึงลงมือปลูกผักเอง สำหรับนำมาใช้ในร้าน อาทิใบโหระพา ถั่วฝักยาว และพืชผักอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องซื้อ ระบบการผลิตก็ปลอดสารพิษ เน้นสารชีวภาพ เพื่อความปลอดภัย

ปริมาณการขายนั้น เจ้าของร้านบอกว่า อยู่ได้ เนื่องจากที่ไม่ต้องเช่า ยามคนน้อยหรือวันธรรมดา คุณนุกูลก็เข้าไร่ วันเสาร์-อาทิตย์ และเทศกาลจึงออกมาช่วย              4

คนที่แวะเวียนเข้าไปกินเข้าไปซื้อนั้น ช่วงเทศกาลมีมากแน่นอน เพราะถนนสายนี้ เป็นถนนสายหลักเพื่อการท่องเที่ยวไปแล้ว ใครจะไปเขาค้อ ภูหินร่องกล้า ภูเรือ ใช้เส้นนี้ ถนนดีที่สุด

เสาร์และอาทิตย์ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แต่หากเป็นวันธรรมดา การซื้อก็คล้ายๆร้านอื่น มีมากบ้างน้อยบ้าง

“เริ่มขายตีห้า เลิกหกโมงเย็น บางวันไก่ยังไม่หมดอาจจะเลิกสองทุ่ม มีคนมาซื้อเรื่อยๆ ”คุณกัลยาบอก

หนาวนี้ ใครไปเที่ยวเพชรบูรณ์ ก็แวะอิ่มอร่อยกันได้ตามอัธยาศรัย