ราคาที่ต้องจ่าย! สภาพสุดเสื่อมโทรมแลกกับอุตสาหกรรม”ฟาร์มนม”มูลค่า 4 หมื่นล.ดอลล์ของจีน

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานสภาพปัญหาในพื้นที่เมือง Gannan ในจีน ซึ่งเมืองนี้มีกองสิ่งปฏิกูลมหึมาจากวัวหลายพันตัว ซึ่งสื่อรายงานว่าเป็นผลพวงหนึ่งของราคาที่ต้องจ่ายของอุตสาหกรรมผลิตนมวัวของจีนวันนี้

ฟาร์มโคนมขนาดใหญ่กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมของอาเซียนกับการป้อนผู้บริโภค1.4พันล้านคนซึ่งในยุคเศรษฐกิจเติบโต และรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนการแปรรูปผลผลิตจากนมวัวเป็นรายได้ ซึ่งประเมินกันว่ามูลค่าอุตสาหกรรมนี้มูลค่ามากถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเติบโตจากอุตสาหกรรมขนาดเล็กไปสู่การขยายฟาร์มขนาดใหญ่ ที่มีการเลี้ยงโคนมต่อฟาร์มมากถึง 10,000 ตัว และแน่นอนว่าปริมาณของเสียที่ถูกปล่อยออกมาก็มากตามไปด้วย

ทั้งนี้ มีรายงานว่า พื้นที่ปศุสัตว์บริเวณเมือง Gannan มีกลิ่นมูลสัตว์รุนแรงมากในช่วงฤดูร้อน รวมทั้งผนังอิฐที่ล้อมรอบบริเวณฟาร์มไว้ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีของเหลวลักษณะสีเขียวไหลออกมาจากใต้ผนังอิฐ

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าบรรดายาและเข็มฉีดยาที่ตกเกลื่อนอยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งผู้คนบริเวณนั้น ระบุว่าขยะที่เหลือหลังจากการฉีดยาให้วัวจะถูกนำมาทิ้ง ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คน รวมทั้งซากกองมูลสัตว์ที่กองสูงเป็นเนินด้วย ซึ่งผู้คนได้รับผลกระทบทั้งกลิ่นและเสียง

ย้อนไปดูความเป็นมาของอุตสาหกรรมนมของจีนนั้นมีอัตราเฉลี่ยเติบโตมากกว่า12เปอร์เซ็นต์ต่อปีนับตั้งแต่ปีค.ศ.2000 เป็นต้นมา สืบเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่นิยมบริโภคนมมากขึ้นเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นไปตามหนึ่งในนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งนายกฯขณะนั้น นายเหวิน เจียเป่า ได้มุ่งหวังให้เด็กจีนต้องได้บริโภคนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมอย่างน้อย ครึ่งกิโลกรัมต่อวัน

ต่อมาจากมีข่าวอื้อฉาวเมื่อปี 2008 ที่นมผงให้ทารกของจีนถูกรายงานว่าปนเปื้อนสารเมลามีน ซึ่งเป็นสารเคมีในอุตสาหกรรม โดยมีรายงานเวลานั้นว่ามีเด็กเสียชีวิต 6 ราย และได้รับผลกระทบอีกราว 3 แสนราย ซึ่งนั่นก็เป็นสถานการณ์ที่กระเทือนต่อความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมผลิตนมของประเทศจีนอยู่ระยะหนึ่ง โดยวิกฤติครั้งนั้นถูกกล่าวหาว่ากลุ่มฟาร์มขนาดเล็กใช้สารเคมีเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณโปรตีน ตอบสนองตลาดที่มีความต้องการบริโภคสูง

จากกรณีดังกล่าวรัฐบาลจีนได้ปรับตัวด้วยการให้มีการสร้างฟาร์มผลิตนมขนาดใหญ่เพื่อใช้กฎเกณฑ์ควบคุมมาตรฐานการผลิตและการตรวจสอบได้ง่ายขึ้นกว่าฟาร์มขนาดเล็กที่กระจัดกระจายไป

ในต่างประเทศมีฟาร์มนมขนาดใหญ่ อาทิ นิวซีแลนด์ แต่ฟาร์มใหญ่ๆก็ไม่ได้มีวัวมากขนาดหลักหมื่น กระทั่งปี 2014 จีนได้ขยายการสร้างฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีวัวแห่งละ 10,000 ตัว ถึง 56 ฟาร์ม ซึ่งรายงานตามสื่อของรัฐระบุว่า ถือเป็นอัตราส่วนฟาร์มนมขนาดใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ของโลก และแน่นอนว่าฟาร์มขนาดใหญ่ได้สร้างมลภาวะให้ในหลายเมือง

ประชาชนที่ได้รับผลกระทบส่วนหน่ึงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจีนเรียนรู้ที่จะสร้างฟาร์มเลี้ยงโคนมขนาดใหญ่แต่ขาดประสบการณ์ในการรับมือกับผลกระทบที่ตามมา

ประชาชาติฯออนไลน์แปลและเรียบเรียง