สวพ.4 จับมือ เทสโก้ โลตัส ใช้ประชารัฐผลักดัน ผลิตสินค้าปลอดภัยภายใต้ GAP

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 ร่วมกับ เทสโก้ โลตัส จัดงานมหกรรมสินค้าเกษตรปลอดภัยภายใต้ระบบ GAP “ผักผลไม้ GAP ปลูกดี กินปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ”

จากการที่กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 (สวพ.4) อุบลราชธานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรร้อยเอ็ด ได้ร่วมมือกับเทสโก้ โลตัส วัดป่าทุ่งกุลา ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ผสานพลังประชารัฐ จัดทำโครงการ “ปลูกผักกลางนา ทุ่งกุลา ยิ้มได้” เริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2558 ในพื้นที่ของวัดป่าทุ่งกุลา ตำบลทุ่งทอง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

โดยวัดป่าทุ่งกุลา ได้จัดสรรพื้นที่ให้ขนาด 13 ไร่ แบ่งเป็นแปลงจำนวน 8 แปลง ให้กับชาวบ้าน 30 ครัวเรือน ปลูกผักบุ้ง ตามมาตรฐานการผลิต GAP และเทสโก้ โลตัส เป็นผู้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรครอบครัวละประมาณ 5,000 บาท ต่อการเก็บผลผลิตในแต่ละรอบ (1 รอบ ใช้เวลาเพาะปลูกประมาณ 1 เดือน)

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่พยายามเน้นให้เกษตรกรตระหนักก็คือ วิธีการทำให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง และให้ความรู้การผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP ซึ่งอดีตที่ผ่านมาสินค้าเกษตรที่พ่อค้าคนกลางส่งขายให้เทสโก้ โลตัส ถูกตีกลับประมาณ ร้อยละ 60-70 ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามหาศาลที่เกษตรกรต้องสูญเสียเพราะสินค้าขาดคุณภาพ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ คุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์

ดังนั้น การรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตรกรเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด ชาวบ้านมีความรู้ในการปลูกผักตามมาตรฐานความปลอดภัยและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด

ประเมินศักยภาพของเกษตรกรและเครือข่ายผู้ผลิตเมล่อน GAP
ประเมินศักยภาพของเกษตรกรและเครือข่ายผู้ผลิตเมล่อน GAP

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร ได้เติมเต็มองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชผักปลอดภัย การจัดทำแปลงเรียนรู้เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และปฏิบัติร่วมกันทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมแปลง การปลูก การจัดทำระบบน้ำในแปลงผัก การผลิตปุ๋ยหมักอย่างง่ายใช้เอง การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว พร้อมสนับสนุนการตรวจรับรองแหล่งผลิตตามมาตรฐาน GAP ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร ได้มุ่งพัฒนาการบริหารจัดการสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาด ทั้งเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย ความสด และเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและตรงเวลา พร้อมส่งเสริมให้มีการใช้ QR code เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

การร่วมมือกันตามนโยบายประชารัฐ เป็นการผนวกจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายเพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เทสโก้ โลตัส ทำงานร่วมกับเกษตรกรจำนวนมากทั่วประเทศไทย จึงทราบดีถึงปัญหาที่เกษตรกรประสบ แต่ขาดความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีการผลิตพืช

ในจุดนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร สามารถเติมเต็มให้ได้ เพื่อยกระดับสินค้าเกษตร GAP และยังเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าคุณภาพให้กับเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคงเพื่อเชื่อมโยงตลาดที่มั่นคงให้กับเกษตรกรผู้ผลิตผักและผลไม้ในพื้นที่ 9 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างกว่า 3,000 ราย ที่ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตร

พร้อมกันนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมกับ เทสโก้ โลตัส ได้เดินหน้านโยบายประชารัฐ ด้วยจัดงานมหกรรมสินค้าเกษตรปลอดภัยภายใต้ระบบ GAP “ผักผลไม้ GAP ปลูกดี กินปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” ที่ เทสโก้ โลตัส ขึ้น เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบถึงระบบการตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP และตราสัญลักษณ์ Q รวมทั้งรณรงค์ให้ผู้บริโภครู้จักและเลือกบริโภคสินค้าที่ผ่านการรับรอง GAP โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ GAP Business Matching เป็นกิจกรรมที่เกษตรกรจะได้พบปะกับผู้บริหารของบริษัท เทสโก้ โลตัส เพื่อเจรจาธุรกิจการค้า และประสานความร่วมมือกับเกษตรกรในการผลิตผักและผลไม้ปลอดภัยได้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรในการยกระดับการผลิตสินค้าตามมาตรฐานหลักเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ของกรมวิชาการเกษตร และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ด้วย QR code ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นใจให้กับผู้บริโภค

นางสาวพรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์
นางสาวพรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์

นางสาวพรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์ รองประธานกรรมการฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้าบริษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า บริษัท เทสโก้ โลตัส ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อผลักดันเกษตรกรที่เทสโก้ โลตัส ทำงานด้วยอย่างใกล้ชิด พัฒนาการบริหารจัดการสวนและไร่ เพื่อขอรับรองมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งในปัจจุบันกว่าร้อยละ 35 ของเกษตรกรที่ร่วมงานกันได้รับการรับรอง GAP แล้ว และมีเป้าหมายผลักดันให้เกษตรกรทุกรายได้รับการรับรองในอนาคต

“ผลจากการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ GAP Business Matching ความต่อเนื่องที่เกิดขึ้นและยังสนองนโยบายประชารัฐอย่างเป็นรูปธรรมคือ สามารถเชื่อมโยงตลาดให้กับเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน GAP จังหวัดบุรีรัมย์ โดยเมื่อ 11 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ นางสาวนิลวรรณ ลีอังกูรเสถียร รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตพืช นางนุชนารถ ตั้งจิตสมคิด ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา และ นายสุกิจ รัตนศรีวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 4 ผู้อำนวยการ ศวพ.บุรีรัมย์ นักวิชาการจาก สวพ.4 ศวพ.บุรีรัมย์ และรองประธานกรรมการฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้า นางสาวพรเพ็ญ นาถพิริยพันธุ์ บริษัท เทสโก้ โลตัส ได้ลงพื้นที่เพื่อประเมินศักยภาพของเกษตรกรและเครือข่ายผู้ผลิตเมล่อน GAP อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์”

ผลผลิตเมล่อน GAP
ผลผลิตเมล่อน GAP

นางสาวพรเพ็ญ กล่าวอีกว่า สรุปผลการเจรจาสามารถบรรลุข้อตกลงเงื่อนไขในการผลิตเมล่อน GAP ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณตามความต้องการของบริษัท เทสโก้ โลตัส ซึ่งจะทำข้อตกลงทางธุรกิจต่อไป นี่คือก้าวแรกของความสำเร็จในการร่วมมือกันระหว่างกรมวิชาการเกษตร เทสโก้ โลตัส และเกษตรกร ในการผลักดันสินค้าเกษตรปลอดภัยภายใต้ระบบ GAP ให้ก้าวสู่ตลาดสากล เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของเกษตรกรไทย

 

“ในอนาคตทางบริษัท เทสโก้ โลตัส มีแผนการที่จะให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่หลักในการผลิตผักและผลไม้ปลอดภัยมาตรฐาน GAP สำหรับป้อนตลาดในภาคเหนือ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” นางสาวพรเพ็ญ กล่าวในที่สุด