ผู้เขียน | นวลศรี โชตินันทน์ : รายงาน |
---|---|
เผยแพร่ |
ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยไม่น้อยกว่าทุเรียน พื้นที่การปลูกลำไยส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ตาก กำแพงเพชร และภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี
เมื่อปี 2557 ปริมาณการส่งออกลำไย 357,206,508 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7,933.96 ล้านบาท และ 431,212,190 ตัน มูลค่า 9,752.71 ล้านบาท ในปี 2558 ประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ข้อตกลงภายใต้พิธีสาร
ลำไยเป็นพืชภายใต้พิธีสาร ว่าด้วยข้อกำหนดด้านการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับสินค้าผลไม้เมืองร้อนที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีข้อกำหนดการตรวจสอบรับรองปริมาณซัลเฟอร์ได ออกไซด์ในเนื้อลำไยสดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
จีนสั่งระงับการนำเข้าลำไยสดผู้ส่งออกไทย 11 ราย
คุณเกรียงไกร สุภโตษะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2556 ได้มีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (AQSIQ) ซึ่งมีหน้าที่สุ่มตรวจสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศทั่วโลก และสินค้าจากประเทศไทยนำเข้า 70 % ของสินค้านำเข้าจากทั่วโลก
จีนได้มีการแจ้งเตือนระงับการนำเข้าลำไยสดจากผู้ส่งออกของไทยจำนวน 11 ราย เนื่องจากตรวจพบสารซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ในลำไยสดเกินค่าที่กำหนด คือ 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และได้รับแจ้งข้อมูลจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า หากประเทศไทยไม่มีมาตรการควบคุมอาจส่งผลให้ AQSIQ ประกาศระงับการนำเข้าลำไยสดของไทยทั้งประเทศ
คุณเกรียงไกร กล่าวต่อไปว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากผู้ประกอบการต้องการให้ลำไยสดมีอายุการเก็บรักษายาวนานขึ้น และสีผิวของเปลือกลำไยจะเป็นสีเหลืองนวลเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค นอกจากนั้นการรมสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ยังยืดระยะเวลาการวางจำหน่ายซึ่งจะขนส่งไปยังเมืองต่าง ๆ ได้ด้วย ผู้ประกอบการโรงรมฯ จึงเพิ่มปริมาณกำมะถันที่ใช้ในการรมให้มากขึ้น (สารซัลเฟอร์ไดออกไซค์ มีสถานะเป็นก๊าซ ซึ่งเกิดจากการเผากำมะถัน) และสูงกว่าอัตราที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ ทำให้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างเกินค่าที่กำหนด ประกอบกับผู้ปฏิบัติงานขาดความรู้ความเข้าใจขั้นตอนในการรมและการคำนวณน้ำหนักกำมะถันที่ใช้ในการรมไม่ถูกต้อง ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพของลำไยด้วย
ประชุมหารือร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ประกอบการ
“กรมวิชาการเกษตรเชิญผู้ประกอบการส่งออกทั้งหมดมารับรู้ปัญหาร่วมกัน ระดมความคิดเห็นเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาและหาสาเหตุว่าการที่ถูกระงับการนำเข้านั้นปัญหามาจากอะไร หากยังแก้ปัญหาไม่ได้ เราก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากจีน”
ถ้าผู้ประกอบการส่งออกลำไยไม่ได้ ต้องมีผลกระทบไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกลำไยโดยเฉพาะลูกไร่ของเขา เพราะฉะนั้นกรมวิชาการเกษตรจะต้องช่วยเหลือโดยการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ให้ได้ ทำอย่างไรจะให้ผู้ส่งออกลำไยทั้ง 11 รายกลับมาส่งออกให้ได้อีกครั้ง พร้อมกันนั้นกรมวิชาการเกษตรจะต้องหาทางป้องกันมิให้มีรายอื่นเกิดขึ้นมาอีก
ปัญหาเกิดจากเกษตรกรน้อยมาก
คุณรุ่งทิวา รอดจันทร์ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้า กองพัฒนระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรมีความสำคัญตั้งแต่ต้นทาง คือ ต้องผลิตสินค้าออกมาให้มีคุณภาพ แปลงปลูกลำไยต้องมีการจัดการและได้รับการรับรองมาตรฐานตามระบบการปฏิบัติทางการเกษตรดีที่เหมาะสม (จีเอพี) ก็จะได้ลำไยที่มีคุณภาพผลผลิตออกมาตรงตามความต้องการของลูกค้า เช่น ผลผลิตลำไยต้องได้ขนาดตามที่ลูกค้าต้องการ รวมทั้งสีผิวเปลือกของลำไย ซึ่งทุกอย่างจะต้องมีคุณภาพมาตั้งแต่ต้นทาง คือ เกษตรกร ซึ่งเกษตรกรของเรามีความรู้ความชำนาญอยู่แล้ว เมื่อลำไยเข้าสู่โรงรมฯ ก็จะใช้ปริมาณกำมะถันได้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร คือเมื่อเผากำมมะถันให้ได้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าสู่ห้องรม ผลผลิตลำไยสดที่ผ่านการรมจะมีซัลเฟอร์ได้ออกไซด์ตกค้างในเนื้อ ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
ถึงอย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรก็ต้องคอยย้ำเตือนให้เกษตรกรรู้ว่า ลำไยที่เขาผลิตจะส่งไปประเทศไหน เขามีข้อกำหนดอย่างไร ซึ่งจะต้องมีการติดต่อสื่อสารกันระหว่างโรงรม โรงคัดบรรจุกับเกษตรกรที่เป็นลูกไร่ เพื่อเกษตรกรจะได้ผลิตสินค้าลำไยให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศปลายทางก็จะง่ายต่อการส่งสินค้าไปยังประเทศนั้น ๆ
พบปัญหาเกิดขึ้นที่โรงรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
คุณรุ่งทิวา บอกว่าในที่สุดเราก็พบที่มาของปัญหา คือ โรงรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เนื่องจากเจเหน้าที่ที่ทำหน้าที่รมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการรมและคำนวณน้ำหนักกำมะถันที่ใช้ในการรมไม่ถูกต้อง รวมถึงปัจจัยด้านคุณภาพของลำไยที่มีผลต่อการรม เราจึงต้องวางแผนการฝึกอบรมเทคนิคการรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของโรงรมฯ เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี 2557 มาจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญเราต้องเตือนให้เขาสำนึกตลอดเวลาว่า หากเราไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานและกฎระเบียบที่วางไว้ ปัญหาก็จะเกิดขึ้นอย่างที่ประสบมาแล้ว และจะพลอยมีผลกระทบไปยังสินค้าอื่น ๆ และประเทศอื่นอาจพลอยระงับการนำเข้าสินค้าจากไทยอีกด้วย
ทำไมต้องรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
คุณรุ่งทิวา อธิบายว่า เนื่องจากลำไยสด หลังจากเก็บเกี่ยวที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยของบ้านเราในฤดูกาลเก็บเกี่ยว จะมีอายุการวางจำหน่ายประมาณ 2-3 วันเท่านั้น เนื่องจากเชื้อราจะเข้าทำลายเมื่อเก็บไว้ที่อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์สูง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) จึงแนะนำให้ทำการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษา
การรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลำไยสด จะสามารถควบคุมการเน่าเสียของผลลำไยจากเชื้อจุลินทรีย์ได้นานถึง 6 สัปดาห์ ที่อุณหภูมิ 0 – 2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพอพียงกับระยะเวลาในการขนส่งสู่ตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ลำไยที่ผ่านการรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะมีสีผิวของเปลือกเป็นสีเหลืองทองดูสวยงามขึ้น เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
การส่งออกลำไยของไทยมีปริมาณมากขึ้น ขณะเดียวกันพื้นที่การปลูกลำไยก็เพิ่มขึ้นทุกปี ปริมาณความต้องการของลูกค้าที่นิยมบริโภคลำไยสูงขึ้นมาโดยตลอด ตลาดของลำไยได้ขยายออกไปยังประเทศใกล้เคียงในเอเซีย และขยายออกไปยังยุโรปและอเมริกา กล่าวได้ว่าลำไยเป็นสินค้าที่มีความนิยมเป็นที่สองรองจากทุเรียน
คุณรุ่งทิวา กล่าวต่อไปว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการตรวจสอบ ควบคุมการส่งออกให้เป็นไปที่พิธีสารกำหนด และได้มีการพัฒนาระบบควบคุม กำกับ ดูแลระบบการตรวจติดตามและการค้นหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขในกรณีที่ได้รับการแจ้งเตือนความปลอดภัยด้านอาหารจากประเทศคู่ค้า และนำมาใช้ในการควบคุมการส่งออกลำไยไปจีน เพื่อมั่นใจว่าลำไยสดจากไทยเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
จากการพัฒนาเทคนิคการตรวจประเมินให้กับผู้ตรวจประเมินให้มีความรู้ความสามารถและทักษะการตรวจประเมินให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันสอดคล้องกับมาตรฐาน รวมถึงการเพิ่มระดับการควบคุมติดตามและการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ปัจจุบันมีผู้ประกอบการฯ ได้รับการรับรองตาม มกษ.1004-2557 จำนวน 145 โรง จากการตรวจติดตามการค้นหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขโรงรมฯ ที่ได้รับการแจ้งเตือน จากการดำเนินการตามระบบควบคุมดังกล่าวไม่มีการแจ้งเตือนการตรวจพบปัญหาเพิ่มเติม และสามารถยื่นขอฟื้นฟูสิทธิการส่งออกให้กับผู้ส่งออกได้จำนวน 2 ราย ให้กลับมาส่งออกลำไยสดได้อีกครั้ง
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มพัฒนาระบบการตรวจสอบคุณภาพสินค้า กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 02-940-6340
นวลศรี โชตินันทน์ : รายงาน