ยกร่างมาตรฐานฟาร์มสาหร่ายทะเล

มกอช. เตรียมยกร่าง “มาตรฐานฟาร์มสาหร่ายทะเล” หวังยกระดับคุณภาพสาหร่ายไทยได้มาตรฐาน พร้อมดันเป็นสินค้าเศรษฐกิจสำคัญ วางเป้าส่งออกจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และฮ่องกง

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สาหร่ายทะเลมีแนวโน้มได้รับความนิยมในการบริโภคสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เนื่องจากให้พลังงานต่ำและอุดมไปด้วยธาตุอาหารสําคัญต่างๆ ที่จําเป็นต่อร่างกาย เช่น วิตามิน โปรตีน และแร่ธาตุต่างๆ มีใยอาหารสูง ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ในขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสาหร่ายทะเลได้หลายชนิด เช่น สาหร่ายผมนาง สาหร่ายพวงองุ่น และสาหร่ายเม็ดพริก มีปริมาณการส่งออกสาหร่ายทะเลประมาณปีละ 20-200 ตัน โดยน้ำหนักแห้งคิดเป็นมูลค่า 4-10 ล้านบาทเศษ สาหร่ายทะเลแห้งส่วนใหญ่ที่ส่งออก คือ สาหร่ายผมนาง (Gracilaria spp.) ซึ่งจะนําไปแปรรูป (สกัด) เป็นวุ้นและส่งกลับมาจําหน่ายในประเทศไทย ประมาณปีละ 200-300 ตัน คิดเป็นมูลค่า 50-100 ล้านบาท สาหร่ายทะเลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังได้จากการเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนและปริมาณลดลงมาก การเพาะเลี้ยงโดยทำเป็นระบบฟาร์มเลี้ยงสาหร่ายทะเลจึงมีความจำเป็นอย่างมากในการวางแผนขยายการเพาะเลี้ยงโดยทําเป็นระบบฟาร์มเลี้ยงสาหร่ายทะเล

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎระเบียบ ข้อบังคับหรือการควบคุมกระบวนการผลิตสาหร่ายทะเลเพื่อให้ได้สาหร่ายทะเลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค เป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัญหาด้านคุณภาพที่สามารถเกิดกับสาหร่ายทะเล ได้แก่ คุณภาพและความสะอาดที่ไม่สม่ำเสมอ ปริมาณโลหะหนักและวิธีการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ

นางสาวเสริมสุข กล่าวว่า จากปัญหาและแนวโน้มความต้องการของตลาดดังกล่าว มกอช. ได้ร่วมกับกรมประมง เตรียมจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มสาหร่ายทะเล พร้อมแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานฯ เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสาหร่าย สามารถนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักสุขอนามัยและความปลอดภัยอาหาร และให้เกษตรกรผลิตสาหร่ายทะเลที่มีคุณภาพเป็นไปตามความต้องการของตลาดและสอดคล้องตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งได้เปิดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเกษตรกรผู้ประกอบการ ผู้ผลิต นักวิชาการ และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกฝ่าย เพื่อหารือในเรื่องของ ขอบข่าย คำนิยาม และข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย 1.การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2.สถานที่ตั้งฟาร์ม 3.การจัดการทั่วไป 4.ปัจจัยการผลิต 5. สุขอนามัยภายในฟาร์ม 6.การเก็บเกี่ยวรวบรวม และการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวก่อนจำหน่าย 7.ความรับผิดชอบต่อสังคม 8.ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 9.การบันทึกข้อมูล

เพื่อนำมาประกอบการปรับปรุงร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงที่ดีสำหรับฟาร์มสาหร่ายทะเล และแนวปฏิบัติในการใช้มาตรฐานฯ ให้มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ อยู่ในแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร พิจารณาความเห็นชอบและประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป อีกทั้งให้เกษตรกร ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวในเรื่องคุณภาพ มาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อสนับสนุนการนํามาตรฐานไปประยุกต์ใช้และยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรในอนาคต