“SMEs ไทย” รุกขายสินค้าเกษตรออนไลน์ “ไม่ง้อแหล่งเงินทุน”

มีโอกาสไปเดินชมงาน “สมาร์ท เอสเอ็มอี เอ็กซ์โป 2018” ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าแรงประชาสัมพันธ์ส่งผลให้คนแห่ชมงานอย่างล้นหลาม โดยมีบรรดาเอสเอ็มอีไทย (SMEs) ตบเท้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง โดยมีผู้สนับสนุนรายใหญ่ร่วมขบวนด้วย อาทิ ซีพี รีเทลลิงค์ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมาเปิดอบรมหลักสูตรกาแฟฟรี ทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เรียกว่า แม้แต่ผู้เขียนเองไปลงทะเบียนเรียน ก็ปรากฏว่าแพ้จำนวนประชาชนจากต่างจังหวัดที่เดินทางมารอคิวรับอบรมกันจนยาวเหยียด ทำให้พื้นที่อบรมแม้จะกว้างแค่ไหนก็ต้องจัดคิวใหม่เพื่อให้ทุกๆ ท่านที่มาไม่เสียเวลาและไม่เสียความตั้งใจนั่นเอง

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีผู้ประกอบการรายใหญ่ในแวดวงอาหารทะเล อย่างบริษัท ศิริคุณ ซีฟู้ดส์ จำกัด นำ “ปลาทู” ภายใต้แบรนด์ “เดลิช อินสไปเรอร์” (Delish inspirer) มาเปิดตัวในงานนี้เป็นครั้งแรก พร้อมกับให้โอกาสผู้สนใจเป็นตัวแทนจำหน่าย ด้วยเงินเริ่มต้นในการสมัคร 5,000 บาท รับปลาทูขั้นต่ำ 50 แพ็ก ไปจำหน่ายทันที ซึ่งก็เหมาะสำหรับไปขายในกลุ่มลูกค้าที่เป็นแม่บ้านที่ต้องการความสะดวกสบายในการประกอบอาหารและรับประทาน

ที่สำคัญยังได้ความรู้จาก คุณพรรัตน์ ศรีโสภา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เดลิช อินสไปเรอร์ จำกัด บริษัทในเครือศิริคุณฯ ว่าปลาทูที่ใช้รับประทานในไทยนั้นส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ปากีสถาน มาเลเซีย และอินเดีย ส่วนปลาทูที่ได้มาจากท้องทะเลไทยนั้นจะมีขนาดเล็ก

ส่วนอีกด้านหนึ่งของงานก็มีความน่าสนใจเพราะเอสเอ็มอีไทยหันมาเจาะตลาดออนไลน์มากขึ้นในปี 2561 โดยมีบริษัท ทรี-มินิทส์ ฟู้ดส์ มาพร้อมแบรนด์ใหม่คือ ไอเฟรช (i-Fresh) ภายใต้การดูแลของบริษัท ไอเฟรช โซลูชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจบริการจัดส่งวัตถุดิบทางการเกษตรครบวงจร ที่เริ่มเปิดตัวไม่นาน ในเดือนเมษายน ปี 2560 แต่ได้รับการตอบรับดีจากลูกค้าเกินเป้าที่บริษัทตั้งไว้ โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่เป็นร้านอาหาร 60% และกลุ่มโรงแรม 20% โดยเน้นพื้นที่การจัดส่งสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาทิ สมุทรปราการ ปทุมธานี และนนทบุรี

ธุรกิจจัดส่งสินค้าเกษตรของไอเฟรช นั้นจะแตกต่างจากเรื่องราวของสตาร์ทอัพที่ชื่อเฟรชเก็ต ซึ่งผู้เขียนเคยเขียนไปเมื่อเดือนกันยายนปี 2559 ในเทคโนโลยีชาวบ้าน เพราะ “เฟรชเก็ต” (Freshket) เน้นจัดส่งสินค้าเกษตรถึงมือผู้บริโภคทั้งรายใหญ่และรายย่อย โดย คุณพงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ มีการเปิดตัวและเดินในเส้นทางสตาร์ทอัพอย่างงดงามกับแพลตฟอร์ม “เฟรชเก็ต” จนเป็นหนึ่งในผู้คว้ารางวัลของโครงการ “ดีแทค แอคเซอเลอเรท บาธ 4” ซึ่งสนับสนุนเงินทุนโดยบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

ระยะเวลาผ่านไปไม่ถึง 2 ปี วันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมอาหารซึ่งมีผลประกอบการงดงามอยู่แล้วก็แตกไลน์ธุรกิจโดดลงมาเล่นในตลาดขายส่งสินค้าเกษตรออนไลน์เพิ่มอีกหนึ่งราย ก็นับว่าจะมีผลทำให้เกษตรกรไทยมีตลาดเพิ่มขึ้น ไม่ต้องรอพึ่งการขายหน้าร้านในตลาดสดอย่างเดียว เพราะทั้งเฟรชเก็ต และไอเฟรช นั้นทำหน้าที่เป็นผู้จ่ายตลาดให้กับผู้บริโภค โดยที่ลดขั้นตอนการจ่ายตลาดให้กับผู้บริโภคทั้งที่เป็นร้านอาหาร โรงแรม และผู้บริโภครายย่อยๆ ในครัวเรือน

คุณมโนรมย์ จันทร์ถา ผู้จัดการแบรนด์ไอเฟรช ธุรกิจในเครือบริษัท ทรี-มินิทส์ ฟู้ดส์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ความแตกต่างของไอเฟรช คือรับเฉพาะลูกค้าที่สั่งขั้นต่ำ 1,000 บาท เท่านั้น โดยไม่จำกัดปริมาณ ทำให้ไม่ไปทับกับธุรกิจของเฟรชเก็ตในตลาดออนไลน์ โดยที่ผ่านมาลูกค้าซื้อผ่านบริการของไอเฟรช ในปริมาณ 5-10 กิโลกรัม ต่อสินค้า 1 รายการ (หนึ่งรายการ = หนึ่งไอเท็ม) โดยปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มไอเฟรช 200-300 รายการ ต่อวัน

“ในราคา 1,000 บาท เมื่อนำไปซื้อผักที่มีราคากิโลกรัมละ 10  บาท จะได้ปริมาณถึง 100 กิโลกรัม โดยที่การบริการตรงนี้ ไอเฟรช ถือว่าเป็นความแตกต่างและจุดเด่นที่มีให้กับลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมีทีมงานทั้งหมด 20 กว่าคน แบ่งเป็นทีมแพ็ก, ทีมโอเปอเรชั่น, ทีมแอดมิน, ทีมจัดซื้อ และทีมจัดส่งสินค้า โดยการจัดทีมงานในรูปแบบนี้มีฐานจากบริษัทแม่ที่อยู่ในธุรกิจแคทเธอริ่ง, โลจิสติกส์ และไอที มาก่อนแล้ว รวมทั้งมีระบบการจัดการด้านการซื้อของ, แบ่งเมนู และทำคอร์ส นอกจากนี้ บริษัทได้มีการดีไซน์โปรแกรมเองและใช้เงินทุนของตัวเองทั้งหมด” คุณมโนรมย์ เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี

เพราะฉะนั้น ในแพลทฟอร์มของเฟรชเก็ตจึงเป็นสตาร์ทอัพเต็มตัว เพราะคิดไอเดียขึ้นมาและทำให้เป็นรูปธรรมเพื่อขายไอเดียให้กับเจ้าของเงินที่เรียกว่า แหล่งทุน หรือ วีซี (Venture Capital) ส่วนแพลทฟอร์มของไอเฟรช นั้นมาจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีเงินทุนและฐานลูกค้าในตลาดมาพอสมควรแล้ว จึงขยายบริการไปสู่ออนไลน์โดยไม่ต้องง้อแหล่งเงินทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ จึงรุกตลาดได้ทันที

ผู้เขียนเข้าไปสำรวจหน้าเว็บของ www.3minutesfood.com จากคำแนะนำของมโนรมย์ ก็พบว่า มีผู้เยี่ยมชมเพจเกือบ 400 ราย ต่อวัน ซึ่งคุณมโนรมย์บอกว่า ธุรกิจหลักของทรี-มินิทส์ ฟู้ดส์ นั้นรับจัดบุฟเฟ่ต์, จัดอาหารไทย, ข้าวกล่อง และโต๊ะจีน มีฐานลูกค้าทั่วประเทศ เฉลี่ย 30 ราย ต่อวัน โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มฐานลูกค้าให้ได้ 70 ราย ต่อวัน ซึ่งการขยายธุรกิจมารุกตลาดออนไลน์ทำให้ลูกค้าสะดวกสบายขึ้น เพราะจะได้รับการจัดส่งวัตถุดิบแบบเดลิเวอร์รี่

สำหรับใครที่สนใจไอเดียในธุรกิจอาหารแบบครบวงจร และเชื่อมโยงกับตลาดสินค้าเกษตรก็ลองแวะไปชมในเว็บไซต์ www.3minutesfood.com หรือ http://ifreshdelivery.com ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสดีของเกษตรกรในยุค 4.0 จะได้เติบโตไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่เสิร์ฟมือถือ พร้อมยอดขายจากตลาดออนไลน์โดยไม่ต้องรอให้ลูกค้ามาซื้อที่ไร่ หรือที่หน้าร้านในตลาดสดเท่านั้น เพราะวันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในธุรกิจอาหารเป็นหนึ่งช่องทางการตลาดที่ดีของเกษตรกรไทย ซึ่งในอนาคตทั้งคู่อาจจะได้ขยายตลาดร่วมกันในลักษณะหุ้นส่วนทางธุรกิจ หรือ พาร์ทเนอร์ (partner) ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำธุรกิจในยุคนี้

เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาที่โลกดิจิตอลกำลังขยายมาสู่ประเทศไทยในระดับ 4.0 จึงเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรไทยในการศึกษาตลาดและเปิดคู่ค้ากับผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรมอาหาร ก่อนที่ไทยจะก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5.0 ในปีต่อไป