ผู้เขียน | วิลาสินี แอล โฟลเดอร์นาว |
---|---|
เผยแพร่ |
ศรีลังกานั้นอุดม เพราะเป็นเมืองเกาะ น้ำท่าบริบูรณ์ อากาศร้อนชื้นเหมือนเมืองไทย ผักปลาอาหารจึงไม่ต่างกัน คนศรีลังกากินข้าวเหมือนไทย แต่ศรีลังกายังกินแผ่นแป้งแบบโรตี และกินอาหารเส้นอย่างก๋วยเตี๋ยวด้วยนะ
สิ่งที่ขึ้นชื่อที่สุดของศรีลังกาคือ ชา ปลูกทางตอนบนของประเทศที่มีอากาศเย็นและเป็นเขาสูง โลกรู้จักชาศรีลังกาว่า ชาซีลอน หรือ Ceylon Tea ซีลอนนี่เป็นชื่อเดิมของศรีลังกา ใช้ตอนยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นชื่อที่อังกฤษเรียกเกาะแห่งนี้ จนเมื่อเขาได้รับอิสรภาพแล้วเขาก็เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นภาษาถิ่นตนเอง
ที่ว่าภาษาถิ่นนี่ เขาจะมีสองภาษา คือภาษาทมิฬ กับภาษาสิงหล ใครเชื้อสายไหนก็พูดภาษานั้น ทั้งสองภาษาเป็นภาษาราชการ
ชื่อเมืองในศรีลังกาทุกวันนี้ใช้ภาษาถิ่นเกือบทั้งหมด อย่างเมืองรัตนปุระ เมืองกตรคาม เมืองศรีชยวรรธนปุระโกฏเฏ ซึ่งเป็นเมืองหลวง มีโคลัมโบเมืองเดียวที่ยังมีชื่อฝรั่ง เพราะสมัยอังกฤษปกครองเขาตั้งหลักอยู่ที่โคลัมโบนี่แหละเป็นเมืองหลัก ทุกวันนี้โคลัมโบเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและเมืองใหญ่ที่สุด ส่วนเมืองหลวงนั่นไม่ค่อยมีใครรู้จัก เขาใช้เป็นศูนย์ราชการ
ในที่นี้เราจะข้ามเรื่องชาไป เพราะชาส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปขายอังกฤษและทั่วโลก คนศรีลังกาไม่ได้ติดนิสัยกินชาตอนบ่ายมาจากเจ้าอาณานิคมเหมือนพม่า เขาไม่ค่อยกินชา
อาหารหลักของเขาคือ แกง และประสาเมืองเกาะ แกงหลักของเขาก็คือ แกงปลา ทำเป็นแกงส้มแบบขลุกขลิก ราดข้าวแล้วเอามือเปิบกิน รสเปรี้ยวของแกงไม่ได้มาจากมะนาว แต่มาจากส้มแขก หรือไม่ก็มะขาม จากนั้นใส่ผักผลไม้ที่มีมาก มะพร้าวก็เป็นเครื่องปรุงหลัก เพราะเป็นผลไม้ที่ปลูกมากพอๆ กับกล้วย เนื่องจากภูมิอากาศแบบเกาะในมหาสมุทรอินเดียนั้นเอื้อให้กับผลไม้สองประเภทนี้อย่างเต็มที่
รสชาติอาหารศรีลังกาเหมือนอาหารอินเดียตอนใต้ บางส่วนเหมือนอาหารอินโดนีเซีย แต่น่าจะหลากหลายน้อยกว่า
ผักที่เขากินกันเป็นประจำ ไม่ต่างจากเมืองไทย ต้นหอม หอมแดง กระเทียม หัวปลี ขนุนดิบ ถั่ว มะเขือ ฟักทอง มะระขี้นก กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว มะเขือยาว แตง ข้าวโพด พวกนี้เขาใช้มากในแกงเกือบทุกอย่าง ขมิ้น พริกไทยนี่ก็ใช้หนัก เพราะอาหารเขาออกรสเผ็ดร้อนของเครื่องเทศ รากบัว พริกชี้ฟ้า เขาก็กิน แต่ไม่เห็นพริกขี้หนูนะ
ผักอีกอย่างที่ศรีลังกากินกันมากคือ ใบบัวบก เขาเอามายำใส่หอม พริก และส้มแขก กินแบบยำที่เมืองไทย
ส่วนผลไม้ที่เขากินกันจัง นอกจากมะพร้าว กล้วย สับปะรด ที่ปลูกได้ทั่วประเทศแล้ว ที่แปลกตาไปบ้างคือ มะขวิด มีทั้งแบบกินสุก หรือปั่นเป็นน้ำผลไม้ รสอมเปรี้ยว มะขวิดนี่มีขายทุกตลาด คนชอบกินกันจัง
อีกส่วนผสมสำคัญของอาหารเขาคือ มะพร้าวคั่ว หรือผงมะพร้าวตากแห้งแล้วคั่ว ใส่ลงไปในแกง เอาคลุกข้าวกิน หรือใส่ขนม เรียกว่าอาหารแทบทุกขนานขาดมะพร้าวไม่ได้
ศรีลังกาส่งกล้วยไปขายถึงอังกฤษ และภูมิใจว่าประเทศตนเองเป็นแหล่งผลิตกล้วยที่มีความหลากหลายมาก เพราะในขณะที่ประเทศผลิตกล้วยอื่นๆ อย่าง เม็กซิโก หรือฟิลิปปินส์ เน้นปลูกกล้วยหอมสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ศรีลังกาปลูกกล้วยเกือบ 30 สายพันธุ์ มีทั้งกล้วยที่ใช้กินแบบผลไม้ แบบทำขนม ไปจนถึงใส่ลงไปในแกงส้ม
ศรีลังกาส่งออกกล้วยปีละเกือบสองพันตัน ไปยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น เกือบครึ่งหนึ่งของกล้วยศรีลังกามาจากเมือง Kurunegala, Ratnapura และ Moneragala ผลผลิตเริ่มลดลงในระยะสิบปีที่ผ่านมา เพราะเกษตรกรหันไปปลูกข้าวเนื่องจากต้นทุนปุ๋ยข้าวถูกกว่า
สับปะรดนั้น ปลูกกันมากแถบเมือง Gampaha และ Kurunegala เฉพาะสองเมืองนี้ผลผลิตมีสัดส่วนกว่า 70% ของผลผลิตทั้งหมด สับปะรดนี่ถ้าแบบยังไม่สุกส่งไปดูไบ แบบสุกส่งไปยุโรป
ในตลาดเราจะเห็นพ่อค้าเอากล้วย มะพร้าว และสับปะรด ที่เกรดไม่งามพอที่จะส่งออกมาวางขาย รูปร่างก็ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่อะไร และราคาถูก ถึงกระนั้นก็มีคนซื้อไม่มาก เพราะศรีลังกามีกล้วยและมะพร้าวดกดื่น หาง่ายไม่ต้องซื้อ
นอกเสียจากว่าในเมืองใหญ่อย่างโคลัมโบ เมืองหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ดินหายากและแพง เราจึงจะพบว่ามีคนซื้อกล้วย สับปะรด และมะพร้าวไป