ยางใต้ร้องบิ๊กตู่ยุติประมูลสต๊อกยาง 3.1 แสนตัน ตลาดยางหาดใหญ่คึกแต่ส่งขายน้อยจากฝนตก

เมื่อวันที่  23  ธันวาคม  นายสุนทร รักษ์รงค์  นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้  เปิดเผยที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่าขณะนี้มีกระแสการตื่นตัวจากราคายางพาราที่เพิ่มสูงขึ้น  ตั้งแต่วันที่  15  พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ราคา  58.15  บาท   ต่อมาเมื่อวันที่   16  ธันวาคม ขยับสูงขึ้น อีก 19.10  บาท  ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น  3 ราคาแตะ 80 บาท เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังเกิดวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ  สำหรับราคายางที่สูงขึ้นเป็นไปตามการคาดการณ์ของหลายฝ่าย  หลังจากต้นปีที 2559 มีปัญหาภัยแล้ง ส่งกระทบให้ผลผลิตยางของโลกลดลง  1 ล้านตัน

“ประกอบกับภาวะราคายางพาราตกต่ำในประเทศไทย ทำให้มีการโค่นต้นยางทิ้ง ลดพื้นที่การปลูก เจ้าของสวนยางแปลงใหญ่หยุดกรีดยางเพราะไม่คุ้มต้นทุน ทำให้ผลผลิตยางของไทยมีแนวโน้มลดลง  30-40 %  ล่าสุดชาวสวนยางภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อยลง   การแย่งซื้อยางของพ่อค้าก่อนปิดกรีดจึงมีผลทำให้ราคายางขยับสูงขึ้น รวมทั้งยังมีปัจจัยบวกภายนอกประเทศมาหนุนเสริม  เช่น ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น สต็อกยางที่จีนลดลง ราคายางกระดาษหรือตลาดล่วงหน้าที่ญี่ปุ่นสูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจของโลกเริ่มฟื้นตัว “ นายสุนทร กล่าว

นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้   กล่าวอีกว่า  สมาคมฯยังยืนยันตามมติเดิม ที่เคยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลประกาศ ทำสต็อกยาง  3.1 แสนล้านตันเป็น dead stock และให้รัฐบาลส่งมอบยางให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.)  เพื่อนำยางไปลาดถนน ซ่อมถนน เนื่องจาก อบจ.มีความพร้อม ทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร และงบประมาณ รวมทั้งให้ อบจ.รับยางไปเก็บ รับผิดชอบค่าเช่าโกดัง ทำให้ กยท.หยุดใช้เป็นข้ออ้าง หรือนำยางไปให้เอกชนแปรรูป เพื่อไปทำเป็นสนามฟุตซอล ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.)  ทั่วประเทศ  ยางในสต็อกก็ไม่เพียงพอ หรือนำยางไปแปรรูปเป็นล้อรถไถ หรือรถแทรกเตอร์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีไม่สูงในการผลิต และยางเสื่อมสภาพก็ใช้เป็นวัตถุดิบได้ ถือเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาล

นายสุนทร ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ออกประกาศเพื่อเปิดประมูลสต็อกยาง 3.1 แสนตัน เมื่อวันที่  16 ธันวาคม ที่ผ่านมาและเปิดรับสมัครผู้สนใจเมื่อวันที่  19  ธันวาคม ปรากฏว่า ทำให้ราคายางร่วงลงมา 3-4 บาท ในช่วงวันที่ 19 – 22  ธันวาคม โดยมีการคัดค้านจากเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ให้ยุติการประมูลยางในช่วงนี้ และมีข้อเสนอให้ระบายยางในสต็อกดังกล่าวในช่วงปิดกรีด คือระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน  2560

ขณะนี้มีความขัดแย้ง ระหว่างเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง กับ กยท. บางเครือข่ายประกาศจะฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองฉุกเฉินให้มีการยุติการประมูลยางในช่วงนี้ และมีการตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสในการบริหารงานของ  กยท. โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของผู้ว่า  กทย.ที่เกษตรกรชาวสวนยางเคลือบแคลงให้พฤติกรรมว่า ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือไม่

“ ขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางมีข้อความกังวล หลังจาก กยท.อ้างว่า ต้องระบายสต็อกยางในช่วงยางแพง เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเช่าโกดัง เดือนละ  28 ล้านบาท พร้อมชี้แจ้งว่า จะทยอยขาย ไม่ขายล๊อตใหญ่ ไม่ถล่มราคา และจะทำให้มีผลกระทบต่อราคายางและกลไกตลาดให้น้อยที่สุด แต่เครือข่ายเกษตรกรโต้แย้งว่า ทำไม กยท.ต้องออกมาประกาศในวันที่ราคายางสูงสุด เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม  และเหตุใด ไม่ขายหรือประมูลยางในช่วงปิดกรีด ซึ่งไม่มียาง จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีผลกระทบ หรือเดือดร้อนน้อยที่สุด” นายสุนทร กล่าว11111233

นอกจากนี้ ตัวแทนเกษตรกรยังเชื่อว่า กยท.ไม่กล้าขายยางในราคาถูก  เพราะสังคมจะจับตามองและตรวจสอบ หากขายยางในราคาถูกก็จะเข้าข่ายการดั้มราคายาง จนทำให้การประมูลยางในครั้งนี้ก็นำไปสู่ความล้มเหลวคือ จะไม่มีใครกล้าเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง นอกเสียจาก ว่าจะเกิดการทุจริต กรณีมียางเสื่อมคุณภาพอยู่ในล๊อตนั้นด้วย ซึ่งราคากลางจะถูกกำหนดจากราคายางถัวเฉลี่ยของตลาดกลางยางพาราทั้งประเทศ ในวันก่อนการประมูล แต่ราคานี้เป็นราคายางดี  100% ไม่ใช่ยางในสต็อก จึงไม่มีใครรู้สภาพและคุณภาพยางที่แท้จริง ว่ามียางผิดรูป ยางขึ้นรา ยางเสียและยางดีในจำนวนและสัดส่วนเท่าไร แต่ถ้าหากมีการประมูลสต๊อกยางยกโกดัง โดยไม่คัดคุณภาพ  ดูเหมือนจะยุติธรรม แต่ กยท.จะกล้าทำหรือไม่  เพราะวิธีนี้ราคายางประมูลจะต่ำกว่าราคายางในตลาด

11447

ด้านตัวแทนชาวสวนยาง รวมถึงตัวแทนสหกรณ์สวนยาง ยังคงนำยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน เข้าสู่ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ จังหวัดสงขลากันอย่างคึกคัก จากราคาที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยราคายางแผ่นดิบ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 50 บาทเศษ ก่อนหน้านี้เป็น  74-75 บาท ในขณะที่ราคา ยางแผ่นรมควันอยู่ที่กิโลกรัมละ  76.26 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ แม้ว่าในระยะนี้ราคาจะผันผวน ปรับขึ้นลงบ้าง และมีความเสี่ยงที่จะขาดทุน ในส่วนของยางแผ่นรมควัน แต่ก็จำเป็นต้องนำยางเข้าสู่ตลาด เนื่องจากหากมีการเก็บเอาไว้เก็งกำไร ก็จะประสบปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียน

นายถาวร วรรณะกูล ประธานสหกรณ์ชาวสวนยางควนเนียงใน จำกัด กล่าวว่า ในขณะนี้สหกรณ์ฯต้องแบกภาระความเสี่ยง จากปัญหาการขึ้นลงของราคา จะรอให้ราคาขึ้นอย่างเดียวแล้วค่อยนำยางออกมาจำหน่ายนั้น ทำไม่ได้เพราะจะทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียน เพราะจะรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ก่อนจะเข้าสู่กระบวนเพื่อทำยางแผ่นรมควัน ซึ่งจะต้องมีส่วนต่างราคาน้ำยางสด กับ ยางแผ่นรมควันอย่างน้อยกิโลกรัมละ 5 บาท จึงจะมีกำไร แต่ในระยะนี้ ราคาที่ผันผวน ทำให้มีความเสี่ยง จึงอยากให้รัฐบาลยื่นมือช่วยเหลือ ในเรื่องของการพยุงราคา หรือกำหนดราคาในการรับซื้อ  บรรเทาความเดือดร้อน แม้ในขณะนี้ราคายางจะสูง แต่สภาพอากาศที่มีฝนตก ทำให้เกษตรกรกรีดยางไม่ได้

14522236

ขณะที่ นายพิน รัตนมุนี เกษตรกรชาวสวนยางในอำเภอหาดใหญ่ ที่รับซื้อน้ำยางสดมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน บอกว่า ราคายางแผ่นรมควันที่ 76 บาทเศษ เป็นราคาที่ยังมีกำไร จากการลงทุนเพิ่มมูลค่าในการแปรรูปจากน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควัน แม้ราคาจะปรับขึ้นหรือลงก็ต้องนำยางเข้ามาสู่ตลาดตามวงรอบที่กำหนดอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ปริมาณยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน เข้าสู่ตลาดกลางยางพาราน้อยกว่าปกติ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน โดยในช่วงที่สภาพอากาศปกติ จะมียางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันเข้าสู่ตลาด ประมาณ 2 แสนกิโลกรัม แต่ในช่วงนี้ จะมียางเข้าสู่ตลาด 7 หมื่นถึง 1 แสนกิโลกรัม