ทิศทางอนาคตข้าวไทย หลังคว้าแชมป์ World’s Best Rice 2016

ดร.ภูมิศักดิ์  ราศรี  ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)  และ ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU – OAE Foresight Center : KOFC)  ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ข้าวไทย ซึ่งจากการประกวด World’s Best Rice 2016 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 จัดโดย The Rice Trader ข้าวหอมไทยครองแชมป์ชนะเลิศอันดับ 1

สำหรับการประกวดดังกล่าว มีข้าวจากหลากหลายประเทศส่งเข้าประกวดมากกว่า 50 ตัวอย่าง โดยการให้คะแนนจะพิจารณาจากความสวยและความสะอาดจากตัวอย่างข้าวที่ยังไม่ได้หุง ร่วมกับการพิจารณาจากข้าวที่หุงแล้วในด้านกลิ่น รสชาติ ความเหนียวนุ่ม และรูปร่างลักษณะ ว่าอยู่ในระดับใดแล้วคิดเป็นคะแนนเฉลี่ย โดยใช้วิธีตัดสินแบบการทดสอบด้วย Blind testing (คือไม่ให้กรรมการทราบว่าเป็นข้าวของประเทศใด) และจากการประกวดที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าข้าวหอมไทย มีคู่แข่งมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมจากประเทศพม่า กัมพูชา และสหรัฐอเมริกา  ซึ่งเคยได้รับรางวัลชนะเลิศเช่นเดียวกัน

ดังนั้น การประกวดล่าสุดตัวแทนประเทศไทยที่ส่งข้าวหอมเข้าประกวดจึงต้องมีการปรับปรุง พัฒนา และเตรียมความพร้อมมากขึ้น โดยมีการพัฒนาคุณภาพข้าว สร้างไซโลเพื่อเก็บรักษาคุณภาพข้าว ความหอม และคัดเลือกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีจากแหล่งปลูกที่มีคุณภาพสูง เช่น ทุ่งกุลาร้องไห้ ทำให้ข้าวหอมมะลิไทยสามารถเอาชนะคู่แข่งและได้รับรางวัลชนะเลิศอีกครั้งหนึ่ง

ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิ อันดับ 1 ของโลกมาตลอด แต่ในระยะ 5 ปี มานี้ ข้าวหอมมะลิไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับข้าวหอมที่หลายประเทศส่งเข้ามาแข่งขัน ทำให้ข้าวหอมในตลาดโลกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ ข้าวบาสมาติ (Basmati rice) ซึ่งมีประเทศอินเดีย และปากีสถาน เป็นผู้ผลิตหลัก เป็นที่นิยมบริโภคอย่างมากในตลาดแถบเอเชียใต้และตะวันออกกลาง ส่วนข้าวหอมอีกกลุ่มหนึ่งถูกเรียกว่า ข้าวหอมมะลิ (Jasmine rice) มีแหล่งสำคัญเพาะปลูกอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยปัจจุบัน มีประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญคือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา

สถานการณ์ส่งออกข้าวหอมมะลิไทย เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 1.4 ล้านตัน โดยในปี 2559 (มกราคม – ตุลาคม)  ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิปริมาณ 1.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีปริมาณส่งออก 1.57 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 16% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และแคนาดา ซึ่งไทยยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดข้าวเป็นอันดับหนึ่งในหลายประเทศ

นอกจากข้าวหอมมะลิ ประเทศไทยยังได้ปรับปรุงมาตรฐานข้าวไทยใหม่ให้เหมาะสม สอดคล้องกับผู้บริโภค  ในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพและส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดส่งออก โดยแยกเป็นมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมทั่วไป ประกอบด้วย ข้าวหอมจังหวัดและข้าวหอมปทุม ซึ่งในปี 2559 (มกราคม – ตุลาคม) พบว่า สัดส่วนการส่งออกข้าวเจ้าอื่นมีสัดส่วนมากที่สุด คือ 42% รองลงมาเป็นข้าวเจ้าขาว 5% ข้าวหอมมะลิ ข้าวเจ้าขาว 100% และข้าวหอมปทุม

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนาคุณภาพข้าวหอม โดยได้มีการวิเคราะห์ วิจัย เพื่อการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในช่วงปีงบประมาณ  2555 – 2557 กลุ่มศูนย์วิจัยข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองวิจัยและพัฒนาข้าว ได้ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพข้าวหอมมะลิ โดยสำรวจคุณภาพข้าวหอมมะลิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่แหล่งเมล็ดพันธุ์ แหล่งเพาะปลูก แหล่งแปรสภาพหรือโรงสี จนถึงปลายทาง คือ ผู้ส่งออก พบว่า

ตัวอย่างทั้งหมด มีคุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของข้าวหอมมะลิไทย สรุปได้ว่า ข้าวหอมมะลิยังมีความหอม แต่หอมมากน้อยแตกต่างกันตามปริมาณสารหอม 2AP ซึ่งแตกต่างกันตามแหล่งผลิต พื้นที่ปลูก วิธีการจัดการ และสภาพแวดล้อม ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าว ได้มีการนำไปใช้ในโครงการพัฒนาต้นแบบการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีการจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพความหอมตลอดห่วงโซ่การผลิต ที่ได้รับการสนับสนุนงบวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) นอกจากนี้ กองวิจัยและพัฒนาข้าว มีนโยบายในการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพื่อสร้างความมั่นคงในระบบการผลิต (มิใช่การแข่งขันกับสินค้าข้าวหอมมะลิ) โดยมีประเด็นการวิจัยหลัก คือ

  1. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมให้มีผลผลิตสูง ไม่ไวต่อช่วงแสง มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด มีคุณค่าทางโภชนาการ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ พัฒนาเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารที่สามารถเพิ่มผลผลิตและรักษาคุณภาพผลผลิต ประหยัดแรงงาน รวมทั้งการจัดการศัตรูพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  2. การรักษาเสถียรภาพผลผลิต โดยพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมให้มีความหลากหลาย ปรับตัวได้ดี หรือปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ภาวะแล้ง น้ำท่วม ดินเค็ม พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ พัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อคงคุณภาพความหอม
  3. การพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมที่มีปริมาณอมิโลสต่ำถึงปานกลาง ที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดี พัฒนาระบบการผลิตที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
  4. การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์จากข้าวและผลพลอยได้จากข้าว ทั้งผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากข้าวที่ใช้บริโภคเป็นอาหารหรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากข้าวเจ้าหอมมะลิ  ยังมีข้าวเหนียวหอม / ข้าวเจ้าหอมอื่น ๆ ที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีเกิดวิกฤตการณ์ เช่น การระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารอีกทางหนึ่ง รวมทั้งกรมการข้าวยังได้พัฒนาพันธุ์ข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ (niche market) อีกด้วย โดยตัวอย่างพันธุ์ข้าวดังกล่าว ได้แก่

                ประเภทข้าวหอม

  1. ข้าวเหนียว พันธุ์ กข22 คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและการสีดี คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีกลิ่นหอม ต้านทานโรคไหม้ในระยะกล้าในหลายท้องที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้านทานต่อแมลงบั่วในหลายท้องที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนบน
  2. ข้าวเจ้า พันธุ์ กข33 (หอมอุบล 80) ต้านทานโรคไหม้โดยเฉพาะเชื้อราสาเหตุโรคไหม้ (Pyricularia oryzae Sacc.) ที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ คุณสมบัติทางเคมี และคุณภาพการหุงต้มและรับประทาน ใกล้เคียงกับพันธุ์ดอกมะลิ 105

ข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ

  1. ข้าวเจ้า พันธุ์ กข69 (ทับทิมชุมแพ) เป็นข้าวเจ้าเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ไม่ไวต่อช่วงแสงทรงต้นเตี้ย ผลผลิตสูง คุณภาพเมล็ด และคุณภาพการหุงต้มรับประทานดี ข้าวกล้องหุงสุกนุ่ม และมีรสชาติดี มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระฟีโนลิกและฟลาโวนอยด์สูง และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง
  2. ข้าวเจ้า พันธุ์ สังข์หยดพัทลุง มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ข้าวกล้องเมื่อหุงสุก นุ่มเล็กน้อย ส่วนข้าวซ้อมมือเมื่อหุงสุกนุ่ม ข้าวกล้องมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จากตัวอย่างข้าวกล้อง 100 กรัม มีปริมาณไนอาซิน (Niacin) 6.46 มิลลิกรัม ใยอาหาร 4.81 กรัม และธาตุเหล็ก 0.52 มิลลิกรัม
  3. ข้าวเหนียวลืมผัว (Leum Pua) ข้าวกล้องเมื่อหุงสุก มีกลิ่นหอม ลักษณะสัมผัสแรกเคี้ยวจะกรุบ หนึบ ภายในนุ่มเหนียว คุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระรวม สารเหล่านี้ ได้แก่ แอนโทไซยานิน และแกมมา โอไรซานอล กรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น โอเมกา 3 โอเมกา 6 และโอเมกา 9 วิตามิน เช่น วิตามิน อี ธาตุอาหาร เช่น เหล็ก แคลเซียม แมกกานีส

 

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

มาตรการในระยะสั้น

  1. รักษาตลาดการส่งออกข้าวในกลุ่มตลาดเดิมไว้ ร่วมกับการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การได้มาซึ่ง World’s Best Rice ของข้าวหอมมะลิ รวมถึงผลการวิจัยการพัฒนาข้าวหอมพันธุ์ใหม่ให้รู้จักแพร่หลายออกไปมากขึ้น
  2. การรักษาเกณฑ์คุณภาพข้าวหอมทั้ง 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านกลิ่น รสชาติ ความเหนียวนุ่ม และ รูปร่างลักษณะ เอาไว้ร่วมกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพข้าว ในด้านการปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมตามความต้องการของตลาด
  3. ขยายช่องทางการตลาดในตลาดใหม่ ๆ เช่น ตลาดเม็กซิโก ที่เป็นโอกาสของไทยอันเนื่องมาจากตลาดเม็กซิโก เป็นตลาดเดิมของสหรัฐฯ แต่มีข้อจำกัดในนโยบายตามข้อตกลงการค้าเสรี NAFTA

       มาตรการในระยะยาว

มาตรการระยะยาวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตข้าวไทย ให้ดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการตลาดข้าวในเรื่องแผนการพัฒนาข้าวที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพ การสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว การส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้าให้ได้มาตรฐานสากล การพัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าวและการตลาด การสร้างค่านิยมการบริโภคข้าว การส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและการแปรรูปข้าว และการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน