เร่งผลักดันมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่ขึ้นแท่นมาตรฐานบังคับ

มกอช.เร่งผลักดันมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่ขึ้นแท่นมาตรฐานบังคับยกระดับฟาร์มไก่ไข่เข้าสู่ระบบมาตรฐาน  ป้องกันความเสี่ยงของโรคอุบัติใหม่ พร้อมตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและรองรับการส่งออกไข่ไก่ในอนาคต

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)  กล่าวว่า ขณะนี้มกอช.อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นประธาน  เพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการในการกำหนดมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เพื่อให้เป็นมาตรฐานบังคับ  และคาดว่าหากขบวนการแล้วเสร็จสามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณเดือน พ.ย.-ธ.ค. ปลายปี 2561และปลายปี 2562 จะเริ่มบังคับสำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ตามลำดับ

สำหรับ สาเหตุที่ประเทศไทยต้องเร่งออกมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เพื่อให้เป็นมาตรฐานบังคับ  มีผลมาจากตามที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg board) ได้พิจารณาสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทยที่ประสบปัญหา ทั้งที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาด การควบคุมความปลอดภัยและคุณภาพสินค้า การจัดการตลาดไข่ไก่ในประเทศ รวมทั้งการเปิดตลาดการค้าไข่ไก่ในขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การผลิตไข่ไก่ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงของโรคอุบัติใหม่ ยกระดับฟาร์มไก่ไข่เข้าสู่ระบบมาตรฐาน ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการไข่ไก่คุณภาพดีที่ได้จากฟาร์มที่มีมาตรฐานการผลิต

โดยขอบข่ายการบังคับของมาตรฐานฉบับใหม่นี้ กำหนดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยงไก่ไข่เพื่อการค้าฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่ 1,000 ตัว ขึ้นไป ครอบคลุมองค์ประกอบฟาร์ม การจัดการฟาร์ม อาหาร น้ำ การจัดการบุคลากร การจัดการสุขภาพสัตว์ การจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ การจัดการไก่รุ่น ไก่ระยะไข่และไข่ไก่ การจัดการสิ่งแวดล้อม การบันทึกข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ไข่ไก่ที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมในการนำไปบริโภคเป็นอาหาร   และไม่ครอบคลุมฟาร์มไก่ไข่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการเลี้ยงระบบอื่น ที่รับรองโดยกรมปศุสัตว์ เช่น มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เล่ม 2 : ปศุสัตว์อินทรีย์ (มกษ.9000 เล่ม 2) ฟาร์มไก่ไข่แบบเลี้ยงปล่อยอิสระ โดยการเลี้ยงสัตว์ปีกแบบปล่อยอิสระ (Free-range poultry farming) หมายความว่า การเลี้ยงสัตว์ปีกซึ่งมีช่วงเวลาในแต่ละวันที่ปล่อยให้สัตว์ปีกได้ออกมาภายนอกโรงเรือนได้อย่างอิสระ โดยมีพื้นที่ให้สัตว์ปีกได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น การคลุกฝุ่น คุ้ยเขี่ย การไซร้ขน การจิกกินพืช ผัก แมลง ทำให้สัตว์ปีกอารมณ์ดีและมีความสุข

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์

ปัจจุบันมีฟาร์มไก่ไข่ทั่วประเทศจำนวน 2,944 ฟาร์มแบ่งเป็นฟาร์มที่ผ่านมา GAP จำนวน 1,536 ฟาร์มและไม่ผ่าน GAP จำนวน 1,408 ฟาร์ม   โดยได้แบ่งขนาดฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่เป็น  6 ขนาด   คือ   ขนาดแรกเป็นฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ 1-999 ตัว ไม่อยู่ในขอบข่ายการบังคับของมาตรฐาน ทั้งนี้ จำนวนไก่ไข่ที่ไม่อยู่ในขอบข่ายการบังคับ คิดเป็น 0.18% ของจำนวนไก่ไข่ที่เลี้ยงทั้งประเทศ  ขนาดที่ 2 เป็นฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่ 1,000 ตัว ให้อยู่ในขอบข่ายการบังคับของมาตรฐาน ซึ่งคิดเป็น 99.82% ของจำนวนไก่ไข่ที่เลี้ยงทั้งประเทศ โดยกำหนดให้  ขนาดที่ 3 เป็นฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ 1,000-9,999 ตัว (คิดเป็น 9.16% ของจำนวนไก่ไข่ที่เลี้ยงทั้งประเทศ) ให้เข้าสู่การบังคับใช้ภายใน 5 ปี หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา และควรกำหนดให้ฟาร์มได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตและใบรับรอง ทั้งนี้ ต้องผลักดันให้ฟาร์มปฏิบัติตามมาตรฐาน จำนวน 1,482 ฟาร์ม โดยปัจจุบันฟาร์มประเภทนี้ได้รับการรับรองตาม มกษ.6909-2553 แล้ว จำนวน 619 ฟาร์ม และยังไม่ได้ขอการรับรอง จำนวน 863 ฟาร์ม (ต้องยกระดับ)

ขนาดที่ 5 เป็นฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ 10,000-99,999 ตัว (คิดเป็น 30.04% ของจำนวนไก่ไข่ที่เลี้ยงทั้งประเทศ) เข้าสู่การบังคับใช้ภายใน 5 ปี หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ต้องผลักดันให้ฟาร์มปฏิบัติตามมาตรฐานรวมทั้งขอใบอนุญาตและใบรับรอง จำนวน 929 ฟาร์ม โดยปัจจุบันฟาร์มประเภทนี้ได้รับการรับรองตาม มกษ.6909-2553 แล้ว จำนวน 746 ฟาร์ม และยังไม่ได้ขอการรับรอง จำนวน 180 ฟาร์ม (ต้องยกระดับ)

ส่วนขนาดที่ 6  เป็น ฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป (คิดเป็น 60.62% ของจำนวนไก่ไข่ที่เลี้ยงทั้งประเทศ) เข้าสู่การบังคับใช้ภายใน 1 ปี หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ต้องผลักดันให้ฟาร์มปฏิบัติตามมาตรฐานรวมทั้งขอใบอนุญาตและใบรับรอง จำนวน 134 ฟาร์ม โดยปัจจุบันฟาร์มประเภทนี้ได้รับการรับรองตาม มกษ.6909-2553 แล้ว จำนวน 132 ฟาร์ม และยังไม่ได้ขอการรับรอง จำนวน 2 ฟาร์ม (ต้องยกระดับ)

เลขาธิการมกอช. กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา มาตรฐานที่ใช้ในประเทศไทยปัจจุบันเป็นมาตรฐานสมัครใจหากฟาร์มต้องการเข้าสู่ระบบมาตรฐานสามารถมาขอการรับรองจากระทรวงเกษตรได้ ซึ่งจากข้อมูลของกรมปศุสัตว์พบว่าฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่มีหลากหลายขนาดมาก ตั้งแต่ฟาร์มมาตรฐานขนาดเล็กที่มีจำนวนไก่ไข่หลักร้อยตัว (200-500 ตัว)   ดังนั้น   มาตรฐานฉบับใหม่จึงถูกปรับสาระสำคัญ โดยลดทอนข้อกำหนดที่ซ้อนทับกับกฎหมายฉบับอื่นเช่น ข้อกำหนดด้านการจัดการแรงงาน และข้อกำหนดที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คงเหลือแต่ข้อกำหนดที่มุ่งเน้นในเรื่องของการจัดการฟาร์ม การดูแลสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และการป้องกัน ควบคุมโรคในฟาร์ม