ข้าวถุงยอดร่วง หลังชาวนาแห่ทำข้าวขายตรง ผู้ประกอบการจับมือห้างปรับเกมสู้

ผู้ประกอบการข้าวถุงปรับตัวรับปริมาณข้าวนาปีออกสู่ตลาด 25 ล้านตัน หลังชาวนาหนีตายแห่ทำข้าวขายตรงสู่ผู้บริโภค ประกาศจับมือโมเดิร์นเทรดทำข้าวถุงแบรนด์สมาคมแจกในห้าง ส่วนแบรนด์ดัง “ตราฉัตร-มาบุญครอง-หงษ์ทอง” ต้องปรับลดราคาสู้ วงการข้าวคาดการณ์ ตลาดซึมยาวถึงปีหน้าโดยเฉพาะ ข้าวตักขายจะกระทบหนัก

ปริมาณข้าวนาปี 2559/60 ที่ออกสู่ตลาดพร้อม ๆ กันถึง 25 ล้านตันข้าวเปลือกจนราคาข้าวภายในประเทศตกต่ำลงกว่าต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนา ส่งผลให้รัฐบาลต้องนำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวออกมาใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ผ่านการรับจำนำยุ้งฉางของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีเป้าหมายการดำเนินการ 3 ล้านตัน (ข้าวเปลือกหอมมะลิ 2 ล้านตัน-ข้าวเปลือกเจ้า/ปทุมธานี 1 อีก 1 ล้านตัน)

ในขณะที่ผลผลิตข้าวนาปีอีกไม่ต่ำกว่า 22 ล้านตันต้องเผชิญกับความตกต่ำของราคาข้าว ประกอบกับรัฐบาลไม่ยอมขยายปริมาณรับจำนำยุ้งฉางเพิ่มมากขึ้น แต่กลับใช้วิธีการเปิดจุดให้ชาวนานำข้าวออกมาขายสู่ตลาดโดยตรงผ่านทั้งหน่วยงานของรัฐและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ช่วยซื้อข้าวจากชาวนาแน่นอนว่าวิธีการดำเนินการดังกล่าวจะมีปริมาณข้าวไหลผ่านตรงสู่มือผู้บริโภคมากขึ้น”อาจจะ” คิดเป็นร้อยละ 5 ของตลาดข้าวบรรจุถุงในประเทศ แต่ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตข้าวถุงภายในประเทศจนต้องปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดช่วง 1-2 เดือนนี้ใหม่

ข้าวถุงปรับตัวหั่นราคาลงสู้

นางโสพรรณ มานะธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้ง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ตลาดข้าวถุงในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ “ได้ปรับตัวลดลง” ตามความต้องการบริโภคข้าวในประเทศที่ลดลงจากเดิมเคยบริโภคปีละ 9 ล้านตัน ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาปริมาณซัพพลายข้าวหอมมะลิเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันในกลุ่มผู้ผลิตข้าวถุง ซึ่งมีจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาข้าวถุงต้องปรับตัวลดลงอย่างมาก

“ปรากฏการณ์ที่ชาวนารวมกลุ่มกันผลิตข้าวถุงเพื่อจำหน่ายโดยตรงให้กับผู้บริโภคจะกระทบในช่วง 1-2 เดือนนี้ แต่คงสัดส่วนไม่มากนักอาจจะไม่เกิน 5% หากเทียบกับความต้องการซื้อข้าวถุงทั้งปีที่ 9 ล้านตัน แต่สถานการณ์ตลาดข้าวถุงไม่ขยายตัวมาระยะหนึ่งแล้วเพราะ ผู้บริโภคทานข้าวลดลงจากปกติจะซื้อถุงขนาด 5 กิโลกรัม 1-2 ถุงต่อเดือน แต่ผู้ประกอบการข้าวถุงมีจำนวนมากจึงเกิดการแข่งขันสูง จนเกิดปรากฏการณ์ ราคาข้าวถุงลดลงมาก ๆ ในช่วงนี้ ทำให้ผู้ประกอบการค้าข้าวถุงได้ร่วมกับผู้ค้าปลีก จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย (โปรโมชั่น)ในช่วงปลายปีมากขึ้นคิดว่า สถานการณ์จะคลี่คลายหลังผ่านเดือนธันวาคม-มกราคม 2560 ไปแล้ว” นางโสพรรณกล่าว

โดยในส่วนของข้าวถุงตราหงษ์ทอง ได้จัดกิจกรรมโปรโมชั่นปรับลดลงจำหน่าย ข้าวถุงหอมมะลิขนาด 5 กก. ขณะนี้เหลือเพียงถุงละ 189 บาท จากปกติจะมีราคาสูงกว่านี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นการกระตุ้นตลาดโค้งสุดท้าย โดยมาร์เก็ตแชร์ของข้าวหงษ์ทองยังอยู่ในกลุ่ม 3 อันดับแรกร่วมกับข้าวตราฉัตร กับข้าวมาบุญครอง แต่ละแบรนด์จะมีมาร์เก็ตแชร์ปรับขึ้นลงสลับกัน

ด้านนายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทยได้ประชุมร่วมกับ สมาคมค้าปลีก เพื่อหารือแนวทางจัดทำข้าวถุงแบรนด์ สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เพื่อไปแจกพรีเมี่ยมในห้างค้าปลีกทั่วประเทศ “แทนการให้คูปองส่วนลด” โดยหวังว่า แนวทางนี้จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการบริโภคข้าวถุงในประเทศให้มากขึ้น

จากปัจจุบันตลาดข้าวในประเทศ 9 ล้านตันแบ่งเป็น ข้าวเพื่ออุตสาหกรรม 3 ล้านตัน กับ ข้าวถุงสำหรับการบริโภค 5-6 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็น ข้าวถุงหอมมะลิ 30% หรือประมาณ 1-2 ล้านตัน กับ ข้าวขาว 70% หรือประมาณ 3-4 ล้านตัน หากส่งเสริมให้กลุ่มผู้บริโภคข้าวขาวหันมาบริโภคข้าวหอมมะลิก็จะช่วยยกระดับราคาได้ ส่วนข้าวขาวจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะมีตลาดส่งออกรองรับ ในขณะที่ข้าวหอมมะลิเก่าไม่มีตลาดส่งออกรองรับ

“ผลจากความนิยมข้าวถุงที่ผลิตโดยตรงจากชาวนาที่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีการซื้อข้าวเก็บสต๊อกเพิ่มขึ้น ข้อเท็จจริงในส่วนนี้อาจจะทำให้ผู้ประกอบการข้าวถุงส่วนหนึ่งกังวลว่า ตลาดอาจชะลอตัว 1-2 เดือนนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการข้าวถุงหลายรายต้องปรับกลยุทธ์ เช่น บางรายสนับสนุนการนำข้าวจากเกษตรกรมาผลิตและจำหน่าย ในส่วนของข้าวถุงมาบุญครอง ได้มีการเปิดพื้นที่ให้ชาวนานำข้าวถุงมาจำหน่ายได้ ขณะที่บางรายปรับลดราคาจำหน่ายลง ทำโปรโมชั่นมากขึ้น แต่ยิ่งทำโปรโมชั่นจะยิ่งทำให้ราคาข้าวเปลือกลดลงไปอีก” นายสมเกียรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาข้าวถุงชาวนาส่วนใหญ่จะจำหน่าย กก.ละ 35-45 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับราคาข้าวถุงในตลาดปกติ แต่สัดส่วนข้าวถุงชาวนายังมีน้อยจำหน่ายคนละกลุ่มตลาด (ข้าวถุงขายคนเมือง ข้าวถุงชาวนาเน้นขายในท้องถิ่น) อีกทั้งต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาแตกต่างกับข้าวถุง เช่น การขัดสีและการดีดสิ่งปลอมปน ยังไม่มีการควบคุมคุณภาพ ดังนั้นข้าวถุงชาวนาจึงไม่สามารถจัดจำหน่ายในห้างค้าปลีกได้ ต้นทุนค่าขนส่งสูงกว่าหากจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์

ดังนั้นข้าวถุงชาวนาจึงทำได้เพียงขายผ่านยี่ปั๊วซาปั๊ว แต่จุดต่างก็คือ ชาวนามีวัตถุดิบข้าวฤดูกาลใหม่ ซึ่งทางผู้ประกอบการข้าวถุงยังใช้สต๊อกข้าวเก่าเพราะ ข้าวใหม่เพิ่งเก็บเกี่ยว เช่น กข. 15 ยังไม่ออกจากโรงสี แต่หากภาครัฐจะสนับสนุนให้ชาวนาทำข้าวถุงแบบเชิงการค้าจริงจัง “ก็ควรดูแลมาตรฐานการผลิตเพื่อไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน”

ล่าสุดจากการลงพื้นที่สำรวจผลผลิตข้าวปี 2559/2560 ในสัปดาห์ทีผ่านมาของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่า จะมีผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิออกสู่ตลาดประมาณ 10 ล้านตันหรือคิดเป็นข้าวสารปริมาณ 4.5 ล้านตัน ซึ่งข้าวในส่วนนี้จะถูกนำไปส่งออกประมาณ 1 ล้านตันจะเหลืออีก 3.5 ล้านตันจำนวนนี้จะใช้บริโภคภายในประเทศประมาณ 1.8-2 ล้านตันและที่เหลือจะถูกเก็บเป็นสต๊อกสำหรับใช้ต่อไป

ปีหน้าผู้ประกอบการเหนื่อยหนัก

นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ “ข้าวไก่แจ้” กล่าวว่า ชาวนาออกมาขายข้าวเองอาจจะทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อบ้าง แต่เชื่อว่า จะไม่ส่งผลต่อการเติบโต ซึ่งโดยปกติในตลาดข้าวถุงมีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด “เรามีการวางแผนร่วมกับห้างในการทำการตลาดแบบรายปีและจัดแคมเปญตามสถานการณ์ตลาด ตอนนี้ไม่มีโปรโมชั่นพิเศษเพราะ สต๊อกใหม่เข้าตลาดใน 1-2 เดือนที่ผ่านมาได้มีการปรับราคาลงมาให้แข่งขันในตลาดได้ โดยข้าวหอมมะลิ 5 กก.ราคาตั้งแต่ 120-150 บาทเทียบกับสต๊อกเก่ายังเป็นราคาสูงเฉลี่ยตั้งแต่ 130-200 บาท”

นางสาวสุวิมล พงศ์พิทยานันต์ ประธานกรรมการ บริษัท อิสเทิร์นไรซ์ จำกัด ผู้ผลิตข้าวถุงแบรนด์ลูกโลก กล่าวว่า บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากกลุ่มบางจากปิโตรเลียม ให้ซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในกลุ่มสหกรณ์เพื่อนำมาผลิตข้าวถุงขายให้กับบางจากฯ โดยขอให้ซื้อจากเกษตรกรในราคาพิเศษ หักลดความชื้นน้อยกว่าปกติ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ในส่วนของข้าวถุงแบรนด์ลูกโลกได้ปรับลดราคาลงไปแล้ว เช่น ข้าวหอมมะลิเหลือถุงละ 130 บาทเพราะ “ต้นทุนข้าวปรับลดลงไม่ใช่เราจะไปขายข้าวถุงแข่งกับชาวนา”

ด้านนายวชรพล จงอดิเรกลาภ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายขาย (Sale Executive) บริษัท Aurora Rice จำกัด ผู้ผลิตข้าวถุงแบรนด์ “ดรุณี” กล่าวว่า การที่ชาวนารวมกลุ่มผลิตข้าวถุงขายเพิ่มขึ้นจะกระทบต่อตลาดข้าวถุงบ้างเพราะหากประชาชนซื้อสต๊อกไว้จำนวนมากแล้วอาจจะทำให้ตลาดชะลอตัวได้โดยในส่วนของบริษัทเน้นตลาดร้านอาหารและโรงแรมรวมถึงรับจ้างผลิตให้แบรนด์ของโมเดิร์นเทรด เช่น บิ๊กซี แม็คโคร ซึ่งจะเน้นข้าวถุงที่มีคุณภาพสูงไม่กระทบมากนัก

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด ผู้จำหน่ายข้าวถุงตราฉัตร เตรียมจัดโครงการผลิตข้าวถุงช่วยเหลือชาวนา โดยจะผลิตข้าวถุงหอมมะลิบรรจุถุง 5 กก. ออกมาจำหน่ายราคาถุงละ 125 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดข้าวถุงหอมมะลิปัจจุบันที่ต่ำสุดถุงละ 150 บาท โดยจะเปิดตัวและวางตลาดในวันที่ 17 ธันวาคมนี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ออกสำรวจตลาดข้าวถุงในห้างโมเดิร์นเทรดทั่วกรุงเทพฯพบว่า ข้าวถุงมีการปรับลดราคาจำหน่ายลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะข้าวถุงที่ผลิตจากข้าวขาว 5% ถุง 5 กก. เฉลี่ยถุงละ 80-90 บาท ขณะที่ราคาข้าวถุงหอมมะลิ 5 กก.ขายเฉลี่ยถุงละ 150-160 บาท และบางรายเริ่มปรับลดราคาลงต่ำกว่านี้แล้ว อาทิ เทสโก้ จัดแคมเปญ “ข้าวสารราคาขายส่งลด 10% จากราคาปกติ” ถึง 31 ธันวาคมนี้ โดยมีหลายแบรนด์เข้าร่วม อาทิ มาบุญครองข้าวขาว 100% 5 กก. ลดจาก 143 บาทเหลือ 139 บาท, ข้าวปิ่นเงินข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาแท้ 100% 5 กก. ลดจาก 185 บาทเหลือ 146 บาท, ข้าวสุพรรณหงษ์ข้าวหอมผสม 5 กก. ลดจาก 167 บาทเหลือ 150 บาท

ด้านบิ๊กซีจัดโปรโมชั่นลดราคาตั้งแต่ 2-44 บาท ระยะเวลาตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน-31 ธันวาคม 2559 อาทิ หงษ์ทองข้าวหอมมะลิ 100% ขนาด 5 กก. ลดจาก 229 บาทเหลือ 209 บาท, ข้าวตราฉัตรส้มข้าวหอม 5 กก. ลดจาก 180 บาทเหลือ 149 บาท, มาบุญครองข้าวหอมคัดพิเศษ 5 กก. ลดจาก 175 บาทเหลือ 149 บาท และยังมีโปรโมชั่นคูปองส่วนลดมูลค่า 100 บาท สำหรับซื้อข้าวพันดีชนิดใดก็ได้ มูลค่า 299 บาทขึ้นไปตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน -13 ธันวาคม 2559 อีกด้านหนึ่งได้เปิดพื้นที่ให้ชาวนานำข้าวสารมาจำหน่าย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อาทิ บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต 98 สาขาทั่วประเทศ, ท็อปส์ มาร์เก็ตที่ให้พื้นที่ขายหมุนเวียนไปทุกสาขาทั่วประเทศเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 10-30 พฤศจิกายนนี้

ขณะที่ห้างแม็กซ์แวลูพบข้าวหอมมะลิตราฉัตรทอง จัดโปรโมชั่นลดราคาจากถุงละ 262 บาทเหลือเพียงถุงละ 239 บาท, ข้าวกล้องหอมแดงอินทรีย์ลดจาก 99 บาทเหลือ 79 บาท และข้าว 4 พัฒน์ราคา 129 บาทซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง

ด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวถุง กล่าวว่า แนวโน้มราคาข้าวถุงมีโอกาสจะปรับลงอย่างต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1/2560 เนื่องจากมีลูกค้าบางส่วนมีการสั่งซื้อข้าวล่วงหน้าในช่วงนี้ ส่งผลทำให้ปี 2560 จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ผู้ประกอบการข้าวถุงต้องทำงานหนักขึ้น แต่ยอดขายต่อตันกลับลดลง “คนไทยบริโภคข้าว 11 ล้านตันต่อปี ยอดขายในโมเดิร์นเทรดมีสัดส่วนแค่หลัก 100,000 ตันต่อปี ขณะที่ช่องทางขายหลักยังเป็น ตลาดข้าวตัก แต่ปีหน้าจะยิ่งแย่ ไม่มีใครอยากขายของถูกเพราะ ทำงานหนักกว่าเดิมหรือเท่าเดิม แต่ขายได้เงินต่อตันน้อยลงและยังมีรายจ่ายต้นทุนการผลิต ค่าแรงอีก” แหล่งข่าวกล่าว

พาณิชย์แจงราคาข้าวขยับขึ้น

ด้านนางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงโครงการชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 2559/60 ตั้งเป้าจะมีข้าวเข้าโครงการประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งเชื่อว่าจะได้ตามเป้าและเกษตรกรจะเข้าร่วมเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านตัน โดยหลังจากนี้มั่นใจว่า ราคาข้าวจะปรับตัวดีขึ้น 500-1,000 บาท/ตันเป็นไปตามคุณภาพและความชื้นของข้าว ขณะที่รายได้ของเกษตรกรจากการนำเข้าโครงการจะเฉลี่ยได้อยู่ที่ 13,500 บาท/ตัน

“จากการลงพื้นที่ตรวจสอบผลผลิตข้าวอย่างต่อเนื่องพบว่าราคาข้าวมีการปรับขึ้นตามคุณภาพ จากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลและเกษตรกรเกี่ยวข้าวสามารถนำไปตากแห้งและความชื้นน้อยลง ประกอบกับแดดดีทำให้ข้าวมีคุณภาพมากขึ้น โดยราคาข้าวหอมมะลิขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 9,000-10,000 บาท/ตันความชื้น 15% ส่วนราคาข้าวขาวขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 7,000-8,000 บาท/ตัน โดยในปีนี้ผลผลิตข้าวขาวออกมาน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 6 ล้านตันข้าวเปลือกจากเดิม 7-8 ล้านตันข้าวเปลือก” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว