พัทลุง ดัน “ผึ้งโพรงไทย” เป็นอุตสาหกรรมน้ำผึ้ง ไต้หวัน ต้องการมาก

“ผึ้งโพรงไทย” ปัจจุบัน จังหวัดพัทลุง ผลิตได้แค่ 4 ตัน ส่วนภาคเหนือผลิต “ผึ้งพันธุ์” ได้กว่า 2,000 ตัน ไม่พอ อนาคตสดใส ไม่ต้องวิตกดีมานด์ ซัพพลาย ชี้ ผึ้งโพรงไทย มีส่วนสำคัญ พืชผักผลไม้ขยายผลเติบโตขึ้น 90 เปอร์เซ็นต์ แถมเป็นพื้นที่ปลอดสารพิษ ระบุ “ผึ้งโพรงไทย” ทั้งประเทศ มีผู้ทำวิจัยเพียง 7 คน เห็นควรสนับสนุนอย่างจริงจัง เกษตรอำเภอตะโหมด จัด “ผึ้งโพรงไทย” รวมกลุ่มจัดการตนเอง สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

คุณปารีนา ภคุโล เกษตรอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลดูงานกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงไทย โครงการไทยนิยมยั่งยืน ตามโครงการเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกรรายย่อยภายใต้โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง

คุณปารีณา ภคุโล เกษตรอำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง บอกว่า ทางสำนักงานเกษตร ได้มีการเน้นให้กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งโพรงไทย รวมกลุ่มบริหารจัดการ สร้างกฎ กติกา พร้อมจดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผึ้งโพรงไทย โดย 1 หมู่บ้าน 1 วิสาหกิจชุมชนผึ้งโพรงไทย ทั้งนี้จะเกิดเครดิตความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค จะไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องน้ำผึ้งด้อยคุณภาพ หรือน้ำผึ้งปลอมปน และจะอำนวยความสะดวกต่อการจัดจำหน่าย โดยจะมีรายได้เสริมที่ดี

“สำหรับ ผึ้งโพรงไทย อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง จะเลี้ยงทั่วทั้งอำเภอ บางหมู่บ้านเลี้ยงขนาดแปลงใหญ่ 500 ลัง  บางหมู่บ้านบางรายขนาด 40-50 รัง”

พัทลุง เป็นเมืองสีเขียว เมืองเกษตรอินทรีย์ จึงเหมาะสมกับการเลี้ยงผึ้งโพรงไทย เพราะที่ผึ้งอาศัยอยู่จะปลอดสารเคมี และผลไม้จะดกงอกงาม ผึ้งโพรงไทยสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ได้อีกมากมาย จะลดรายจ่ายเพิ่มรายได้  เหมาะสมกับสถานการณ์ราคายางพาราที่ไม่เหมือนเดิม

“ทางด้านการตลาด ยังมีความต้องการมาก ราคาโดยเฉลี่ย ขวดละ 400-500 บาท”

คุณกฤษฎา ลำปัง ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงไทย โครงการไทยนิยม หมู่ที่ 3 ตำบลแม่ขรี อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง บอกว่า ในกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง จำนวน 26 ครัวเรือน จำนวน 66 ลัง โดยในรุ่นมีหลายกลุ่ม ประมาณ 250 รัง สำหรับการเลี้ยงผึ้งโพรงได้ขยายตัวอย่างกว้างขวางขึ้นมาก จนได้น้ำผึ้งโพรงไทยมากแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

คุณวีระพล ห้วนแจ่ม ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรงปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง อดีตผู้ช่วยนักวิจัยมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้บอกอีกว่า จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่เหมาะสมกับการเลี้ยงผึ้งโพรงไทย เพราะมีป่าที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ป่ายางพารา เกือบ 800,000 ไร่ ป่าเสม็ดกว่า 6,000 ไร่ สวนกาแฟ สวนผลไม้ เงาะ ลองกอง ทุเรียน ไม้ป่า ล้วนเป็นแหล่งอาหารของผึ้ง

พัทลุง มีรังผึ้งโพรงไทยกว่า 8,000 รัง แต่ที่ให้ผลผลิตประมาณ 2,000 รัง โดยแต่ละรังจะให้ผลผลิตประมาณ 2 กิโลกรัม หรือ 2 ขวด รวมประมาณ 4,000 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยที่ 400 บาท/กิโลกรัม สำหรับราคาหน้ารัง

ส่วนค้าปลีก ค้าส่ง อีกราคาหนึ่ง โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย ราคา 800 บาท ภาพรวมมูลค่าประมาณ กว่า 1.6 ล้านบาท จากการขายน้ำผึ้ง ยังไม่รวมถึงน้ำผึ้งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกมากมาย

การเลี้ยงผึ้งโพรง ให้เป็นอุตสาหกรรมได้ จะต้องเลี้ยงประมาณ 1,000 รัง และมีเครือข่ายที่สามารถสต๊อกเก็บน้ำผึ้งป้อนตลาดได้อย่างเสถียร โดยเฉพาะจะต้องหาน้ำผึ้งให้ได้ ประมาณ 10 ตัน/ปี จึงเป็นอุตสาหกรรมน้ำผึ้งโพรงไทยได้

“ผู้ประกอบการน้ำผึ้ง จากประเทศไต้หวันต้องการมาก โดยเดือนละ 500 กิโลกรัม ประมาณ 6,000 กิโลกรัม/ปี หรือ 6  ตัน ก็ไม่สามารถดำเนินการส่งมอบได้ และยังมีออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถส่งมอบให้ได้”

การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย นอกจากน้ำผึ้งแล้ว ยังมีอีก 4 รายการ ที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก คือ รังผึ้ง ไขผึ้ง ผึ้งผสมเกสรพืชผักผลไม้ และพื้นที่กลับเป็นแหล่งปลอดสารพิษ โดยเฉพาะผึ้งผสมเกสรพืชผักผลไม้ จะทำให้ผลผลิตขยายตัวเติบโตขึ้นถึง 90 เปอร์เซ็นต์ จนมีการเช่ารังผึ้งไปตั้งในสวนผลไม้ เช่น เงาะ ทุเรียน ลำไย วันละ 30 บาท/รัง

ส่วนการเลี้ยงผึ้งพันธุ์นั้น โดยจังหวัดทางภาคเหนือสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 2.4 ล้านกิโลกรัม หรือ 2,400 ตัน  ราคาขาย ไม่เกิน 150 บาท/กิโลกรัม สำหรับหน้ารัง และบรรจุภัณฑ์ ราคาประมาณ 350 บาท/กิโลกรัม โดยมีต้นทุนการผลิตประมาณ 200,000 บาท จะขายได้ประมาณ 800,000-1.2 ล้านบาท และน้ำผึ้งพันธุ์ ปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ดังนั้น ทิศทางการเลี้ยงยังดีมาก และโดยเฉพาะการเลี้ยงผึ้งโพรงไทย สำหรับจังหวัดพัทลุง ให้ได้อย่างเหมาะสมประมาณ 5,000 รัง เฉลี่ย 10,000 กิโลกรัม หรือประมาณ 10 ตัน ในเบื้องต้น

“อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาหาร เครื่องสำอาง ฯลฯ มีความต้องการสูงมาก โดยการตลาดจึงไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องดีมานด์ ซัพพลาย แต่เรื่องน่าหวั่นวิตกคือ คุณภาพ”

คุณวีระพล ห้วนแจ่ม บอกอีกว่า ปัจจุบัน ทั่วประเทศผึ้งโพรงไทย มีคณะผู้ทำการวิจัยอยู่ประมาณ 7 คน จึงเห็นควรสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง